ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
อาชญากรรม | อาชญา ข่าวสด
‘คุกคลองเปรม’ สะเทือน!
‘ผกก.โจ้ถุงดำ’ ดับคาห้องขัง
โดนสอบวินัยก่อนแขวนคอ
ขัดแย้งผู้คุม-แดนสนธยา
การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีต ผกก.โจ้ถุงดำ อายุ 43 ปี อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ผู้ต้องขังคดีใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหายาเสพติดจนเสียชีวิต ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่สะเทือนไปทั้งกรมราชทัณฑ์ เพราะแม้นจะอ้างพยาน-หลักฐานเช่นไร คนส่วนหนึ่งในสังคมก็ไม่เชื่อ
ย้อนไปเมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 7 มีนาคม สน.ประชาชื่น รับแจ้งเหตุ อดีต ผกก.โจ้ถุงดำ แขวนคอตายในห้องขังหมายเลข 50 ตึกนอนแดน 5 เรือนจำกลางคลองเปรม แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนแล้ว ทางเรือนจำจึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบในช่วงสายของวันที่ 8 มีนาคม
สายวันที่ 8 มีนาคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางไปตรวจสอบที่คุกคลองเปรม ก่อนชี้แจงกับสื่อตามรายงานที่กรมราชทัณฑ์นำเสนอว่า ข.ช.ธิติสรรค์ ต้องจำมาแล้วในเรือนจำ 3 ปี 6 เดือน 13 วัน โดยรับตัวผู้ต้องขังเข้าคุมขังเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ปัจจุบันถูกคุมขังที่ห้องแยกการควบคุม แดน 5
เรือนจำได้ตรวจสอบประวัติการรักษาพบว่า มีโรคประจำตัว คือ ภาวะหัวใจสั่น (Essential tremor) มีไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) และมีอาการป่วยด้วยโรคทางจิตเวชวิตกกังวล (Anxiety disorder) ซึ่งได้รับการรักษา และรับยาต่อเนื่อง
โดยพบจิตแพทย์ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีนัดพบจิตแพทย์ในเดือนเมษายน 2568
ขณะควบคุมในเรือนจำ ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมหวาดระแวงกลัวผู้ต้องขังอื่นทำร้าย เนื่องจากเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ เรือนจำจึงได้รับคำร้องของผู้ต้องขัง และพิจารณาอนุญาตให้แยกการควบคุมจากผู้ต้องขังอื่น และยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในเรือนจำได้เป็นปกติ
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ช่วงเที่ยงผู้ต้องขังได้รับการเยี่ยมเยียนจากภรรยา ซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำไม่พบเหตุผิดปกติแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อเวลา 20.25 น. เจ้าพนักงานเวรรักษาการณ์ เดินไปจ่ายยาประจำตัวให้กับ ข.ช.ธิติสรรค์ พบว่าผู้ต้องขังนั่งหลังพิงกับประตูห้องขัง จึงได้พยายามเรียกแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงได้แจ้งพัศดีเวร และพยาบาลเวร เข้าเปิดห้องขังเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตามหลักวิชาชีพ
แต่พบว่า ผู้ต้องขังใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กผูกคอกับประตูห้องขัง ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก ไม่รู้สึกตัว ปลายนิ้วมือซีดเขียวคล้ำ ไม่พบชีพจรบริเวณหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ จึงได้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับ
ในเบื้องต้น เรือนจำได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าทางเดินของห้องขังผู้ต้องขัง ไม่พบว่ามีผู้ใดเข้าออกห้องดังกล่าวแต่อย่างใด
แต่เมื่อครอบครัวพร้อมด้วยทนายความออกมาให้ข้อมูลกับสื่อ หลายเรื่องราวกลับไม่เป็นอย่างที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องป่วยจิตเวช และผ้าขนหนูที่ระบุว่าเป็นผ้าขนาดเล็ก 30-40 ซ.ม. จนสังคมตั้งคำถามว่าจะสามารถใช้ผูกคอตายได้จริงหรือ
ก่อนที่ พ.ต.อ.ทวี จะยอมรับว่าข้อมูลที่ให้มามีความผิดพลาด โดยผ้าขนหนูมีขนาด 30-40 นิ้ว
