จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 14-20 มีนาคม 2568

• 2 ปี กม.ทรมานและอุ้มหาย

เป็นเวลา 2 ปีแล้ว

ที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้

เป็นที่รู้จักในหมู่เจ้าหน้าที่ องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ว่ากว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ ต้องใช้เวลาในการผลักดันถึง 15 ปี

ผ่านอุปสรรคและข้อท้าทายมากมาย

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

คืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)

และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED)

ที่ไทยได้ให้สัตยาบันและลงนามรับรองมาเป็นเวลายาวนาน

การใช้กฎหมายที่เต็มไปด้วยความหวังฉบับนี้ต้องเผชิญกับข้อท้าทายและอุปสรรคอย่างไร และท่ามกลางอุปสรรคเหล่านี้ จะทำอย่างไรให้การใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหายบรรลุผล?

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ), กลุ่มด้วยใจ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จึงได้จัดงาน “Echoes of Hope : ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง” เนื่องในโอกาสครอบรอบ 2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

พร้อมจัดเวทีเสวนา เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงประเด็นเรื่องข้อจำกัดและข้อท้าทายจากมุมมองที่หลากหลาย

 

ในงานนี้ มีการนำเสนอข้อเสนอแนะของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (CAT)

ที่ได้ทบทวนรายงานสถานการณ์การทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ของประเทศไทย ในที่ประชุมคณะกรรมการ CAT สมัยที่ 81 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567

ดังนี้

1. เพิ่มความโปร่งใสในการควบคุมตัว

โดยให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

และควรอำนวยให้องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวและเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มขึ้น

โดยประเทศไทยควรเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (OPCAT)

อันจะเป็นมาตรการป้องกันการทรมานที่สำคัญ

2. ประเทศไทยจะต้องยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

อาชญากรรม เช่น การทรมาน การกระทำที่โหดร้ายฯ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ต้องไม่มีอายุความอีกต่อไป

3. ประเทศไทยควรยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้

เนื่องจากฎหมายพิเศษเหล่านี้เอื้อให้เกิดความเสี่ยงต่อการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้ายฯ และการอุ้มหาย

อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย อนุสัญญาหลายฉบับรวมถึงอนุสัญญา CAT และ CED

4. คณะกรรมการ CAT เสนอแนะให้ปิดสถานที่ควบคุมตัวไม่ทางการภายใต้กฎหมายพิเศษ

และให้สิทธิผู้ต้องขังพบญาติและทนายความอย่างโปร่งใส

อีกทั้งศาลจะต้องไม่รับฟังข้อมูลที่ได้รับมาจากการใช้การทรมานเป็นหลักฐาน

สมชาย หอมลออ คณะกรรมการ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหาย กล่าวในงานว่า

“ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ทำอย่างไรจะทำให้กระดาษใบนี้มีผลในการปฏิบัติ”

“ที่ผ่านมาสองปีนี้ เรายังทำน้อยไปนะ เราต้องการนักกฎหมาย ต้องการองค์กรอื่นๆ ที่ลงมือปฏิบัติมากกว่านี้”

“การเผยแพร่มี องค์กรทำหน้าที่แล้วมี การฝึกอบรมมี แต่ไม่พอ”

“มีดจะให้มันคมต้องใช้บ่อยๆ ผมเชื่อว่า เมื่อเราใช้ไปมันจะฟ้องเอง ว่ากลไกของรัฐที่บอกว่าแก้ปัญหาให้ประชาชน เขาทำจริงหรือไม่ เขายกคำร้องเราโดยมีเหตุผลสมควรหรือเปล่า เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน ถ้าไม่มีเหตุผลสมควร”

“ผมคิดว่าที่สำคัญก็คือพวกเราทุกคน องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหาย ประชาชนทั่วไป ต้องอย่ารีรอที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ขอให้พยายามต่อไป ยื่นคำร้อง แจ้งความ ติดตาม ทำการรณรงค์ต่อไป”

“เราเชื่อว่าความหวังและความสำเร็จจะเกิดขึ้น”

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึงสิทธิในการรักษาความทรงจำของเหยื่อว่า

“หลายคนพยายามที่จะทำให้เขาลืม หลายคนพยายามที่จะขัดขวาง พยายามที่จะสอดแนมไม่ให้มีการจัดงานรำลึกต่างๆ ซึ่งดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐพยายามทำลายความทรงจำของเหยื่อ ถ้าเราไม่ลืม การดิ้นรนต่อสู้ของเราก็ยังอยู่ แต่ถ้าเมื่อไรที่เราลืม และเรายอมให้ความกลัวเข้ามาครอบงำ เมื่อนั้นเราก็จะไม่สามารถที่จะทำอะไรเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีคนหาย และหาความจริงให้กับคนที่หายไปแล้วได้อีก”

“ดิฉันเชื่อว่าการทำความจริงให้ปรากฏ การนำคนผิดมาลงโทษ จะเป็นการคืนความเป็นธรรม และจะเป็นการยุติการบังคับสูญหายในสังคมอย่างยั่งยืน”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

เนื้อหาในอีเมล

ที่นำมาให้อ่านนี้

เป็นส่วนหนึ่งของสกู๊ปข่าว

“จากผู้เสียหายชาวไทยถึงชาวอุยกูร์ : 2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย ความหวังอยู่ที่ใดในข้อท้าทายมหาศาล”

ที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยแพร่ออกมา

เผยแพร่ในห้วงที่

กรณีอุย์กรู

กรณีเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

และล่าสุดกรณีสารวัตรโจ้ เสียชีวิตในเรือนจำ

เป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย

ที่ทำให้เราต้องสนใจ “พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย”

ซึ่งแน่นอน มากด้วยข้อมูลหลายด้าน และความเห็นต่าง

ทั้งหนุนและไม่หนุน

ซึ่งอาจยังหาข้อสรุปร่วมได้

แต่ก็อย่าเบื่อหน่าย หรือเพิกเฉย

แลกเปลี่ยน วิพาษ์วิจารณ์กันต่อไป •