ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
พทสทร
(เพื่อโทนี่สกัดทุกเรื่อง)
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแค่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการปกติในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ร้อนฉ่า ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
มีวิวาทะตั้งแต่พรรคประชาชนประกาศยื่นอภิปรายฯ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เพียงคนเดียว มาจนถึงการประกาศจะขอเวลา 5 วันในการอภิปราย ก็เกิดวิวาทะระหว่าง 2 ฝั่งอย่างหนัก
ฝั่งหนึ่งอยากให้จบใน 1-2 วัน อีกฝั่งก็ท้วง ลืมมาตรฐานตอนที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้านแล้วหรือ? ขนาดยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ใจแคบขนาดนี้
ถัดมาก็เป็นวิวาทะระหว่างวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ปะทะกับ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน กับวิวาทะยุบสภา เล่นกันแรง “ลามไปจนถึงเย้ยให้ถูกยุบพรรค”
ซัดกันนัวเนียต่อเนื่องหลายวัน จนสัปดาห์นี้ก็ยังไม่จบ ยังคงถกเถียงแต่ในเรื่องกติกา
จนถึงวันนี้ ชัดเจนว่า รอยร้าวของทัพสีส้มและสีแดง ถ่างออก-ตัดขาดกัน ราวกับไม่มีวันจะมาร่วมงานกันได้อย่างเดิม
รูปธรรมก็ดูจาก 6 ข้อกล่าวหาที่พรรคประชาชนยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ
ตั้งแต่การกล่าวหาว่า น.ส.แพทองธาร ไม่มีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการเป็นผู้นำ ขาดภาวะผู้นำ ขาดความสามารถแก้ปัญหาประเทศ ส่งผลให้ประเทศสูญเสียความเชื่อมั่น
ลอยตัวเหนือปัญหา ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ และบริหารประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง มากกว่าส่วนรวม อีกทั้งยังขาดความซื่อสัตย์ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน
นอกจากนี้ ยังบริหารผิดพลาด ทำให้ประเทศล้มเหลวด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และประชาธิปไตย รวมถึงปล่อยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น และแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เหมาะสมเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ
สุดท้าย นส.แพทองธารยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำการบริหารประเทศ ทำให้ถูกมองว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด” โดยมีบิดาเป็นผู้ควบคุมอำนาจที่แท้จริง
รอบนี้กองทัพส้มยิงตรงไปที่กล่องดวงใจพรรคเพื่อไทยคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งยังกระทำอย่างตั้งใจในการใส่ชื่อนายทักษิณ ชินวัตร มาไว้ในญัตติ โดยผูกโยงให้เห็นว่านายทักษิณ ในฐานะบิดานายกฯ มีส่วนสำคัญในปัญหาที่เกิดขึ้น
ใช้คำแรงขนาดนี้ มีหรือเพื่อไทยจะอยู่เฉย ระลอกแรกคือการใช้ขุนพลขาประจำออกมาตอบโต้
ทีเด็ดรอบนี้เห็นจะเป็นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้นำฝ่ายค้าน ให้แก้เนื้อหาญัตติซักฟอกรัฐบาล โดยให้เอาชื่อนายทักษิณออกจากญัตติ ให้เหตุผลว่านายทักษิณไม่สามารถชี้แจงในสภาได้
ขณะที่ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ระบุว่ามีหลายกระทรวงให้อภิปรายทำไมไม่พูด ไปอภิปรายถึงนายทักษิณทำไม กลัวอะไรนักหนา ทั้งยังทิ้งท้ายว่าเขาไม่ให้อภิปรายบุคคลภายนอก ถ้ายังดึงดันก็ไม่ได้อภิปราย ซึ่งเรื่องนี้เพื่อไทยไม่เดือดร้อนเลย
เช่นเดียวกับ น.ส.แพทองธาร ที่ยืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่ควรใส่ชื่อนายทักษิณในญัตติ เพราะคนที่ถูกกล่าวถึงไม่ได้อยู่ในที่ประชุม
ปิดท้ายด้วย พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ออกมาสรุปรวบยอดให้ชัดไปเลยว่า ถ้าไม่แก้ก็อดอภิปรายแน่
แน่นอนว่า มีหรือฝ่ายค้านจะถอยง่ายๆ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาทันที ยืนยันว่าญัตติซักฟอกถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังตำหนิประธานสภาว่าลุแก่อำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้อนุญาตให้ประธานสภาทำแบบนี้ได้ ประธานสภาทำได้แค่ตรวจสอบข้อบกพร่องเชิงรูปแบบ-ข้อเท็จจริง กฎหมายไม่ได้ห้ามการเอ่ยชื่อบุคคลคนนอก
ณัฐพงษ์ยังได้แนบตัวอย่างในอดีตหลายเคสไปให้ประธานสภาพิจารณาเพื่อยืนยัน ในอดีตสามารถทำได้ หากเกี่ยวข้องกับบุคคลผู้ถูกยื่นญัตติและส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศจริง
ทีเด็ดของความเห็นฝั่งนี้เห็นจะเป็น ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาคนก่อน ที่ยืนยันว่า ใส่ชื่อคนนอกได้ หากสมเหตุสมผลก็ไม่มีปัญหา ผู้อภิปรายก็ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอยู่แล้ว
มีคำถามว่าทำไมนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งมาจากพรรคประชาชาติจึงดับเครื่องชนพรรคประชาชนดุเดือดขนาดนี้
ภาพการที่นายทักษิณไปเยือนบ้านศรียะลาของประธานสภาสัปดาห์ก่อน ภาพการก้มไหว้อันโด่งดัง น่าจะเป็นคำตอบได้ดี (อันที่จริงก็ไม่ต่างกับที่ ทวี สอดส่อง รมต.ยุติธรรม จากพรรคประชาชาติทำอยู่ตอนนี้)
เกิดคำถามต่อมาว่าทำไมเพื่อไทยจึงเดินเกมหักดิบให้พรรคประชาชนลบชื่อนายทักษิณออกจากญัตติ
ต้องยอมรับว่าเกมซักฟอกรอบนี้ฝ่ายค้านเดิมเกมฉลาดไม่น้อย
ลองคิดเล่นๆ ว่าประธานสภาไม่ยอมให้อภิปรายจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น ประชาชนมองปรากฏการณ์นี้จะรู้สึกอย่างไร?
