ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | จารุวิชญ์ สิงคะเนติ |
เผยแพร่ |
MatiTalk ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์
สำรวจภูมิรัฐศาสตร์
ไทยในระเบียบโลกใหม่
ต้องรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจ
ในปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะกระทบต่อโลกทั้งหมด
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาให้มุมมองต่อสถานการณ์นี้ผ่านรายการ MatiTalk ของมติชนสุดสัปดาห์
ผศ.ดร.มาโนชญ์บอกว่า ด้านหนึ่งเราเห็นว่าโลกมีหลายขั้ว โดยที่มีจีน รัสเซียผงาดขึ้นมา ในขณะที่ยุโรปก็มีกลุ่มเดิมของตัวเองอยู่แล้ว และสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้น มีตัวละครที่เป็นมหาอำนาจเพิ่มมากขึ้น
และในด้านหนึ่งเราเห็นนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตัวแสดงหลักของโลกมีลักษณะที่ค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก การแสดงท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อสงครามยูเครนที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน และพยายามจะบอกว่ายูเครนไม่มีทางที่จะชนะรัสเซียได้
เท่ากับว่าด้านหนึ่งสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับในความเป็นมหาอำนาจของรัสเซียระดับหนึ่ง หากย้อนไปประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา รัสเซียพยายามบอกตลอดว่าวันนี้โลกตะวันตกต้องยอมรับว่าไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางของโลกหรือจัดระเบียบโลกได้แต่ฝ่ายเดียว ต้องยอมรับบทบาทของมหาอำนาจใหม่อย่างรัสเซียด้วย
ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณยอมรับโลกหลายขั้ว นอกจากรัสเซียแล้ว สหรัฐอเมริกายังต้องให้ความสำคัญกับจีนในฐานะคู่แข่งที่กำลังผงาดขึ้นมา แต่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะเป็นการแข่งขันกันในเรื่องของเศรษฐกิจ-การค้าและเทคโนโลยีมากกว่า
เพราะฉะนั้น สิ่งนี้จะกระทบต่อโลก ประเทศต่างๆ หลังจากนี้อาจจะต้องตัดสินใจ อาจจะต้องเลือกที่จะพึ่งพิงความช่วยเหลือระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอย่างไร หรือสิ่งเหล่านี้จะสามารถดำเนินไปควบคู่กันได้ไหม รับการสนับสนุน เจริญความสัมพันธ์กับทั้งคู่ได้ไหม หรือว่าต่อไปในอนาคตอาจจะต้องถูกบีบให้เลือกมากขึ้น ส่วนนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล
ถ้าเรามาดูนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างที่จะชัดเจนว่าไม่ต้องการที่จะไปสานสัมพันธ์หรือเจรจากับประเทศต่างๆ ในลักษณะของพหุภาคี แต่เน้นการพูดคุยต่อรองแบบทวิภาคี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า ความมั่นคงใดๆ ก็ตาม
ดังนั้น การขึ้นมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยนโยบายแบบนี้มันปรับเปลี่ยนดุลอำนาจของโลกพอสมควร
หลายคนก็มองว่านโยบายที่โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ในขณะนี้มีลักษณะที่เป็น Neoisolationism คือเป็นลัทธิโดดเดี่ยวนิยมใหม่ ต้องการที่จะโดดเดี่ยวตัวเองออกจากโลกระดับหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ว่าคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตัวเองที่มีอยู่ในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง เป็นผลประโยชน์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับนานาประเทศ ตรงนี้มันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ซึ่งผมคิดว่าอนาคตโลกในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการปรับสมดุลที่มีมหาอำนาจหลายฝ่าย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของแต่ละภูมิภาคที่มีบริบทไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่จะต้องหาแนวทางในการสร้างระเบียบในภูมิภาคของตัวเองขึ้นมาว่าจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
บางภูมิภาคเราเห็นชัด อย่างเช่น ตะวันออกกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้มีลักษณะทางภูมิศาสตร์แบบหนึ่งที่อิงแอบและพึ่งพิงอยู่กับสหรัฐอเมริกาและตะวันตกอย่างมาก อิทธิพลของฝั่งรัสเซียและอิหร่านค่อนข้างที่จะจำกัด
แต่ว่าปัจจุบันภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน ปรากฏว่าตะวันออกกลางเริ่มขยับถอยห่างจากสหรัฐอเมริกา แล้วมาสานสัมพันธ์กับจีน รัสเซียมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะจับมือกันลดความขัดแย้งที่ผ่านมา เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับระเบียบโลกใหม่ สามารถที่จะร่วมกำหนดทิศทางในอนาคตได้ ส่วนบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราแข่งขันกันในเรื่องของเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่มหาอำนาจก็พยายามที่จะขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้
ดังนั้น โจทย์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่แต่ละประเทศจะต้องร่วมกันหาแนวทางในการรับมือกับระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
แนวโน้มเกิดสงคราม
