ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
บทบาท ความหมาย
ของ จดหมายเหตุ สยามไสมย
ช่องระบาย ทางสังคม
ในมุมมองของ กุลลดา เกษบุญชู คำกราบบังคมทูลของบรรดาเจ้านายและข้าราชการเป็นตัวอย่างของคำวิจารณ์จากภายในระบบราชการ ในขณะที่วารสาร “จดหมายเหตุสยามไสมย” เป็นพื้นที่แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์จากภายนอกระบบราชการ
วารสารฉบับนี้ตีพิมพ์โดย “หมอสมิท” ระหว่าง พ.ศ.2424-2428 (ค.ศ.1881-1885)
เพื่อเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา และพร้อมกันนั้นก็วิพากษ์วิจารณ์ นโยบายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างรุนแรงด้วย
วารสารนี้นำเสนอแนวคิดเรื่องชาตินิยมที่แตกต่างอย่างยิ่งจากแนวทางที่นำเสนอโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกลุ่มผู้ถวายคำกราบบังคมทูล
ทั้งได้บ่มเพาะความคิดซึ่งจะผลิตดอกออกผลในคนรุ่นถัดไป
บทความต่างๆ ในวารสารหยิบยกเรื่องความสุขความเจริญของราษฎรเหนือสิ่งอื่นใด “จดหมายเหตุสยามไสมย” ได้ทวงถามถึงการปฏิรูปทางสังคมด้านต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สัญญาไว้เมื่อทศวรรษที่แล้ว
แต่มิได้ดำเนินการให้ลุล่วงตามปณิธาน
เมื่อ กุลลดา เกษบุญชู ตรวจสอบผ่าน หจช.ร.5 ลบ.3/4 เอกสารกรมราชเลขาธิการรัชกาลที่ 5 เบ็ดเตล็ด เรื่องไปรเวทเรื่อง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขอกราบบังคมลาไปอยู่เมืองเซี่ยงไฮ้ก่อน (3 พฤษภาคม-24 กันยายน ร.ศ.109)
คำกราบบังคมทูลได้มีจดหมายทูลเชิญเร่งให้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปแนบมาด้วย
และ หจช.ร.5 บ.1.4/2 เอกสารกรมราชเลขาธิการรัชกาลที่ 5 เบ็ดเตล็ด เรื่อง เจ้านายทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นเพื่ออัญเชิญเสด็จประพาสยุโรปทอดพระเนตรกิจการ (8 มกราคม ร.ศ.103)
ผลเนื่องแต่ “จดหมายเหตุสยามไสมย”
พื้นที่ ไพร่ สามัญชน
จดหมายเหตุ สยามไสมย
ระบอบทาสซึ่งดำรงอยู่ในสังคมถูกมองว่าเป็นความไม่รักชาติ ในขณะที่สภาพอันเลวร้ายของไพร่ก็ไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
“วารสาร” ถูกพวก “ไพร่” ใช้เป็น “เครื่องมือ” ระบายความเดือดเนื้อร้อนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไปถึงพระเนตรพระกรรณ และพวกเขาเองก็สิ้นหวังที่จะได้รับการบรรเทาทุกข์ผ่านกลไกของระบบราชการ
ชนชั้นปกครองถูกประณามอย่างรุนแรงว่าเมินเฉยต่อสภาพอันน่าเวทนาของพวกเขา
บทความหนึ่ง (จดหมายเหตุสยามไสมย, เล่ม 3 แผ่น 1 วันพุฒ เดือนสิบ ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีวอก ฉอศก 1246) ซึ่งคาดว่าส่งมาจากผู้อ่านชนชั้นไพร่เล่าเรื่องราวของไพร่อย่างสิ้นหวังว่า
หลังจากสักเลกและให้แรงงานหรือชำระส่วยแล้วไพร่ยังต้องจ่ายภาษีอากรอีกเป็นจำนวนมากจนต้องขายลูกหลานไปเป็นทาส
และเมื่อนายสิ้นชีวิตไพร่สมจำต้องเปลี่ยนสถานะเป็นไพร่หลวง และต้องจ่ายภาษีแพงขึ้นพร้อมกับถูกเกณฑ์แรงงานอีกหลายประเภท บทความสรุปไว้ว่า วิธีเดียวที่จะหลีกหนีจากความทุกข์ยากเช่นนี้ได้
คือการทำบุญกุศลเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดมาเป็นไพร่อีก
ปัญหาอีกประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกัน ได้แก่ การกดขี่ขูดรีดจากเจ้านายและขุนนางข้าราชการ
“จดหมายเหตุสยามไสมย” ถกปัญหาเรื่องนี้ด้วยหลักการที่คล้ายคลึงกันกับวาทศิลป์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนหน้านี้ นั่นคือ ความสุขความเจริญของราษฎรเป็นสิ่งที่พึงประสงค์
ราษฎรเปรียบเหมือนห่านที่ออกไข่เป็นทองคำ หากราษฎรถูกข้าราชการเอาเปรียบย่อมไม่เป็นผลดีต่อชาติบ้านเมือง
