ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
ในวัยเด็กผมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ป่าคือดินแดนแห่งความลึกลับ เป็นถิ่นอาศัยของเหล่าสัตว์ร้าย เป็นที่ชุมนุมของสิ่งซึ่งอยู่ “เหนือ” กว่าชีวิตปกติ
สำหรับผม เสือโคร่ง คือสัตว์ดุร้ายอันตราย วัวที่พ่อเอาเข้าไปเลี้ยงในป่า ถูกเสือลากไปกินจนหมดฝูง
ลุงผู้นั่งห้างเฝ้าซากวัว และยิงเสือโคร่งได้ คือ ฮีโร่
วันหนึ่งผมพบว่า สิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้หล่อหลอมให้ผมเป็นอย่างที่คนแวดล้อมในช่วงเวลานั้นอยากให้เป็น
เมื่อผู้ใหญ่ให้ผมลงไปจัดการกับกวางตัวผู้เขาใหญ่ที่ถูกยิงบาดเจ็บ
ผมพบว่า ตัวเองเป็นเด็กชายแหยๆ ที่ไม่กล้าเหนี่ยวไกปืน
แววตาในดวงตากลมโตของกวางบาดเจ็บ ทำให้ผมน้ำตาซึมและเดินกลับมาที่รถจี๊ป ซุกตัวนั่งท้ายรถ
บางที นั่นคงเป็นวันแรกที่ผมเริ่มรู้ว่า “ป่า” อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น
ผมเติบโตขึ้น และเมื่อได้ใช้ชีวิตในป่าจริงๆ “มุมมอง” ของผมเปลี่ยนไป
มีคำถามเกิดขึ้นเสมอๆ กับผมว่า อยู่ในป่าเคยพบเจอเรื่องราวแปลกๆ หรือเรื่องราวลึกลับอะไรทำนองนั้นบ้างไหม
ว่าตามจริง ผมไม่ปฏิเสธหรอกว่า เคยพบเจอเรื่องราวซึ่งพิสูจน์ไม่ได้บ่อยๆ แม้ว่าในความเป็นจริงสำหรับผม ป่าคือโรงเรียน เป็นแหล่งอาศัยของชีวิตที่กำลังทำหน้าที่ทำนุบำรุง ทุกชีวิตมีหน้าที่ซึ่งถูกกำหนดมาให้ทำ
แต่ผมเห็นว่า “ความลึกลับ” นั่น ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัวหรือต้องหาทางพิสูจน์ ผมกลับรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องดีๆ ด้วยซ้ำ
เรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง มันเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ทีออพอ เขาอยู่ในวัย 30 ปลายๆ เกิดที่หมู่บ้านริมชายแดนด้านป่าตะวันตก
เขาเข้ามาช่วยงานทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งในป่าด้านตะวันตก ทีออพอช่วยงานทีมได้มาก เชี่ยวชาญพื้นที่ เดินป่าอึด แบกสัมภาระหนักๆ โดยไม่บ่น กินอยู่ง่าย มีเพียงข้าว น้ำพริก ปลากระป๋อง ก็อยู่ในป่าได้เป็นเดือนๆ
เขาไม่ช่างพูด เงียบขรึม แม้ว่าเวลาร่วมวงเหล้า นิสัยก็ไม่เปลี่ยน
ครั้งหนึ่งเรากลับจากป่า ทีออพอมาพักที่บ้านพักเดียวกับผม ในสถานีวิจัยสัตว์ป่า
เขาบ่นๆ เรื่องปวดกระดูก และเงียบกว่าเดิม พักได้สามวัน ทีออพอก็หายไป จักรสิน เพื่อนร่วมทีมบอกว่า เขารีบกลับบ้าน
สาเหตุที่รีบกลับ เขาพบกับเรื่องราวที่ “พิสูจน์” ไม่ได้
แต่เป็นเรื่องอันทำให้ผมแน่ใจยิ่งขึ้นว่า เรื่องราวในป่า บางเรื่องคล้ายจะน่ากลัว แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ดูจะไม่ใช่สิ่งอันตรายแต่อย่างใด

