ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน
ถอดสูท ปลดไท้ ลดโลกร้อน
ก่อนหน้านี้ หากมีใครใส่กางเกง Slacks สามส่วน สวมเสื้อยืด รองเท้า Sneakers เข้าไปในล็อบบี้โรงแรม หรือร้านอาหารหรูๆ จะรู้สึกได้ถึง “รังสีดูแคลน”
ผ่านมาอีกยุคหนึ่ง แม้จะใส่เสื้อยืด-กางเกงยีนส์-รองเท้าผ้าใบ แต่ถ้า “ใส่สูท” ก็อาจมีคนต้อนรับ แม้ว่าสถานที่บางแห่งจะอู้ฟู่หรูหราปานใดก็ตาม
และมาถึงยุคนี้ การ “ไม่ใส่สูท” ไปยังสถานที่หลายแห่ง กลายเป็นข้อตกลงร่วมสมัย เป็น Trend ใหม่ที่เข้ากับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดโลกร้อน
การงดใส่สูทในยุคนี้ นอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการแต่งกาย และการเข้าสังคม ไม่ต้องทนร้อน และอึดอัดเหมือนยุคก่อน
ย้อนกลับไปดู “วัฒนธรรมสูท” เมื่อ 400 ปีก่อน ที่สูทเป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูง และขุนนางในฝรั่งเศส โดยสูทตัวนอกจะยาวลงมาถึงเข่า ปลายแขนเสื้อกว้าง
อังกฤษนำเข้าสูทต่อมาจากฝรั่งเศส กลายเป็นเครื่องแบบของขุนนางศาลอังกฤษในยุคพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 จนกระทั่งถึงยุครีเจนซี่ในศตวรรษที่ 19
จอร์จ ไบรอัน “โบ” บรัมเมลล์ ได้บุกเบิก และปรับชุดสูทให้ดูทันสมัยมากขึ้น ทำให้สูทฟู่ฟ่ามากยุคแจ๊ซ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการอวดความร่ำรวยของเศรษฐีใหม่ในอเมริกา
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำผ้าขนสัตว์ และผ้า Tweed รวมถึงผ้าหนาต่างๆ ไปตัดเครื่องแบบทหาร จนผ้าที่ใช้ในการตัดสูทขาดตลาด
ร้านตัดสูทยุคนั้นจึงหันไปใช้ผ้า Rayon Spun และลดความเนี้ยบ จากสูทสามชิ้น เหลือเพียงแค่สองชิ้น เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงในยุคนั้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สูทก็กลับมามีบทบาทมากขึ้น โดยนิยมสูทโทนเข้มใส่คู่กับเชิ้ตขาว เน็กไทเข้ม นำโดย Elvis Presley กับแจ๊กเก็ตสูทสวมทับเสื้อโปโล
จากนั้น แฟชั่นสูทได้เปลี่ยนแปลงมาตามกาลเวลา จนกระทั่งถึงยุคมิลเลนเนียล ที่ Gen Y รวมถึง Gen X มีทางเลือกเรื่องสูทมากขึ้นกว่าเดิม
สูทที่เคยหลวมโคร่ง ถูกปรับแต่งให้เข้ารูปมากขึ้น บางครั้งสูทกับกางเกงใช้คนละสี แถมยังมีการแหกกฎสูท โดยใส่สูทกับเสื้อยืด และรองเท้า Sneakers
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง COVID ได้ทำลายวัฒนธรรมการใส่สูท จากสัญลักษณ์ของผู้ดี และคนมีฐานะ กลายเป็นแฟชั่นที่ล้าสมัย และไม่เป็นที่ต้องการของคน Gen ใหม่
Marks & Spencer ถึงกับประกาศว่า จะไม่ขาย “สูทผู้ชาย” ในร้านค้ากว่า 100 สาขาอีกต่อไป เนื่องจาก Trend การสวมสูทลดลง แต่เสื้อลำลองเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากนี้ไป Marks & Spencer จะขายสูทผู้ชายเฉพาะในร้านใหญ่ๆ เพียง 110 สาขาเท่านั้น จาก 254 สาขาทั่วโลก เหตุผลที่เลิกขายสูทก็คือ รสนิยมผู้คนเปลี่ยนไป
ข้อมูลจาก Kantar Group บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ชี้ว่า ยอดขายสูทผู้ชายในอังกฤษได้ลดลงประมาณ 2.3 ล้านชุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ยอดขายในปี ค.ศ.2024 ผู้ชายอังกฤษซื้อสูทเพียง 2 ล้านชุด เทียบกับที่เคยซื้อ 4.3 ล้านชุดในช่วงเดียวกันของปี ค.ศ.2017
ยอดขายสูทผู้ชายของ Marks & Spencer ลดลงมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 โดยลดลงประมาณ 7% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ COVID-19 ระบาด
ที่ทำให้หนุ่มๆ ชาวอังกฤษ ต้องทำงานอยู่กับบ้าน (Work from Home) มากขึ้น โดยมียอดขายสูทเพียง 7,500 ชุด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 80%
ในทางตรงกันข้าม ยอดขายกางเกงขาสั้น และกางเกงออกกำลังกาย กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายร้านต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ความต้องการสูทได้กลับมาหลัง COVID แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น Marks & Spencer ได้หันไปเน้น Smart Wear
