ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
ปรีดี แปลก อดุล
: คุณธรรมน้ำมิตร (58)
เมื่อสามารถครองความได้เปรียบอย่างเด็ดขาดต่อญี่ปุ่นแล้ว นอกจากคำขาดที่ยื่นต่อญี่ปุ่น ที่ประชุมฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้หารือเรื่องปฏิบัติการยึดคืนดินแดนส่วนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงหมู่เกาะในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นด้วย
เดิมคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐเห็นว่าในอินโดจีนนั้น กองทัพอังกฤษจะทำหน้าที่ยึดคืนพื้นที่และส่งมอบให้แก่กองทัพฝรั่งเศสต่อไป แต่มีการปรับแผนให้กองทัพอังกฤษปฏิบัติหน้าที่ยึดคืนพื้นที่ใต้เส้นขนานที่ 15 ส่วนเหนือเส้นขนานที่ 15 ให้เป็นหน้าที่ของกองทัพจีนคณะชาติ และต่อมาอังกฤษเรียกร้องให้ใช้เส้นขนานที่ 16 ซึ่งประกอบด้วยส่วนล่างของเขตอันนัม เขตโคชินไชน่ารวมไปถึงลาวและกัมพูชาเป็นหน้าที่ของกองทัพอังกฤษ ซึ่งทรูแมนเห็นด้วย
แผนปฏิบัติการใหม่นี้สะท้อนนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่ออินโดจีนที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องปฏิบัติการทางการทหาร
ประธานาธิบดีโรสเวลต์เคยกำหนดว่าสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่สามารถเปิดปฏิบัติการทางการทหารต่ออินโดจีนได้เพื่อขจัดอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ฝรั่งเศส
ขณะที่ทรูแมนเห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องต่อต้านระบอบอาณานิคมแล้วและไม่ต้องการขัดแย้งกับพันธมิตรตะวันตกเพื่อรวมกำลังเตรียมรับมือในสงครามเย็นที่กำลังจะมาถึง จึงเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงแผนปฏิบัติการทางการทหารต่ออินโดจีน
หลังพิธียอมจำนนอย่างเป็นทางการของกองทัพญี่ปุ่นในกรุงฮานอยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1945 ในวันต่อมาหน่วยโอเอสเอสก็ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวออกจากฮานอย ทำให้ พ.ต.แพทติ ผู้บังคับหน่วยโอเอสเอสรู้ว่าสหรัฐอเมริกาคงไม่สนับสนุนขบวนการเวียดมินห์อีกไป และได้แจ้งให้โฮจิมิน์ทราบว่าจากนี้ไปไม่ควรคาดหวังความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกามากนัก
สงครามใต้เส้นขนานที่ 16
ในกรุงไซ่ง่อนนั้น ฝ่ายเวียดมินห์ได้จัดตั้ง “คณะกรรมาธิการบริหารงานเฉพาะกาล” ขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.1945 ฝรั่งเศสพยายามขอเข้าพบเพื่อเจรจาเรื่องการฟื้นฟูระบอบอาณานิคมขึ้นใหม่ แต่เวียดมินห์ยืนยันว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฝรั่งเศสยอมรับเอกราชของเวียดนามเสียก่อน
แม้จะมีการหารือกันอีกหลายครั้ง แต่เวียดมินห์ยังคงยืนกรานหลักการเดิมซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ฝรั่งเศสอย่างมากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เนื่องจากทั้งกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสยังเดินทางมาไม่ถึง
เมื่อข่าวการพบปะระหว่างขบวนการเวียดมินห์กับฝรั่งเศสเป็นที่รับรู้ก็สร้างความไม่พอใจในกลุ่มการเมืองต่างๆ และมวลชน ตามมาด้วยการประท้วงใหญ่ในกรุงไซ่ง่อน ซึ่งเวียดมินห์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ แม้จะมีการประกาศเอกราชโดยโฮจิมินห์ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 ที่กรุงฮานอยแล้ว แต่การชุมนุมประท้วงก็ไม่ได้ยุติลงและขยายวงกว้าง ทั้งรุนแรงมากขึ้น