เดือนมีนาคมเป็นเวลาที่ป่าถูกความแล้งเข้าครอบคลุม โดยปกตินี่คือช่วงแห่งฤดูแล้งแท้จริง มีปีนี้ที่ฝนตก และสภาพอากาศหนาวเย็น แต่เป็นแค่เวลาสั้นๆ 3-4 วัน
สายน้ำในลำห้วยสายเล็ก แห้งเหือด แนวห้วยมีเพียงก้อนหินระเกะระกะ ป่าโปร่งโล่ง ต้นไม้ส่วนใหญ่เหลือแค่กิ่งก้านโกร๋นๆ บ่ายอากาศร้อนจัด อบอ้าว ลมร้อนพัดใบไม้แห้งปลิว
กลางคืนถึงเช้ามืด บางวันอุณหภูมิลดต่ำกว่า 15 องศา
สำหรับกวางตัวผู้โตเต็มวัย หลายตัวนี่คล้ายเป็นช่วงเวลาแห่งความรัก กวางตัวเมียหลายตัวอยู่ในช่วงพร้อมรับการผสม
ในแหล่งอาหาร ที่ตัวเมียรวมกลุ่มกันอยู่ มีตัวผู้เข้ามาวนเวียน และหากตัวผู้สองตัวมาเผชิญหน้ากัน การปะทะเพื่อแสดงถึงความแข็งแรงเกิดขึ้นบ่อยๆ
มักเห็นว่า ช่วงนี้กวางตัวผู้ไม่ทำอะไร นอกจากเดินตามตัวเมีย เอาคางเกยหลัง ไม่มีความระมัดระวังตัวมากนัก
และมันทำให้งานของเสือง่ายมากขึ้น
ท่ามกลางความร้อน มีกลิ่นอายของความรัก ปรากฏซากกวางตัวผู้ให้เห็น
เมื่องานล่าสำเร็จ เสือโคร่งจะลากซากไปซุกไว้ในแหล่งไม่ไกลที่มีน้ำหลงเหลือ
หลังจากกินซาก เสือจำเป็นต้องกินน้ำ
กวางตัวผู้ตกเป็นเหยื่อมากขึ้น
ไม่ผิดนัก หากจะใช้คำว่า ความรักทำให้ตาบอด
หากความรักทำให้เกิดความทุกข์ ดูเหมือนว่า ช่วงนี้เสือจะไม่ได้คิดเช่นนี้
ก่อนกลับบ้าน ทีออพอไม่สบายมากขึ้น จักรสินพาไปโรงพยาบาล ผลการตรวจไม่พบโรคเมืองร้อนชนิดใด
วันที่เขาหายไป จักรสินขับรถไปตามหา พบว่าเขาเดินอยู่บนเส้นทางเข้าเมือง จักรสินจึงพาเขาไปขึ้นรถโดยสาร
“เขาบอก ฝันว่ามีผู้หญิงสองคนมาชวนไปอยู่ด้วย” จักรสินถ่ายทอดสิ่งที่ทีออพอเล่า
“เขาบอกไปไม่ได้หรอก เพราะมีลูกมีเมียแล้ว”
“อีกคืน เขาฝันอีก” จักรสินเล่าต่อ
“คราวนี้มีผู้ชายมาด้วย และบอกว่า ให้เวลาสามวัน ถ้าไม่ไปจะมาเอาตัวไป”
ทีออพอจึงจะกลับบ้านเพื่อไปทำพิธีตามความเชื่อ
เขานั่งรถถึงอำเภอชายแดน มีอาการปวดท้องรุนแรง คนช่วยนำส่งโรงพยาบาล หมอพบว่า ไส้ติ่งอักเสบ ต้องผ่าตัดด่วน
“ตอนนี้ปลอดภัยดีแล้วครับ” จักรสินคอยติดตามข่าวเพื่อน
ผมนึกถึงเรื่องของทีออพอ ในฝันผู้หญิงให้เวลาเขาสามวัน ไม่เช่นนั้นจะให้พี่ชายมาเอาตัวไป
เวลาสามวัน หากทีออพออยู่ในป่า เขาอาจตายเพราะไส้ติ่งแตก
นี่คือการมาเตือนด้วยความ “หวังดี”
ในฤดูกาลที่กวางตัวผู้ตกเป็นเหยื่อเสือโคร่งได้ง่าย การล่า คล้ายเป็นสิ่งโหดร้าย ชีวิตอันตรายเป็นผู้ลงมือ หน้าที่เสือคือ ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชให้มีปริมาณพอเหมาะ
ดูเหมือนว่า การกระทำของเสือ นั่นคือความ “หวังดี” เช่นกัน
ความหวังดีเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้เวลา รวมทั้งความเข้าใจในการมอง
ไม่เช่นนั้น เรื่องราวย่อมผิดเพี้ยนไปจากความจริงที่ป่าและชีวิตในป่า เป็น… •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022