ย่างก้าวที่ 6 ของศึกโมโตจีพี ‘เครื่องมือ’ ขับเคลื่อนประเทศ

“โมโตจีพี” ศึกรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก เดินหน้าจัดการชิงชัยที่ประเทศไทยได้ 6 ครั้ง ซึ่งต้องบอกว่าเป็นศึกชิงเจ้าแห่งความเร็วของรถสองล้อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นรายการที่มีผู้ชมมากที่สุดรายการหนึ่งของโลก ถ่ายทอดสดไปมากกว่า 200 ประเทศ ยอดผู้ชมในทุกแพลตฟอร์มกว่า 1,000 ล้านคน

ในแง่ของความสำเร็จของประเทศไทยกับการจัดศึก โมโตจีพี ตลอด 6 ครั้งที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความสำเร็จทั้งด้านการกีฬา การท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ใหม่อย่างมากมาย จนทำให้เกิดการยอมรับในด้านศักยภาพในการจัดอีเวนต์กีฬาระดับโลกของประเทศไทย

สำหรับ ประเทศไทย ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพมาตั้งแต่ปี 2561 และจัดมาต่อเนื่อง เว้นไป 2 ปี คือปี 2563 และ 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกระทั่งในปีนี้ 2568 ความพิเศษของโมโตจีพีที่ประเทศไทย ก็คือการได้รับเลือกเป็นสนามเปิดฤดูกาลภายใต้ชื่อ “พีที กรังด์ปรีซ์ ออฟ ไทยแลนด์ 2025”

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้รับบทบาทสำคัญคือ การแถลงข่าวเปิดฤดูกาล ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการเทกโอเวอร์ของ ลิเบอร์ตี้ สปอร์ตส์ แต่ยังให้ดอร์น่า สปอร์ต เป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมดอยู่ โดยเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่ “วัน แบงค็อก” รวมทั้งยังได้เป็นสนามสำคัญในช่วงปรี-ซีซั่น เทสต์ ต่อเนื่องกับเมนเรซ ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์

ในส่วนของ ดอร์น่า สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธ์โมโตจีพีเผยทั้ง 3 อีเวนต์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 23 ล้านยูโร หรือประมาณ 819 ล้านบาท ไม่รวมกับงบประมาณจัดงานจากฝั่ง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

จึงถือว่าเป็นอีเวนต์กีฬาระดับโลกที่สร้างความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

 

ข้อมูลตัวเลขจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า พีที กรังด์ปรีซ์ ออฟ ไทยแลนด์ 2025 ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 224,634 คน เป็นคนไทย 172,565 คน ชาวต่างชาติ 52,069 คน มูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 5,043 ล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่ายกว่า 4,268 ล้านบาท ใช้งบประมาณจัดงาน 775 ล้านบาท สร้างงาน 7,772 ตำแหน่ง ภาษีที่รัฐเก็บได้กว่า 318 ล้านบาท

หากเทียบกับปีที่ผ่านๆ มาในแง่ของผู้ชม ปี 2561 มีผู้ชมเข้าร่วมงาน 222,535 คน, ปี 2562 จำนวน 226,655 คน, ปี 2565 จำนวนผู้ร่วมงาน 178,463 คน, ปี 2566 จำนวน 179,811 คน, ปี 2567 จำนวน 205,373 คน

ฉะนั้น จำนวนผู้ชมในปีนี้แม้จะไม่ทุบสถิติเดิมในปี 2562 แต่อย่างน้อยตัวเลขก็พุ่งกลับมาสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เจอโรคโควิด-19 ไป

ส่วนในแง่เศรษฐกิจและเงินหมุนเวียน เริ่มจากปี 2561 สร้างเงินหมุนเวียนโดยรวมจากการจัดงานคิดเป็นมูลทางเศรษฐกิจ 3,053 ล้านบาท, ปี 2562 จำนวน 3,457 ล้านบาท, ปี 2565 จำนวน 4,048 ล้านบาท, ปี 2566 จำนวน 4,493 ล้านบาท, ปี 2567 จำนวน 4,759 ล้านบาท