กองทัพอังกฤษเดินทางมาถึงกรุงไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1945 เพื่อปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นในเวียดนาม ใต้เส้นขนานที่ 16 แต่กองทัพอังกฤษไม่เพียงจะปลดอาวุธฝ่ายญี่ปุ่นเท่านั้น กลับติดอาวุธให้กับทหารรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสซึ่งเคยถูกญี่ปุ่นคุมขังไว้ตั้งแต่การยึดอำนาจในเดือนมีนาคม
การกระทำดังกล่าวยิ่งทำให้สถานการณ์ในกรุงไซ่ง่อนเลวร้ายลงไปอีก เกิดการปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสกับมวลชนทั่วทั้งกรุงฮานอย มีการซุ่มโจมตีมวลชนของกลุ่มการเมืองต่างๆ และการทำร้ายพลเรือนชาวฝรั่งเศส
สถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้ฝรั่งเศสเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้กำลังเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนคืน
ในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1945 ฝรั่งเศสประกาศว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆ อีกจนกว่าสถานการณ์จะสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายอังกฤษพยายามแก้ไขสถานการณ์โดยสั่งให้ทหารรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสกลับเข้าที่ตั้งและประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 21 กันยายน พร้อมทั้งติดอาวุธให้กองทัพญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อเป็นกำลังเสริม แต่ก็ไม่สามารถยุติการปะทะต่อสู้ได้
“ศูนย์บัญชาการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พยายามห้ามการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งย้ำภารกิจหลักที่เป็นไปตามมติของการประชุมที่พอทสดัมคือปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นใต้เส้นขนานที่ 16 เท่านั้น แต่ฝ่ายอังกฤษที่สนับสนุนระบอบอาณานิคมเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถแก้ไขหรือวางตัวเป็นกลางได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจช่วยเหลือฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนคืนจากฝ่ายเวียดมินห์
ในตอนรุ่งสางของวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1945 กองกำลังผสมอังกฤษ-ฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น กระจายกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงไซ่ง่อน แม้ขบวนการเวียดมินห์พยายามต่อต้านอย่างเต็มกำลัง แต่การขาดแคลนอาวุธที่ทันสมัย ทั้งกองกำลังผสมที่นำโดยอังกฤษนั้นมีประสบการณ์การรบสูง ทำให้ต้องล่าถอยออกจากตัวเมืองไปตั้งมั่นบริเวณชานเมืองในวันที่ 23 กันยายน
แม้กองกำลังผสมจะสามารถยึดสถานที่ต่างๆ ในกรุงไซ่ง่อนได้ แต่การปะทะยังคงดำเนินต่อไป เวียดมินห์ตอบโต้กลับด้วยการโจมตีย่านที่พักอาศัยของพลเมืองฝรั่งเศสในกรุงไซ่ง่อนหลายแห่ง
เพื่อหาทางออกต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โฮจิมินห์ได้ส่งโทรเลขถึง เคลเมนต์ แอตต์ลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1945 เรียกร้องให้อังกฤษยุติการสนับสนุนฝรั่งเศสพร้อมทั้งขอให้ปฏิบัติตามกฎบัตรแอตแลนติกและหน้าที่ซึ่งสหประชาชาติมอบหมายด้วยการปลดอาวุธญี่ปุ่น ทั้งวางตัวเป็นกลางต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและเคารพในเอกราชของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นข้อยืนยันความเห็นของผู้บังคับหน่วยโอเอสเอต่อโฮจิมินห์ที่ว่าอย่าคาดหวังความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกามากนัก จึงสร้างความผิดหวังอย่างมากแก่โฮจิมินห์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะปฏิบัติการของอังกฤษในกรุงไซ่ง่อนนั้นขัดต่อหลักการที่สหรัฐอเมริกาได้เคยประกาศไว้ในช่วงสงคราม ทั้งสหรัฐอเมริกายังแสดงท่าทีไม่รู้ไม่เห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.1945 มีคำสั่งจากฝ่ายอังกฤษให้ยุติการปฏิบัติการในกรุงไซ่ง่อนและนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม และตามมาด้วยการเดินทางมาถึงของนายพลเลอแกลร์ ผู้นำทางทหารคนใหม่ของฝรั่งเศส รวมถึงเปิดการเจรจากับขบวนการเวียดมินห์ แต่หลักการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การปะทะด้วยอาวุธขยายตัวเป็นสงครามอย่างเต็มรูปแบบ