ผศ.ดร.มาโนชญ์มองว่า ตอนนี้โลกอยู่ในช่วงของการปรับดุลอำนาจและภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ซึ่งเราเริ่มเห็นมันชัดขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว มันกำลังเซ็ตตัวมันเองอยู่ แต่ว่าหลังจากนี้สิ่งที่เราจะเห็นก็คือสงครามในแต่ละที่ที่ปะทุขึ้นมาอย่างกรณีของรัสเซีย-ยูเครน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็พยายามที่จะกดดันผลักดันให้จบ
หรือกรณีของอิสลาเอล-ฮามาส หรือภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรวม ทรัมป์กำลังผลักดันให้มีการหยุดยิง
แต่ว่าที่สำคัญก็คือว่า การปรับเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองในยุโรป ในตะวันออกกลางมันเปลี่ยนไปแล้ว
นาโตก็เห็นชัดว่าไม่ต้องการที่จะรับยูเครนและไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง หันมาใช้วิธีการที่ว่าหลังจากนี้เรามาสมัครใจกัน ใครอยากจะช่วยยูเครนก็เข้ามาร่วมกัน ไม่ใช่ทำในนามของนาโต
ดังนั้น ถ้าเรามองอนาคตของโลกหลังจากนี้ผมคิดว่าภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์โลกที่เป็นฮอตสปอตต่างๆ จะเบาลงระดับหนึ่ง
แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกหลังจากนี้ในระยะ 2-3 ปีมันจะไม่รุนแรงขึ้นมา
มันอาจจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่มีการปรับสมดุลอำนาจกันแล้วมันก็จะมีฝ่ายที่เป็นฝ่ายที่มีอิทธิพล มีอำนาจขึ้นมา และฝ่ายที่ต้องการที่จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม
ไทยรักษาสมดุลระหว่างขั้วอำนาจได้ดีแค่ไหน
ประเทศไทยกำลังเดินนโยบายต่างประเทศที่พยายามจะสร้างสมดุลกับมหาอำนาจต่างๆ แต่ผมมองว่ามันยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากว่าในการวางตัวเป็นกลางในแบบของไทยนั้น คือ การเอาใจฝั่งนั้นที เอาใจฝั่งนี้ที มันคล้ายๆ กับกรณีของศรีลังกา ที่ช่วงหนึ่งเอียงไปทางตะวันตก รับความช่วยเหลือจากตะวันตก แต่บางช่วงก็เอียงไปทางจีนเต็มที่
จนสุดท้ายเกิดปัญหาขึ้นในศรีลังกา มันหาทางออกยาก แทนที่มหาอำนาจจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ แต่กลับเป็นว่าไม่อยากเข้ามาช่วยอะไรศรีลังกา เพราะมองว่าประเทศศรีลังกาอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมหาอำนาจมองศรีลังกาแบบนั้น สิ่งนี้อันตราย
ดังนั้น การวางตัวเป็นกลาง จำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับในความเป็นกลางของเรา ไม่ใช่ยอมรับว่าเราอยู่ฝ่ายเขาหรือเราอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางไม่ใช่การตอบสนองผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย
แต่คือการตัดสินใจรักษาสมดุล (Balance) ผลประโยชน์ของเรากับทั้งสองฝ่ายมากกว่า อันนี้สำคัญ
หากมองกรณีสำคัญของโลก 3 กรณี เช่น กรณีแรก กรณีของรัสเซีย-ยูเครน เราต้องวางตัวอย่างมียุทธศาสตร์และมีจุดยืน ในเวทีระหว่างประเทศ หรือ UN เรายึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเราเป็นประเทศขนาดกลาง การยึดหลักของกฎหมายสากลจะเป็นเกราะป้องกันเราอย่างดี ผมคิดว่าเราวางตัวได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง
ส่วนกรณีของอิสราเอล-ฮามาส หลายๆ กรณีเราอาจจะถูกมองจากโลกอาหรับ ว่าเราเอนเอียงไปทางอิสราเอลหรือไม่อย่างไร และด้วยระดับความสัมพันธ์ทางการทูต การตัดสินใจของรัฐบาล เช่น การส่งแรงงานไปยังอิสราเอล รัฐมนตรีแรงงานท่านกลับเพิ่มจำนวนเหมือนกับว่าเป็นผลงาน
แต่การส่งแรงงานไปทำงานในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ยึดครองของอีกรัฐหนึ่ง อันนี้เป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการสากลหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน
การที่เราส่งแรงงานของเราไปเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่ไม่มีใครเขาไปทำงานกัน เพื่อพยุงเศรษฐกิจของอิสราเอล อาจจะถูกมองว่าเลือกข้าง
กรณีสุดท้าย การส่งอุยกูร์กลับไปให้จีน ซึ่งแน่นอนว่าทางเลือกที่เป็นไปได้มี 2 ทางคือการส่งไปประเทศที่ 3 ซึ่งตัวของรัฐบาลก็ต้องอธิบายแสดงหลักฐานให้ชัดว่าไม่มีประเทศที่ 3 ยอมรับตัวไปก็ต้องทำให้มันชัดในแง่ของหลักฐานตรงนี้
หรือการส่งกลับไปประเทศต้นทางก็ต้องชัดว่าอะไรที่เป็นหลักฐานว่าเขากลับไปโดยสมัครใจทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธไม่อยากจะกลับ
ถ้าไม่ทำให้ชัดเราจะถูกมองว่าเราไม่เป็นกลาง เราเลือกจีนมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะไปใช้วิธีการเอาใจอีกฝั่งคือตะวันตก เพื่อให้เห็นว่าเราอยู่กับเขาด้วย
ผมคิดว่าเป็นวิธีที่เสี่ยงที่เราจะบอกว่าเราเอาใจทุกฝ่ายทีละเรื่องๆ ไป มันจะคล้ายกับกรณีของศรีลังกาในอนาคต ถ้าเราเกิดภาวะวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านความมั่นคง มันจะซ้ำเติมปัญหา เมื่อมหาอำนาจแต่ละฝ่ายมองว่าเราไม่จริงใจกับเขา แล้วเราไม่มีความเป็นกลางพอ มือที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือในยามวิกฤตมันจะมาไม่ถึง
ประเด็นที่ผมคิดว่าในอนาคตไทยอาจจะต้องลองดูนโยบายด้านการต่างประเทศที่มันมีลักษณะที่เป็นตัวของตัวเองและได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องมาจากรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนและการสนับสนุนจากมวลชนที่เข้มแข็ง
ชมคลิป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022