Smart Wear คือเสื้อผ้าที่แยกกันใส่ได้ ง่ายต่อการสวมใส่ และมีสไตล์ที่สามารถใส่ได้ในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายโอกาส และอาจมีสูทอยู่ด้วย
Kantar Group ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของสูทผู้ชาย ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากที่มีมูลค่า 534 ล้านปอนด์ และเหลือ 469 ล้านปอนด์ใน 5 ปีต่อมา
และลดลงเหลือเพียง 159 ล้านปอนด์ โดยยอดขายสูทผู้หญิงก็ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน คือเหลือ 500,000 ชุด เทียบกับ 600,000 ชุดในปี ค.ศ.2017
“ญี่ปุ่น” ประเทศที่เคยใส่สูทอย่างบ้าคลั่ง ได้ออกมาตรการประหยัดพลังงานรับหน้าร้อน ด้วยการรณรงค์เลิกผูกไท้ใส่สูท เริ่มจากคณะรัฐมนตรีลงมาถึงประชาชน
ได้ขอให้คนทำงานลดความเต็มยศของเครื่องแต่งกาย เพื่อนำไปสู่การลดการใช้เครื่องปรับอากาศ (ลดค่าไฟ) เป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงาน ลดคาร์บอน
รัฐมนตรีจึงเลิกผูกไท้ใส่สูทกันหมด โดยข้าราชการ และพนักงานบริษัท ก็จะเลิกใส่สูทผูกไท้ เพราะเห็นว่า เจ้านายของพวกเขาได้ปฏิบัติตนให้ดูเป็นตัวอย่าง
การเลิกผูกไท้ใส่สูทในฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง จะช่วยประหยัดพลังงานไปได้มากโข เพราะจะทำให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ลดค่าไฟ และลดคาร์บอน
ต้องยอมรับว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อากาศช่วงฤดูร้อนของเมืองใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น เช่น โตเกียว และโอซากา ถือว่าค่อนข้างร้อน หิมะฤดูหนาวก็มาน้อย และมาช้า
เน็กไทที่ผูกแน่นติดกับคอเสื้อเชิ้ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สูทที่ทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์ หรือขนสัตว์แท้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ในช่วงที่อากาศร้อน
ทุกคนรู้ดีว่า การผูกไท้ใส่สูท ทำให้ต้องมีการปรับอุณหภูมิแอร์ให้อยู่ในระดับต่ำมากตลอดทั้งวัน เพื่อทำให้คนที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศรู้สึกเย็นสบาย
เช่นเดียวกับบ้านเรา ที่เคยมีนโยบายขอความร่วมมือเลิกผูกไท้ใส่สูท หันไปสวมใส่เสื้อผ้าโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี เพื่อช่วยค่าไฟ และลดโลกร้อน
เป็นกิจกรรมดีๆ ที่มีชื่อไพเราะว่า “อุณหภูมิสบาย แต่งกายสุภาพ ลดภาวะโลกร้อน คนไทยหัวใจสีเขียว” เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนไทยร่วมมือกันลดโลกร้อน
เช่น ใส่เสื้อผ้าฝ้าย หรือผ้าไทย ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือสวมแค่เสื้อโปโล และเสื้อยืดที่มีตราสัญลักษณ์ขององค์กร
เลิกการผูกไท้ใส่สูท ที่ต้องมีการใส่เสื้อผ้าหลายชิ้น และหลายชั้น แต่เครื่องแต่งกายแบบใหม่จะต้องสุภาพ ถูกกาลเทศะ หรือใครจะสวมสูทมาทำงานก็ไม่ขัดข้อง
แต่จะมีการปรับเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ จาก 25 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 27 องศา เพื่อประหยัดพลังงาน เพราะทุก 1 องศา สามารถช่วยลดโลกร้อนได้
เพราะการเปิดแอร์ต้องใช้พลังงานมากถึง 30%-50% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้น จึงควรปรับอุณหภูมิแอร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
จะทำให้ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะชั้นบรรยากาศจะกักเก็บรังสีความร้อนมากขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยจึงสูงขึ้น
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสวมใส่เสื้อผ้า นอกจากจะทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายแล้ว ยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
เพราะการสวมใส่เสื้อผ้าที่มาก และหนาเกินไป จะส่งผลให้ ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารสำนักงานยิ่งมีสูงขึ้นนั่นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022