ท้ายที่สุด ในวันที่ 11 ตุลาคม ฝ่ายเวียดมินห์ได้ล่าถอยจากชานกรุงไซ่ง่อนไปยังเขตป่าเขา นายพลเลอแกลร์ในเวลาต่อมาจึงได้ขยายการปฏิบัติการของกองทัพฝรั่งเศสให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ใต้เส้นขนานที่ 16 ทั้งหมด
การติดต่อโดยตรงถึงเหล่าผู้นำสหรัฐอเมริกาของโฮจิมินห์
เมื่อหมดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยโอเอสเอสเพื่อยับยั้งการกลับมาของฝรั่งเศสและสงครามที่เกิดขึ้นใต้เส้นขนานที่ 16 โฮจิมินห์จึงตัดสินใจสอบถามนโยบายและขอความช่วยเหลือจากผู้นำสหรัฐอเมริกาโดยตรงผ่านจดหมายและโทรเลขหลายฉบับที่เขียนระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ.1945-กุมภาพันธ์ ค.ศ.1946
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1945 โฮจิมินห์ส่งจดหมายและโทรเลขรวม 3 ฉบับลงวันที่ 17, 22 และวันที่ 22 ถึงประธานาธิบดีทรูแมนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ สาระสำคัญอธิบายสถานการณ์ทั้งก่อนและหลังจากการกลับมาของฝรั่งเศส รวมถึงสงครามใต้เส้นขนานที่ 16
โฮจิมินห์เน้นย้ำว่าฝรั่งเศสได้สูญเสียอำนาจการปกครองเวียดนาม รวมถึงพื้นที่ทุกส่วนในอาณานิคมอินโดจีนแก่ญี่ปุ่นไปแล้วตั้งแต่กลาง ค.ศ.1941 โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการเวียดมินห์ได้ก่อการปฏิวัติเมื่อเดือนสิงหาคมขึ้นจนนำไปสู่การประกาศเอกราชแก่เวียดนามในเดือนกันยายน ค.ศ.1945 ฝรั่งเศสจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาฟื้นฟูระบอบอาณานิคมอีก ทั้งการกระทำของฝรั่งเศสยังขัดต่อหลักการที่ประกาศไว้ในกฎบัตรแอตแลนติกและกฎบัตรซานฟรานซิสโกอีกด้วย
โฮจิมินห์เสนอให้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวเสนอต่อการประชุมคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาด้านตะวันออกไกลที่สหประชาชาติจัดตั้งขึ้นโดยให้มีผู้แทนชาวเวียดนามเข้าร่วมการประชุมในฐานะตัวแทนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามแทนการใช้ผู้แทนชาวฝรั่งเศส และยอมรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามในฐานะประเทศเอกราช
แม้จะทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนามเป็นอย่างดี แต่ด้วยนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป การรักษาความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบยุโรปหลังสงคราม รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตที่กำลังก่อตัวขึ้น มีผลให้สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายวางเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าวในเวียดนาม
ในการประชุมสมาคมนโยบายการต่างประเทศที่นครนิวยอร์กเมื่อกลางตุลาคม ค.ศ.1945 ผู้อำนวยการสำนักงานแผนกกิจการตะวันออกไกล กล่าวว่า สหรัฐอเมริกายังคงเคารพอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนืออินโดจีน ทั้งพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ฝรั่งเศส ซึ่งสหรัฐอเมริกาหวังว่าจะมีการเจรจาเพื่อสันติภาพเกิดขึ้น
จึงสะท้อนถึงท่าทีของสหรัฐอเมริกาได้ชัดเจน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022