ประเด็นที่สำคัญ นายวีรศักดิ์ นาคิน ทนายความของอดีต ผกก.โจ้เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเสียชีวิต ญาติของ ผกก.โจ้เข้าไปเยี่ยมเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งเหตุการณ์เป็นปกติ และ ผกก.โจ้กล่าวว่า ต้องเข้าไปสอบสวนวินัยหลังเวลา 15.00 น. เพราะมีความผิด “กระด้างกระเดื่องกับผู้คุม” ก่อนที่จะเกิดเหตุเมื่อคืนที่ผ่านมา
ซึ่งทางครอบครัวติดใจในประเด็นว่าเกิดจากอะไร โดยได้แจ้งความที่ สน.ประชาชื่น และขออายัดศพเพื่อไปชันสูตรที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี
นายวีรศักดิ์เผยอีกว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากอดีต ผกก.โจ้ ให้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สน.ประชาชื่น เพราะถูกนายสิทธิพร แก้วคำบัง ซึ่งเป็นผู้คุมฯ ด่าทอ และใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย มีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีรอยฟกช้ำ
ตำรวจเคยขอเข้าไปสอบสวนผู้ต้องขังเรื่องการทำร้ายร่างกายภายในเรือนจำถึง 2 ครั้ง แต่ผู้บัญชาการเรือนจำไม่อนุญาตให้เข้าไปทั้งสองครั้ง และไม่ให้ทนายความเข้าไปด้วย
โดยหลักฐานใบรับรองแพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ระบุผลตรวจร่างกายของอดีต ผกก.โจ้ ว่า กดเจ็บบริเวณชายโครงซ้าย เกิดจากการกระแทกของแข็งไม่มีคม
พบแผลฟกช้ำเป็นวงเรียงต่อกันเป็นแนวใต้ราวนมซ้าย
เกิดจากแผ่นแปะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากการรักษา ผลภาพถ่ายรังสีทรวงอก ไม่พบกระดูกหักหรือแตกร้าว
ส่วนรายการที่แพทย์นิติเวชได้ตรวจ และความเห็นระบุว่า รับแจ้งว่า อดีต ผกก.โจ้ถูกทำร้ายร่างกาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 มาตรวจกับแพทย์วันที่ 12 มกราคม 2568 คู่กรณีมี 1 คน ไม่มีอาวุธ

ขณะที่ชนวนเหตุของเรื่องทางครอบครัวเชื่อว่ามาจากที่อดีต ผกก.โจ้ รายงานพฤติกรรมของนักโทษขาใหญ่เรื่องการสูบบุหรี่และดูคลิปต้องห้าม แต่ทางผู้คุมแดนขังดังกล่าวไม่จัดการตามระเบียบ
อดีต ผกก.โจ้จึงยื่นเรื่องร้องเรียนผู้คุมคนดังกล่าว กลายเป็นปัญหาขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ทำให้อดีต ผกก.โจ้ถูกกลั่นแกล้ง ทำร้ายต่างๆ นานา หวังกดดันให้เจ้าตัวถอนเรื่องร้องเรียน ล่าสุดก่อนเสียชีวิตก็ถูกย้ายจากแดน 7 มาอยู่ที่แดน 5 และถูกแยกห้องขังเดี่ยว จนเกิดความเครียด
ขณะที่ผลการชันสูตรศพของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ให้น้ำหนักไปที่เรื่องขาดอากาศหายใจ จากการจบชีวิตตัวเอง โดยใช้ผ้าเนื่องจากบาดแผลมีรอยกว้างประมาณ 1.4 เซนติเมตร จึงอาจไม่ใช่การใช้เชือก อีกทั้งลักษณะของแรงที่เกิดขึ้นไม่พบรอยช้ำบริเวณเนื้อเยื่อใต้ลำคอ หรือบริเวณใต้รอยรัด และไม่พบการช้ำของกล้ามเนื้อลำคอ หรือบาดเจ็บของกระดูกแต่อย่างใด จึงให้เหตุผลว่าแรงที่มากระทำไม่ได้เยอะมาก
นอกจากนี้ ยังไม่พบร่องรอยบาดแผลที่ถูกทำร้ายอื่นด้วย จะมีแค่เพียงร่องรอยบาดแผลฟกช้ำบริเวณสะโพก ซึ่งเป็นรอยช้ำเก่า แต่ก็จะตรวจสอบโดยใช้เครื่องซีทีสแกน สแกนว่าเป็นร่องรอยบาดแผลในอดีตหรือไม่ แล้วจะลงรายละเอียดในรายงานอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีที่ญาติพบว่ามีเลือดออกในที่เกิดเหตุ จากการสอบถามกับคณะชันสูตรในที่เกิดเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี
1. สงสัยว่าหลังเสียชีวิตจะมีของเหลวในร่างกายไหลออกมาคล้ายเลือด อาจออกจากทางปาก
และ 2. คือไหลออกมาจากบาดแผล เพราะพบบาดแผลถลอกที่บริเวณแขน ซึ่งคิดว่าน่าจะไม่ใช่เลือด คาดว่าเป็นของเหลวที่ไหลออกมาหลังเสียชีวิตเสียมากกว่า ซึ่งสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้เก็บหลักฐานไว้หมดแล้ว

