ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
‘บิ๊กป้อม’ นำทัพซักฟอก
ฟื้นเรตติ้ง ‘พลังประชารัฐ’
กล้าธรรม-เพื่อไทย ‘เห็นต่าง’
เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เต็มไปด้วยสารพัดปัญหาและอุปสรรคนานัปการ
ก่อนหน้านี้ หลังจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย “หัวหน้าเท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำรายชื่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 166 คน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ล็อกเป้าถล่ม “นายกฯ อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว
เดิมทีพรรคประชาชนวางเป้าซักฟอก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวม 10 คน แต่ท้ายที่สุดทีมยุทธศาสตร์ของพรรคสับขาหลอกเปลี่ยนแผน เนื่องจากเกิดกรณีข้อสอบรั่ว เกลือเป็นหนอนภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นพรรคใดที่แอบส่งการบ้าน รายชื่อรัฐมนตรี 10 คน รวมถึงพฤติการณ์ต่างๆ ของรัฐมนตรีที่ถูกจับขึ้นเขียงไปให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ ช่วงบ่ายวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เสมือนเป็นการปล่อยข่าวส่งซิกไปให้รัฐบาลล่วงหน้าก่อนที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติในวันที่ 27 กุมภาพันธ์
และจากกรณีที่ฝ่ายค้านส่งสัญญาณขอเวลาในการอภิปรายไป 5 วัน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่ทางรัฐบาลกลับไม่สนใจ กลับจะหั่นเวลาการอภิปรายเหลือเพียงไม่กี่วัน ทางทีมยุทธศาสตร์จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผน จัดหนักนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
เบื้องต้นมีการส่งสัญญาณมาแล้วว่ารัฐบาลวางคิวเริ่มอภิปรายได้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เป็นต้นไป ส่วนกรอบระยะเวลาสรุปแล้วจะเป็นกี่วันนั้น คงต้องรอดูผลการหารือของวิป 3 ฝ่ายอีกครั้ง
แต่ทว่า กลับมีอีกหนึ่งปัญหาเกิดขึ้น เมื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ให้ตัดชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากเนื้อหาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเห็นว่าการระบุรายชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติอาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ถูกพาดพิงไม่สามารถเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงในที่ประชุมสภาได้
สอดคล้องกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งแสดงท่าทีเห็นด้วยกับประธานสภา เพราะเชื่อว่าการตัดชื่อของอดีตนายกฯ ทักษิณ ออกจากญัตติ จะช่วยลดแรงปะทะ แรงอารมณ์และความวุ่นวายจากการประท้วงกันไปมาระหว่างการอภิปราย เสมือนเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม
แต่ฟากฝ่ายค้านกลับไม่เห็นด้วย ยืนยันที่จะไม่ตัดชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมกับส่งหนังสือข้อโต้แย้ง เนื่องจากมองว่าประธานสภาไม่มีอำนาจสั่งลบชื่อ เป็นการตีความกฎหมายที่ลุแก่อำนาจ อีกทั้งข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ.2562 มิได้มีข้อห้ามมิให้ระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติ
ดังนั้น การระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาของญัตติ จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาแต่อย่างใด อีกทั้งอดีตที่ผ่านมา ญัตติที่เสนอต่อประธานสภาหลายญัตติ ก็มีการระบุชื่อของบุคคลภายนอกได้
จนกระทั่งล่าสุดช่วงกลางสัปดาห์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มอบหมายทีมสำนักประชุม สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายกฎหมาย และสำนักประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงรายละเอียดและข้อกฎหมายเกี่ยวกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหากฝ่ายค้านไม่แก้ญัตติ แนวโน้มที่ญัตติจะไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาก็เป็นไปได้สูงเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดคำถามและข้อสงสัยว่าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะเกิดขึ้นทันภายในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ถ้าหากปัญหายังคาราคาซัง ยืดเยื้ออยู่เช่นนี้ ผลที่ตามมาย่อมมีแต่ข้อสงสัยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา
ยิ่งศึกซักฟอกครั้งนี้ เป็นการอภิปรายครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งบริหารประเทศ ประชาชนย่อมจับตามองและเฝ้าติดตามรอดูว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน
โดยเฉพาะพรรคประชาชน จะมีข้อมูลเด็ดเอามาน็อกรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน
อีกทั้งความน่าสนใจของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งถูกพรรคเพื่อไทย (พท.) เขี่ยให้มาเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก ประกาศว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะนำทัพ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เข้าสภา และจะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง
เพื่อฟื้นคืนเรตติ้งพรรคพลังประชารัฐให้กลับมามีที่ยืนทางการเมืองอีกครั้ง
ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนและสังคม ต่างให้ความสนใจและเฝ้าติดตามรอดูว่า ศึกซักฟอกรัฐบาลครั้งนี้ “บิ๊กป้อม” ในฐานะบทบาทพรรคฝ่ายค้าน จะโชว์ฝีไม้ลายมือ อภิปราย “นายกฯ อิ๊งค์” ได้เข้มข้นและดุเดือดมากน้อยเพียงใด
โดยพรรคพลังประชารัฐวางกรอบประเด็นไว้เบื้องต้น 4 ประเด็น คือ กรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เอ็มโอยู 2544 เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และกรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะอภิปรายในภาพรวม จากนั้น ส.ส.ของพรรคจะอภิปรายลงรายละเอียดเนื้อหา โดยศึกซักฟอกครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่าจะทำให้นายกรัฐมนตรีมีความหวั่นไหว และมีผลกับความมั่นคงของตัวนายกรัฐมนตรีได้อย่างแน่นอน
แน่นอนว่า พลันที่พรรคพลังประชารัฐประกาศว่า “บิ๊กป้อม” จะเปิดหน้าร่วมเวทีซักฟอกในครั้งนี้ อดีตคนเคยใกล้ชิดอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ออกมาส่งสัญญาณว่า “ในฐานะที่เคยใกล้ชิด ถ้าผมยังอยู่ ผมคงไม่ให้ท่านอภิปราย”
และ “ถ้าคนรักท่าน ก็ต้องรักท่านจริงๆ”
ฟากพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล แจ้งว่า ทราบมาแล้วว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะลุกขึ้นอภิปรายเรื่องอะไร เพราะมีคนส่งข้อมูลให้แล้ว
ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ระบุว่า จะรอดูการอภิปรายของ “บิ๊กป้อม” เพราะเคยอยู่สภา เท่าที่เคยเห็น 4 ปีท่านอภิปรายได้แค่ 2 วินาที แต่ครั้งนี้เห็นว่าจะยืนเป็นชั่วโมง
อย่างไรก็ดี หาก “บิ๊กป้อม” ร่วมเวทีอภิปรายในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ทางการเมือง และคาดว่าทำให้สีสันของเวทีซักฟอก น่าติดตามมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้มากบารมีทางการเมืองของประเทศ นำทัพขุนพล ส.ส.จากพลังประชารัฐ มาร่วมเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯ อิ๊งค์” บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ฉะนั้น จึงต้องรอติดตามกันดูว่า “บิ๊กป้อม” จะโชว์ลีลา ฝีไม้ลายมือได้เข้มข้นมากแค่ไหน และข้อมูลที่เตรียมซักฟอกจะเด็ดพอทำให้เสถียรภาพรัฐบาลของ “นายกฯ อิ๊งค์” ต้องสั่นสะเทือนหรือไม่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022