ชีวิตและการเดินทาง ‘ข้ามสาย’ ของ ‘นักดนตรีร่วมสมัย’ คนหนึ่ง

คนมองหนัง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา มีโอกาสไปฟังเสวนาและเลือกซื้อหนังสือที่งาน “Knowledge Fest” ซึ่งทางสำนักพิมพ์มติชนและพันธมิตรจัดขึ้น ณ มิวเซียมสยาม

พอตกเย็น ตรงพื้นที่สนามหญ้าด้านหลังมิวเซียมสยาม ก็มีกิจกรรม “เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ” ซึ่งจัดโดยกองการสังคีต กรุงเทพมหานคร มาร่วมแจมคู่ขนานกันไป

บรรยากาศจึงคึกคักครึกครื้นขึ้นไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ ครั้งส่งท้ายประจำต้นปีนี้ เลือกจะปิดฉากงานด้วยธีม “เพลงลูกทุ่ง”

การแสดงดนตรีที่กินความยาวร่วมสองชั่วโมงครึ่ง อยู่ในความรับผิดชอบของวง “บางกอกลูกทุ่ง” ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างบุคลากร-ข้าราชการของกองการสังคีต กทม. และนักดนตรีมืออาชีพที่ “อาสา” มาสร้างสรรค์ความบันเทิงให้พลเมืองกรุงเทพฯ

โดยมีศิลปินเบอร์ใหญ่อย่าง “ทศพล หิมพานต์” และ “ดวงตา คงทอง” รวมทั้งนักร้องจากกองการสังคีตเกือบๆ สิบชีวิต สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาถ่ายทอดบทเพลงลูกทุ่งดังๆ เพื่อขับกล่อมผู้ชมที่มีหลากหลายวัย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ส่วนตัว เพิ่งมีโอกาสได้ฟัง “ทศพล หิมพานต์” แหล่สดๆ เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งต้องยอมรับว่าน้ำเสียงและลูกคอ-ลูกเอื้อนของเขานั้นมีความมหัศจรรย์จริงๆ

แม้แต่แฟนเพลงขาจรชาวต่างประเทศก็ยังต้องนั่งลงบนพื้นสนามหญ้าเพื่อรับฟังบทเพลงของทศพล สักเพลงสองเพลง

ระหว่างยืนและเดินชมโชว์ของวง “บางกอกลูกทุ่ง” ผมรู้สึกว่า “มือเบสหนุ่มร่างท้วมผมหยิก” ของวงนั้นมีรูปลักษณ์ที่คุ้นตามากๆ

พอนึกทบทวนความทรงจำอยู่พักใหญ่ ก็เริ่มจำได้ว่าตนเองเคยดูและฟังชายหนุ่มคนนี้เล่นดนตรีที่ไหน

หลังการแสดงของวง “บางกอกลูกทุ่ง” ยุติลงในช่วงเวลาประมาณสองทุ่มของวันอาทิตย์ และบรรดานักดนตรีต่างทยอยเก็บข้าวของ-เครื่องมือหาเลี้ยงชีพ แล้วเดินออกจากพื้นที่โชว์

ผมจึงเดินเข้าไปทัก “น้องมือเบส” คนนั้นว่า เมื่อปีโน้น เขาเคยมาเล่นเบสให้ “ทีโบน อรูทสติก” ที่นี่ (มิวเซียมสยาม) เหมือนกันใช่ไหม?

เนื่องจากจำได้ว่า ตอนปลายปี 2566 ตัวเองเคยมาดูการแสดงสดของ “ทีโบน อรูทสติก” (โปรเจ็กต์การแสดงดนตรีอะคูสติกของ “นครินทร์-เจษฎา ธีระภินันท์” สองพี่น้องแกนหลักแห่งวง “ทีโบน”) ในงาน “FEED Retro” และก็มี “มือเบสคนนี้” มาร่วมเล่นดนตรีสนับสนุนให้โปรเจ็กต์นั้นด้วย

คำตอบของเจ้าตัวก็คือ “ใช่”

เมื่อพูดคุยกันต่อ จึงได้ทราบว่า “น้องมือเบส” รายนี้ มีสถานะเป็นนักดนตรีฝั่งอาสาสมัคร ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการกองการสังคีต กทม.โดยตรง

(หลังยืนสนทนากัน ผมเสิร์ชข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า น้องจบการศึกษาจากคณะดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร)

และเอาเข้าจริง เขาก็เป็นนักดนตรีอาสาในส่วนของวง “Bangkok Metropolitan Orchestra” หรือ BMO เพียงแต่คราวนี้ มือเบสของวง “บางกอกลูกทุ่ง” ติดธุระอื่นพอดี เขาจึงถูกเรียกตัวมาเล่นแทน

จึงนับเป็นเรื่องน่าทึ่งเหมือนกัน ที่ผมได้มีโอกาสรับฟังการบรรเลงบทเพลงของนักดนตรีคนหนึ่ง ทั้งในยามที่เขาเล่นดนตรี “เร็กเก้-สกา-แจ๊ซ-ทดลอง” กับ “พี่กอล์ฟ-พี่แก๊ป ทีโบน”

แล้วต่อมา ก็ได้ฟังเขาเล่นเบสให้กับคณะดนตรี “ลูกทุ่ง” วงใหญ่ เพื่อสนับสนุนการขับร้องเพลงพื้นบ้านประยุกต์ร่วมสมัยของ “ทศพล หิมพานต์” และ “ดวงตา คงทอง”

ขณะเดียวกัน นี่ก็ถือเป็นการเดินทาง “ข้ามสาย” ในลักษณะที่ “นักดนตรีอาชีพ” จำนวนไม่น้อยของสังคมไทยคุ้นเคยกันดี ดังกรณีของ “มือปืนรับจ้าง” หลายรายที่เล่นดนตรีบันทึกเสียงให้ทั้งศิลปิน “สตริง” และ “ลูกทุ่ง”

กระทั่งร็อกเกอร์อย่าง “จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” ก็เคยเป็นนักดนตรีบันทึกเสียงให้วงการเพลงลูกทุ่งมาก่อน

แม้ “น้องมือเบส” ที่เคยร่วมงานกับ “ทีโบน อรูทสติก” จะออกตัวกับผมว่า เขาไม่ค่อยถนัดและไม่ได้รู้สึกลื่นไหลกับการเล่นดนตรีลูกทุ่งสักเท่าใดนัก

แต่บทเพลงของวง “บางกอกลูกทุ่ง” ที่เขามีส่วนร่วม (เฉพาะกิจ) อยู่ด้วย ก็ดำเนินไปอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินเอามากๆ

อีกด้านหนึ่ง นี่ยังอาจเป็นการสร้าง “งานเสริม” ให้บรรดา “นักดนตรีมืออาชีพรุ่นหนุ่มสาว” ในยุคสมัยที่สภาพเศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่เซื่องซึมเต็มทน •

 

| คนมองหนัง