หลังครอบครัวอดีต ผกก.โจ้ออกมาให้ข้อมูลอีกด้าน มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายเผด็จ หริ่งรอด ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม ลงนามคำสั่ง ย้ายนายสิทธิพร แก้วคำบัง หรือผู้คุมเหน่ง นักทัณฑวิทยาชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานควบคุมแดน 7 พ้นจากการปฏิบัติหัวหน้างานควบคุมแดน 7 ไปประจำที่ส่วนบริหารทั่วไป และห้ามเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำ ห้ามเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง เพื่อความโปร่งใสและไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการสอบข้อเท็จจริง
ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม น.ส.ธนัญญา อุทธนผล อายุ 34 ปี น้องสาวอดีต ผกก.โจ้ พร้อมด้วย น.ส.สิภชา แก่นสุวรรณ หรือทราย อายุ 28 ปี แฟนสาวอดีต ผกก.โจ้ และทนายวีรศักดิ์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของอดีต ผกก.โจ้ รวมถึงประเด็นการถูกผู้คุมทำร้ายร่างกาย ว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย หรือไม่
ส่วน พ.ต.อ.ทวี ก็ออกมายืนยันอีกครั้งว่า กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ปกป้องบุคลากรและองค์กรของตัวเอง ได้ตั้งคณะกรรมการ มีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเปิดโอกาสให้คนนอกด้วย โดยจะสอบสวนอย่างละเอียดทั้งสาเหตุการตาย และมูลเหตุที่ทำให้เขาตาย เช่น หากเป็นการฆ่าตัวตาย อะไรเป็นมูลเหตุที่ทำให้ทำอย่างนั้น และต้องดูว่าการปฏิบัติผิดกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ 19 คน ว่าเรือนจำคลองเปรมมีอะไรต้องปรับปรุงหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะรายงานผลการสอบสวนให้ทราบในวันที่ 17 มีนาคมนี้
วันเดียวกัน พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ นำสื่อมวลชนบุกพิสูจน์ห้องขังที่เกิดเหตุพร้อมยืนยันไม่ใช่ห้องขังเดี่ยว ขณะที่ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท่วม ผู้ช่วย ผบ.ตร. เรียกประชุมตำรวจที่เกี่ยวข้องที่ สน.ประชาชื่น ก่อนเผยว่า จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด 2 ตัวที่อยู่หน้าห้องขังพบว่าการจะเข้าห้องขังจะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยไขกุญแจห้องทุกครั้ง ยืนยันไม่พบว่ามีผู้ใดเข้าออกจากห้องขัง
เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่เรือนจำให้การว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่เรือนจำได้พบอดีตผู้กำกับโจ้เสียชีวิตประมาณ 20.00 น. ขณะที่กำลังจะนำยาแก้เครียดไปให้ โดยเจ้าหน้าที่พยายามเรียกชื่อแต่ไม่มีการตอบรับ จึงก้มมองผ่านช่องประตู และพบว่าอดีตผู้กำกับโจ้นั่งอยู่ก่อนจะทำการเขย่า แต่ก็ไร้การตอบรับ จึงนำมือสอดเข้าไปปรากฏว่าพบผ้าที่คอที่ถูกผูกไว้กับกรงประตู เจ้าหน้าที่ได้รีบนำกรรไกรมาตัดออกแต่ตัดไม่ขาด จึงรีบวิ่งกลับไปนำคัตเตอร์มาตัดผ้าออกเพื่อช่วยชีวิต ซึ่งคำให้การกับภาพจากกล้องวงจรปิดก็สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ คดีการตาย และคดีการถูกทำร้ายร่างกาย จะทำไปควบคู่กัน ซึ่งการตายนั้นตำรวจตั้งไว้ 2 ประเด็น คือ ตายเองหรือถูกทำให้ตาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งกรอบระยะเวลาในการทำคดีนี้ไว้ 30 วัน เพื่อทำทุกอย่างให้กระจ่างแก่ประชาชน
สปอตไลน์ดวงใหญ่ส่องไปที่แดนสนธยาแล้ว ใช้โอกาสนี้สะสางปัญหาที่ซ้อนทับในระบบราชทัณฑ์ไทย ตั้งแต่การละเมิดสิทธินักโทษ จนถึงการขาดกลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ สังคมต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย และปรับปรุงสวัสดิการผู้ต้องขังอย่างแท้จริง
ไม่ให้เรือนจำกลายเป็นเพียงสถานที่ลงโทษคนผิด แต่ยังเป็นสถานที่ปรับปรุงพฤติกรรม เพื่อคืนคนดีสู่สังคมต่อไป



สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022