Geopolitics vs. Geoeconomics : มิติที่แยกกันไม่ได้ของการแข่งขันสหรัฐ-จีน และบทบาทของ Middle Powers (ตอนที่ 2 Harvard)

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

บทความพิเศษ | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

Geopolitics vs. Geoeconomics

: มิติที่แยกกันไม่ได้ของการแข่งขันสหรัฐ-จีน

และบทบาทของ Middle Powers

(ตอนที่ 2 Harvard)

 

ต่อจากตอนที่ที่แล้วที่เป็นการสำรวจศักยภาพคนไทยและอัพเดตสถานการณ์โลกผ่านการเดินทางตามมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ

ตอนที่สองเป็นเรื่องรวบรวมที่ผมไปพบเจอมาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวมถึง Harvard business school Harvard Kennedy school Harvard Education School

โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นของเกมอำนาจ

: จาก Geopolitics สู่ Geoeconomics

โลกของเราเคยเข้าใจ Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์การเมือง) ว่าเป็นเกมแห่งอำนาจที่เล่นกันผ่านการทหาร การทูต และอิทธิพลทางการเมือง แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สงครามเย็นระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ได้ใช้เพียงกองทัพ เรือรบ หรือเครื่องบินรบอีกต่อไป

แต่มันแปรเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่ซับซ้อนกว่านั้น

มันคือสงครามเศรษฐกิจ มันคือ Geoeconomics

การควบคุมเทคโนโลยี การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม การช่วงชิงอำนาจเหนือเซมิคอนดักเตอร์ และการครอบครองทรัพยากรสำคัญ (critical minerals) กลายเป็นเครื่องมือใหม่ของการแข่งขันระดับโลก

มันไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศมหาอำนาจอีกต่อไป แต่กลุ่ม Middle Powers หรือ “อำนาจระดับกลาง” อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ต่างก็ถูกดึงเข้าสู่เกมนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อ Geopolitics เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ Geoeconomics คือปลายทาง

หนึ่งในคำถามที่ทุกคนสงสัยคือ :

ถ้าทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จะเกิดอะไรขึ้นกับอินโด-แปซิฟิก?

ผมได้เข้าร่วมเสวนาที่ Harvard Kennedy School (HKS) และ Harvard Business School (HBS) ในหัวข้อที่เกี่ยวกับ “Geopolitics ของอินโด-แปซิฟิก” แต่ผมเริ่มต้นด้วยการบอกผู้ฟังว่า

“ชื่อของพาเนลนี้ผิดไปแล้ว!”

เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่แค่ Geopolitics แต่มันคือ Geopolitics & Geoeconomics

– มันคือสงครามด้านเทคโนโลยี

– มันคือการแข่งขันเพื่อกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม

– มันคือสงครามเซมิคอนดักเตอร์ & ชิพ

– มันคือการควบคุมทรัพยากรสำคัญ (Critical Minerals)

การแข่งขันในอินโด-แปซิฟิกตอนนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูต แต่มันคือการกำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21

1.มุมมองของภาคเอกชนต่อ Geoeconomics และบทบาทของธุรกิจ

ที่ Harvard Business School (HBS) ผมได้เข้าร่วมเสวนาเกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนในโลก Geoeconomic War โดยเฉพาะจากมุมมองของนักธุรกิจในอินโดนีเซียและอาเซียน สิ่งที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนครั้งนี้คือ

– Decoupling & De-risking : ภาคเอกชนกำลังเผชิญกับแรงกดดันของการแยกตัวระหว่างจีน-สหรัฐ พวกเขาต้องหาทางลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

– Supply Chain Resilience : ประเทศใน ASEAN ต้องสร้างความยืดหยุ่นให้กับซัพพลายเชนของตนเอง โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนามที่กำลังได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

– การแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม : ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องเลือกว่าจะเป็นเพียง “โรงงานของโลก” หรือจะพัฒนาไปสู่ “ศูนย์กลางนวัตกรรม”

2.การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกผ่านมุมมองของสิงคโปร์และออสเตรเลีย

ที่ Harvard Kennedy School (HKS) ผมได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการและอดีตนักการทูตจากสิงคโปร์และออสเตรเลีย ในประเด็น “Middle Powers จะปรับตัวยังไงในโลกที่มหาอำนาจแข่งขันกันมากขึ้น?”