รวมตลอด 6 ปี ที่ไทยเป็นเจ้าภาพโมโตจีพี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันสูงถึง 24,853 ล้านบาท

เรียกได้ว่า “โมโตจีพี” เป็นอีเวนต์ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับนโยบาย “สปอร์ต ทัวริซึ่ม” ที่นำการกีฬาและการท่องเที่ยวมาช่วยสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างแท้จริง และเป็นรูปธรรมมากที่สุด

เห็นได้จากกระแสความนิยมจากแฟนในสนามที่เปี่ยมล้นในทุกๆ ปี

รวมทั้งผู้ชมการถ่ายทอดสดจากทั่วโลกที่ยังได้เห็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่แฝงเอาไว้อย่างลงตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ศึก ไทยจีพี 2025 จะประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นน้ำเป็นเนื้อ แต่สิ่งที่แน่นอนกลับเป็นความไม่แน่นอน เมื่อสัญญาของประเทศไทยกับ ดอร์น่า สปอร์ต จะหมดลงในปี 2026 หรือปีหน้า แต่ยังไม่ได้มีการต่อสัญญาออกไปแต่อย่างใด

ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะทิ้งโมโตจีพีเพื่อไปลุ้นสิ่งที่ใหญ่กว่าอย่าง ฟอร์มูล่าวัน แทน

จนกลายเป็นวิเคราะห์เชื่อมโยงไปกันว่า “โมโตจีพี” กลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” แต่ที่สุดแล้วตัวของอีเวนต์เองได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นอีเวนต์กีฬาระดับโลกที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และสร้างเม็ดเงินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงในจังหวัดใกล้เคียง แต่ในภาพรวมแล้วก็ส่งผลที่ดีต่อประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือการเมือง

ในส่วนของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

พร้อมยืนยันว่าทุกโครงการหากเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน คงต้องทำต่อแน่นอน แต่หากไม่มีประโยชน์ ขาดทุน คงต้องเอามาดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

ขณะที่ สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า กกท.กำลังพูดคุยกับดอร์น่า สปอร์ตอยู่ โดยประเด็นสำคัญเป็นเรื่องรายละเอียดและมูลค่าสัญญาจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวอยากให้มีการต่อสัญญาจัดต่อไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

และความเห็นส่วนตัวอยากเสนอว่า ควรต่อสัญญาระยะยาว 5 ปีไปเลย เพื่อที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้วางแผนการทำงานในด้านต่างๆ ได้ถูก

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬากล่าวถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการจัดศึกโมโตจีพีครั้งต่อๆ ไป อยากให้ใช้จากด้านอื่นที่ไม่ใช่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพราะปีนี้เราเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ และต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักกีฬาอีกมาก

“การจัดโมโตจีพีคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แม้ทั่วโลกต้องจ่ายค่าไลเซนส์แล้วขาดทุน แต่ของไทยเรานำมากระตุ้นด้านการท่องเที่ยว การดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อน ทำให้คุ้มค่ากับงบฯ ที่ลงทุนไป เช่นเดียวกับการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก รายการฟอร์มูล่าวัน ก็กำลังมีการพูดคุยกันอยู่เช่นเดียวกัน”

จากฉากความสำเร็จในเบื้องหน้าของศึกไทยจีพี 2025 รวมถึงข้อมูลตัวเลขเบื้องหลังที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอีเวนต์กีฬาที่สร้างทั้งชื่อเสียงให้กับประเทศไทย รวมถึงช่วยยกระดับวงการมอเตอร์สปอร์ตไทย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ศึกโมโตจีพี คงไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมืองทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นถึงเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยในการพัฒนาหลายๆ ด้านไปพร้อมกันๆ •

 

เขย่าสนาม | เมอร์คิวรี่

[email protected]