เดิมพันรอบใหม่ที่ยูเครน ของ ทรัมป์-อียูและรัสเซีย

บทความต่างประเทศ

 

เดิมพันรอบใหม่ที่ยูเครน

ของ ทรัมป์-อียูและรัสเซีย

 

“ตอนนี้ คุณไม่มีไพ่เหลืออยู่ในมือแล้ว” ว่ากันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกกับโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีแห่งยูเครนผู้มาเยือนในระหว่างการหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อไม่นานมานี้อย่างนั้น เพื่อแสดงนัยว่า อำนาจต่อรองของยูเครนจะกลับมามีใหม่อีกครั้ง ถ้าหากยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามวิธีการที่สหรัฐอเมริกาต้องการให้เป็นไป

หากอุปมาสงครามยูเครนเป็นวงไพ่ตาหนึ่ง ฝ่ายที่เสียเปรียบและอยู่ในสภาพ “มืออ่อน” ที่สุดย่อมเป็นยูเครน เมื่อทรัมป์แบะท่า แสดงออกให้เห็นว่า ทางการวอชิงตันไม่มีวันที่จะให้การสนับสนุนยูเครนต่อไปแบบไร้เงื่อนไขและไร้ขีดจำกัดได้แล้ว หากแต่ต้องการ “ผลตอบแทน” จากการ “ลงทุน” สนับสนุนยูเครนเรื่อยมา รวมทั้งการดำเนินการเพื่อยุติสงครามลงให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในครั้งนี้

การปะคารมกันอย่างเผ็ดร้อนที่ทำเนียบขาว ทำให้แม้แต่ไพ่ที่ดีที่สุดในมือยูเครนอย่าง “สินแร่หายาก” ก็ไม่สามารถนำออกมาต่อรองได้ เซเลนสกีกลับออกมาจากทำเนียบขาวโดยไม่ได้ลงนามในความตกลงใดๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับประกันความมั่นคงของยูเครนทั้งสิ้น

“สินแร่หายาก” มีนัยสำคัญต่อยูเครนอย่างยิ่งจริงๆ ตามข้อมูลของสหประชาชาติ ยูเครนมีแหล่งสำรองแร่หายากที่ทั่วโลกต้องการอยู่มากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของสินแร่หายากทั้งโลก ทั้งยังมีไทเทเนียม ซึ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องบินและอุตสาหกรรมทางทหารอื่นๆ อยู่ในระดับ “มีนัยสำคัญ” อีกด้วย

เมื่อไม่มีความตกลงเรื่องสินแร่หายาก ก็เป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะใช้อำนาจที่เหนือกว่า ไม่เพียงบีบบังคับให้ยูเครนยินยอมตามความต้องการของรัสเซียบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น

แต่ยังสามารถบีบให้ลงนามในความตกลงทางเศรษฐกิจใดๆ ได้อีกด้วย นี่คือเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์สั่งการให้ยุติการสนับสนุนด้านข่าวกรองต่อยูเครน

และเป็นเหตุผลที่ทำให้เซเลนสกีพยายาม “กลับลำ” เปลี่ยนท่าทีใหม่ หันมารอมชอมกับผู้นำอเมริกันในเวลาต่อมา

 

สําหรับรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ไม่เพียงเชื่อว่า ตัวเองถือไพ่ดีอยู่ในมือเท่านั้น แต่เวลาและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ยังเข้าข้างตนเองอีกด้วย เมื่อทรัมป์แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยว่าต้องการ “รีเซ็ต” ความสัมพันธ์กับรัสเซียเสียใหม่ ถึงขนาดลงมติในเวทีสหประชาชาติเข้าข้างรัสเซีย

กระนั้น ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ที่จะเป็นเพียงความคาดหวังของรัสเซียเพียงฝ่ายเดียว