Key Takeaways :

– สิงคโปร์ : มองว่าการแข่งขันจีน-สหรัฐ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นโยบายของตนต้องเน้น “Agility & Adaptability”

– ออสเตรเลีย : แม้เป็นพันธมิตรของสหรัฐทางด้านความมั่นคง แต่เศรษฐกิจของออสเตรเลียพึ่งพาการค้ากับจีนอย่างสูง ดังนั้น ต้อง “เดินเกมสมดุล” ให้ดี

– อินโด-แปซิฟิกกำลังเข้าสู่ Multipolar Order : ไม่ใช่แค่จีน vs. สหรัฐ แต่ยังมีบทบาทของอินเดีย ญี่ปุ่น และ ASEAN

3. ความเปราะบางของการเมืองภายในและผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศ

แน่นอนว่าเรื่องการแข่งขันของมหาอำนาจไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วแต่ทำไมประเทศขนาดกลางที่ต้องการจะกระจายความเสี่ยงออกจากมหาอำนาจทั้งในเรื่องความมั่นคงและเรื่องเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้เสียทีหนึ่ง นั่นคงเป็นเพราะนโยบายการต่างประเทศนั้นเกี่ยวพันกับนโยบายในประเทศโดยตรง

ในขณะที่การเมืองในประเทศของหลายๆ ประเทศนั้นระส่ำระสาย ไม่สามารถมีสมาธิพอที่จะมานั่งคิดถึงการกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศมหาอำนาจ

ศาสตราจารย์ Daniel Ziblatt (ผู้เขียน How Democracies Die) ได้กล่าวบนเวทีข้างๆ ผมว่า

“จากการเลือกตั้ง 19 ครั้งที่ผ่านมา มีเพียง 2 ครั้งที่ผู้นำชนะเลือกตั้งซ้ำ”

ผู้คนเบื่อหน่ายผู้นำซ้ำซากจำเจ

นั่นหมายความว่า ความไม่แน่นอนของการเมืองภายใน ส่งผลโดยตรงต่อนโยบายต่างประเทศ สำหรับประเทศอาเซียนรวมถึงประเทศไทยที่พยายามจะเชื่อมต่อกับประเทศขนาดกลางนอกเหนือจากสหรัฐและจีน ทั้งๆ ที่ก็มีความพยายามต่อเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกกับประเทศที่มีศักยภาพหรือประวัติศาสตร์ร่วมกันเหล่านั้น อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ต่างมีนโยบายกับภูมิภาคอาเซียนของแต่ละประเทศ

แต่ทว่า :

– ญี่ปุ่น -> นายกรัฐมนตรีก็มีเสียงในสภาไม่ค่อยมั่นคง

– เกาหลีใต้ -> ประธานาธิบดียูน ถูกถอดถอนและเพิ่งออกมาจากเรือนจำ

– ออสเตรเลีย -> กำลังจะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ และดูเหมือนว่าโพลของรัฐบาลจะไม่ค่อยสู้ดีนัก

สุดท้ายแล้ว นโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศไม่ได้ถูกกำหนดโดยมหาอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นผลผลิตของการเมืองภายใน ซึ่งอาจทำให้พันธมิตรบางประเทศไม่สามารถวางยุทธศาสตร์ระยะยาวได้

ระเบียบโลกใหม่คือโลกไร้ระเบียบ ความกดดันจากนอกประเทศและในประเทศรุมเร้า ประเทศกลุ่ม Middle Powers กระจายความเสี่ยงทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ ช้าเกินไป น้อยเกินไป สายเกินไป แล้วผู้นำจะแก้เกมนี้อย่างไร?

นี่คือโจทย์ที่ทุกประเทศต้องคิด!