ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

ชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร”

ยังคงเป็นประเด็น “ร้อน” ของสังคมไทยต่อเนื่อง

ทั้งเรื่องการปรากฏชื่อในญัตติซักฟอกของฝ่ายค้าน

ที่กำลังเป็นปมให้การซักฟอก “ไม่ราบรื่น”

ทั้งเรื่องความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้

ล่าสุดคือการยิงปะทะและคาร์บอบม์อย่างอุกอาจ ที่ว่าการอำเภอสุไหงโกลก จ.นราธิวาส

ถูกเชื่อมโยงมาถึง “ทักษิณ”

แม้จะกล่าว “ขออภัย” ในความผิดพลาดไปแล้ว

แม้จะรับตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของประธานอาเซียน” นายอันวาร์ อิบราฮิม ที่ถูกคาดหวังว่าจะนำไปสู่ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบภาคใต้

แต่ความรุนแรงก็ยังเกิด

จึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นการท้าทายคนที่ชื่อ “ทักษิณ” หรือไม่

แน่นอน ย่อมสืบเนื่องต่อไปถึง “แพทองธาร ชินวัตร” ด้วย

 

ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จะเป็น “การท้าทาย” “ทักษิณ-แพทองธาร ชินวัตร” หรือไม่ก็ตาม

กระนั้น การตอบโต้การท้าทายดังกล่าว

คงไม่อาจใช้การแก้ปัญหาแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

หรือกลับไปใช้ “การปราบ” แทนการพูด “คุยเจรจา” ได้

“การทหารนำการเมือง” ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

เพราะ “กำปั้นเหล็ก” ถูกพิสูจน์มาเนิ่นนานแล้วว่าไม่ได้ผล

 

คอลัมน์ ตุลวิภาคพจนกิจ โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

นำเสนอ “ไฟใต้ดับ” : แถลงการณ์หนึ่งเดียวเพื่อสันติภาพ Solidarity for Peace, Bersatu untuk Damai

เป็นตอนที่สอง ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

เชื่อว่า จุดยืนของ “ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” สอดคล้องกับหลายๆ คน

ที่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้

ภาครัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการนำพากระบวนการสันติภาพ

อันนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ทุกฝ่ายมีทางออกในการดำรงอยู่ร่วมกัน “อย่างสันติสุข”

ไม่สะดุดหยุดลงอย่าง “คำร้องขอ 7 ประการ” ของคน “ไทยมุสลิม” ที่มีต่อรัฐบาลไทย

ด้วยการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ภายใต้การนำของกองทัพบก

และสถาปนาเป็นอำนาจนำมาอีกหลายทศวรรษ

ไม่สะดุหยุดลงเฉกเช่นเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน

คือ ยุติการเจรจาสันติภาพภาคใต้ลงด้วยการทำ “รัฐประหาร” ของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ต่อมาจะยอมเปิดให้มีการเจรจาสันติภาพต่อไปอีก

แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนจุดหมายและอุดมการณ์ของการเจรจาใหม่ให้ต่างไปจากแต่ก่อน

เปลี่ยนคำเรียก “เจรจาสันติภาพ” (peace talk) ให้เป็น “เจรจาสันติสุข” แทน

ซึ่ง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บอกว่า เคยถามเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติว่า จะแปลศัพท์ “สันติสุข” เป็นภาษาอังกฤษว่าอะไร

คำตอบคือไม่มี เพราะหาคำแปลในอังกฤษไม่ได้

happiness talk เป็นที่หัวเราะเยาะของวงการสันติภาพทั่วโลก

เพราะโลกรู้ว่าเป็นสันติภาพปลอม

เอกสารทางการไทยในภาษาอังกฤษจึงยืนยันใช้คำว่า peace talk ตามเดิม

แต่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มองว่าเป็นกลวิธีในการปกครองที่รัฐไทยใช้มาโดยตลอด

ซึ่งไม่ได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืนเลย

 

และเพราะความไม่ยั่งยืนดังกล่าว อันนำมาสู่ความรุนแรงอย่าต่อเนื่อง

ทำให้เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

กลุ่มประชาสังคม 44 องค์กรได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เสนอแนวทางสร้างความสงบสุข

ที่จะนำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนในสังคมอีกครั้ง

เป็นอีกครั้งของความพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เสนออะไร และทักษิณ-แพทองธาร ควรจะฟังหรือไม่

พลิกอ่านที่หน้า 19 •