เมื่อทรัมป์แสดงท่าทีล่าสุดออกมา ด้วยการข่มขู่รัสเซียผ่านโซเชียลมีเดียว่า กำลังไตร่ตรองอย่างแข็งขันต่อการแซงก์ชั่นและขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรต่อรัสเซีย เพื่อบีบให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา

ผู้เล่นรายสำคัญอีกรายในเดิมพันครั้งนี้คือ ยุโรป ที่กำลังเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร ในเมื่อสหรัฐอเมริกาแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า ต้องการถอนตัวออกจากการเป็นหลักประกันความมั่นคง

เป็นที่คาดการณ์กันว่ายุโรปคงพยายามเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการถอนตัวดังกล่าว

ไม่เพียงในกรณีของยูเครนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความมั่นคงและเสถียรภาพของยุโรปทั้งหมดอีกด้วย

ในการประชุมสุดยอดฉุกเฉนของสหภาพยุโรป (อียู) ที่บรัสเซลส์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบอนุมัติวงเงินกู้มหาศาล 150,000 ล้านยูโร เพื่อให้บรรดารัฐบาลในเครืออียูทั้งหลายหวนกลับมา “ติดอาวุธ” ตัวเองอีกครั้ง

และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดด้านการคลังตามข้อเสนอในที่ประชุมตามมาด้วย ก็อาจทำให้งบฯ ทางด้านการทหารของอียูโดยรวมพุ่งขึ้นสูงถึง 850,000 ล้านยูโรได้ในที่สุด

 

นอกจากนั้น บรรดาประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับรัสเซีย ก็พากันเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ นอร์เวย์ประกาศเพิ่มเงินช่วยเหลือต่อยูเครนในปีนี้ขึ้นเป็นเกือบ 8,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ประธานาธิบดีโปแลนด์ประกาศให้ชายชาวโปแลนด์ทุกคนเข้ารับการฝึกทหาร

ส่วน เอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เริ่มหารือกับบรรดาผู้นำชาติสำคัญในอียูว่าด้วยเรื่องความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้คลังแสงนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการ “ป้องปราม” ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากรัสเซีย เป็นหลักประกันใหม่ที่เพิ่มเติมจากพันธะเดิม (ซึ่งไม่รู้ว่าจะยังคงอยู่หรือไม่) ของสหรัฐอเมริกา

ความเคลื่อนไหวสุดท้ายที่น่าสนใจมากก็คือ บรรดาผู้นำชาติยุโรป กำลังหารือกันอย่างจริงจังว่า ควร “ยึด” ทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านยูโร ที่อยู่ภายใต้การอายัดในหลายประเทศในเวลานี้ได้แล้วหรือไม่ สำหรับนำไปใช้เพื่อยูเครนในกรณีที่มีความตกลงหยุดยิงกันเกิดขึ้น

ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ดูเหมือนว่า การเดิมพันระลอกใหม่กำลังเกิดขึ้น เค้าพนันรอบใหม่ เผยโฉมออกมาตามลำดับ

คำถามก็คือ ทรัมป์เต็มใจที่จะลงเดิมพันมากน้อยแค่ไหนและเพื่ออะไร แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถบรรลุข้อตกลงยุติสงครามที่เป็นธรรมและยืนนานได้

ยุโรปเอง จริงๆ แล้วต้องการอะไรจากการปฏิรูปและหวนกลับมาติดอาวุธใหม่ ที่อาจหมายรวมถึงการส่งกองกำลังเข้าไปในยูเครนและใช้เครื่องบินขับไล่ของตนเองปกป้องน่านฟ้าที่นั่น

เช่นเดียวกัน ปูตินเล่า พร้อมที่จะยอมรามือ อ่อนข้อประการหนึ่งประการใดให้กับฝ่ายตรงข้ามบ้างแล้วหรือยัง

เดิมพันรอบใหม่นี้ ไม่เหลือเวลาให้บลัฟฟ์กันเล่นอีกต่อไปแล้ว เพราะแค่เลือกผิดเพียงครั้งเดียว มหาสงครามพร้อมระเบิดติดตามมาทันที