ปัญหานี้จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อข้าราชการได้รับเงินเดือนอย่างเหมาะสม
และในทางกลับกัน ข้าราชการควรคำนึงถึงภาระหน้าที่ที่มีต่อราษฎรซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินเดือนแก่พวกตนทางอ้อมด้วย
เจ้าภาษี นายอากร
อภิสิทธิ์ จาก ระบบ
“จดหมายเหตุสยามไสมย” (เล่มที่ 1 แผ่น 6 วันพุฒ เดือนยี่ ขึ้นสองค่ำ จัตวาศก 1244 และเล่ม 2 แผ่น 10 วันพุฒ เดือนอ้าย แรมห้าค่ำ ปีมะแม เบญจศก 1245) ยังกล่าวถึง ปัญหาการจัดเก็บภาษี “อบายมุข”
อาทิ ภาษีฝิ่น อากรบ่อนเบี้ย และหวย
ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความยากจน การขายตัวลงเป็นทาส และการลักขโมยในหมู่ราษฎร
วารสารยังได้หยิบยกเรื่องความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเจ้าภาษีชาวจีนกับข้าราช การซึ่งอนุญาตให้เจ้าภาษีหลายคนติดหนี้แผ่นดินจำนวนมากด้วย
เราอาจยังจำกันได้ว่า เมื่อทศวรรษที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรวบอำนาจที่กระจัดกระจายในมือของขุนนางผู้ใหญ่
มาสู่สถาบันกษัตริย์
ปัญญา ความเฉลียวฉลาด
เงาสะท้อน จุดต่าง ชนชั้น
ข้อถกเถียงในมุมมองแบบชาตินิยมอีกประการหนึ่ง มุ่งไปที่ประเด็นเรื่องการให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษา “จดหมายเหตุสยามไสมย” เล่ม 4 แผ่น 25 วันพุฒ เดือนสาม แรมสิบสามค่ำ ปีระกา สัปตศก 1247
ชี้ว่า
ระบบการศึกษาได้หยิบยื่นโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน มีแต่บุตรหลานตระกูลเจ้านายและขุนนางเท่านั้นที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ การกีดกันและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งชนชั้นมาจากความเชื่อทางศาสนาที่ว่า
คนชาติตระกูลชั้นต่ำนั้นเป็นบาปกรรมมาแต่อดีตชาติ และดังนั้น จึงเกิดมาโง่เขลา
ขณะเดียวกัน กุลลดา เกษบุญชู ยังขมวดปิดประเด็นจากวารสาร “จดหมายเหตุสยามไสมย” ฉบับเดียวกัน แต่อยู่ในแผ่นที่ 28 ว่า แต่ “ข้าราชการระดับสูงหลายคนก็มาจากครอบครัวไพร่สามัญชนมาก่อน
ด้วยเหตุนี้ ปัญญา ความเฉลียวฉลาด จึงไม่อาจถือว่ามาจากชนชั้นทางสังคมได้”
จดหมาย สยามไสมย
ระบาย ความตึงเครียด
ในความเห็นของ กุลลดา เกษบุญชู วารสาร “จดหมายเหตุสยามไสมย” ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ตัวระบอบเองและการเสนอตัวเลือกการปกครองในระบอบอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น
การอภิปรายเรื่องระบอบการปกครองของฝรั่งเศสซึ่งได้เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐสภาอันมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ
“จดหมายเหตุสยามไสมย” ต้องการสื่อประเด็นว่า ไม่ว่าประมุขแห่งรัฐจะเป็นกษัตริย์ จักรพรรดิ หรือประธานาธิบดี ผู้นั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากราษฎร หากรัฐบาลขัดขวางความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือไม่อาจรักษากฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยไว้
ก็ย่อมเป็นไปได้ที่ราษฎรจะลุกฮือก่อการจลาจล
สถานะของรัฐบาลขึ้นอยู่กับฉันทานุมัติจากราษฎรส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้เช่นกัน
“จดหมายเหตุสยามไสมย” เปิดพื้นที่ให้แก่การแสดงออกซึ่งความตึงเครียดขัดแย้งทางสังคมอันก่อตัวขึ้นหลังจากการปฏิรูประยะแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้วารสารนี้อาจเป็นเพียงภาพสะท้อนของผู้มีการศึกษาในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นคนส่วนน้อย แต่ก็ได้ปลูกฝังความคิดที่จะบ่อนทำลายความชอบธรรม
ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในท้ายที่สุด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022