เขาจะมองว่าประธานสภาใช้อำนาจปกป้องรัฐบาลต่างหาก (ทั้งๆ ที่จริงๆ ประธานสภาอาจจะพยายามทำตามกฎระเบียบอย่างตรงไปตรงมาก็ได้)
ดังนั้น หากญัตติล่มจริง การซักฟอกเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยปัจจัยที่ผ่านมา ในทางการเมือง กลายเป็นพรรคส้มอาจได้คะแนนบวกไปเสีย
อย่าลืมว่า 1-2 เดือนที่ผ่านมา คะแนนตรวจสอบอำนาจของพรรคส้ม “กำลังอยู่ในช่วงทะยานขึ้น”
ตั้งแต่เรื่องขวางการประมูลซื้อพลังงานทดแทน, การต่อสู้เรื่องการใช้เงินในสำนักงานประกันสังคม การสู้เรื่องการคำนวณเงินบำนาญใหญ่, เรื่องทุจริตใน รพ.ทหารผ่านศึก, การปลุกกระแสจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์, การตั้งคำถามเรื่องการแจกเงินหมื่น
ถามว่าเรื่องเหล่านี้ประชาชนนึกถึงใคร? ก็ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าคนเขาคิดถึง ส.ส.พรรคส้ม
เมื่อกระแสการตรวจสอบของพรรคประชาชนกำลังพุ่งขึ้น หากในวันนี้ญัตติซักฟอกถูกขวางเพราะแค่ใส่ชื่อนายทักษิณลงไปในข้อกล่าวหานายกฯ จนไม่ได้บรรจุเป็นวาระ กลายเป็นพรรคส้มได้ความชอบธรรมขึ้นมาอีก
กลับกัน หากญัตตินี้ผ่านกลายเป็นวาระ ประธานยอมบรรจุญัตติ มีข้อดีคือฝ่ายรัฐบาลได้พื้นที่เวทีชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ยิ่งใช้ข้อได้เปรียบที่มีทรัพยากรข้อมูลมากกว่า ก็สามารถตอบโต้พรรคประชาชน ชี้แจงข้อกล่าวหา และยังรักษาระดับคะแนนนิยมทางการเมืองต่อไปได้
แต่หากหักดิบไม่ยอมบรรจุวาระ รัฐบาลก็เสี่ยงจะเจอกับแรงกดดันทางการเมือง แรงสุดคือถูกวิจารณ์ว่าปิดปากฝ่ายค้าน ทั้งยังสร้างบรรทัดฐานการตีความกฎหมายใหม่ๆ ตำแหน่งประธานสภาก็ถูกด้อยค่า ประชาชนเสื่อมศรัทธาฝ่ายนิติบัญญัติ
หรือหากพรรคส้มถอยก่อน ยอมถอนชื่อออกจากญัตติ ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรครัฐบาลจะชนะในทางการเมือง
การเบี่ยงคำไม่เรียกชื่อนายทักษิณอย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่สังคมก็รู้กันว่าพรรคเพื่อไทยพยายามชูนายทักษิณในฐานะจุดขายของพรรค
ถามว่าประชาชนจะมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?
ที่ผ่านมา นายทักษิณก็ประกาศตัวชัดเจนแต่แรกว่าเป็น สทร. เดินสายโชว์วิชั่น ขึ้นเหนือ ล่องใต้ ทุกความคิดที่นายทักษิณพูดบนเวทีปราศรัย ล้วนเกิดขึ้นจริงตามมา
เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ หากไม่อยากให้มองว่ามีความพยายามปิดปากฝ่ายค้าน ทางแก้มีวิธีเดียวคือต้องพูดคุย กำหนดกติกาที่เป็นไปได้ ไม่ใช่การหักดิบหรือข่มขู่ว่าจะไม่บรรจุวาระ
สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ทำให้สังคมรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยกำลังปฏิบัติการ “พทสทร”-เพื่อโทนี่สกัดทุกเรื่อง และตั้ง “องครักษ์เบบี้บูมเมอร์ ขึ้นมาเพื่อปกป้องนายกฯ เจนวาย” ซะอย่างนั้น
ทำราวกับไม่ได้หวังให้นายกฯ โชว์ศักยภาพอะไร ไม่ได้พยายามเปิดโอกาสให้ทีมข้อมูลของเพื่อไทยได้ทำงาน
ถนัดใช้แท็กติกสกัด ระวังอาจจะโดนแซวว่า “เล่นการเมืองแบบเก่า”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022