ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
เหยี่ยวถลาลม
‘โจ๊ก’ กับ ‘โจ้’
ไม่โจ๊กแต่จบ
(ผิดธรรมชาติ)
1 “โจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการ หัวหน้าสถานีตำรวจ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จบชีวิตผิดธรรมชาติ
“โจ้” จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 57 เริ่มรับราชการปี 2547 เป็นรองสารวัตร 7 ปีก็เลื่อนขึ้นเป็นสารวัตร เส้นทางราชการโลดแล่นในเวลาอันรวดเร็วก็ขึ้นถึงตำแหน่ง “ผู้กำกับการ” ติดยศพันตำรวจเอก เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจชั้นหนึ่งของตำรวจภูธรภาค 6
เส้นทางดาวรุ่งของรุ่น นรต.57 กำลังจะไปได้สวย ทั้งอีกไม่นานนักผู้กำกับการหนุ่ม หุ่นสมาร์ต ผู้มีทรัพย์สินระดับ “พันล้าน” ก็จะแต่งงานกับลูกสาวนายใหญ่
มิคาดคิด ติดกระดุมผิดเม็ดเดียวชีวิตจะพลิกเปลี่ยนในพริบตา
เส้นคั่นระหว่าง “สวรรค์” กับ “นรก” ถึงแม้จะบางเฉียบจนพร่ามัว แต่ขอเพียงไม่สูญเสีย “สามัญสำนึก” ทุกคนก็สามารถสัมผัสจับต้อง “เส้นแบ่ง” ที่คั่นระหว่างสวรรค์กับนรกได้
ไม่หลง ไม่เหิม ไม่ลุแก่อำนาจ ก็ไม่พลาดหล่นสู่หุบเหวหายนะ!
“5 สิงหาคม 2564” ผู้ต้องหาคดียาเสพติดชื่อจิระพงศ์ หรือมาวิน ธนะพัฒน์ อายุ 24 ปี เสียชีวิตบนโรงพักเมืองนครสวรรค์
เป็นข่าวระทึกขวัญเขย่าอารมณ์ เนื่องจาก “มาวิน” นั้นตายคามือตำรวจที่ใช้ถุงพลาสติกดำคลุมหัวจนขาดอากาศหายใจ
องค์กรตำรวจยับเยินไม่มีชิ้นดี เมื่อปรากฏภาพ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ หรือ “ผู้กำกับโจ้” หัวหน้าสถานีตำรวจ ตกเป็นฆาตรกร ถูกดำเนินคดีพร้อมลูกน้องอีก 6 คน ซึ่งต่อมาผู้กำกับโจ้ก็ “รับสารภาพ” ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จึงพิพากษาลดโทษจาก “ประหารชีวิต” เหลือ “จำคุกตลอดชีวิต”
ภายหลังคำพิพากษา ชีวิตโจ้เปลี่ยนไป เงินฝาก 1,243 ล้านบาทกับทรัพย์สินอื่นรวม 1,358 ล้านบาททั้งหมดก็ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน สถานะ “ผกก.โจ้” ก็เปลี่ยนเป็น “นช.โจ้” ตามด้วยโรครุมเร้า กับผู้คนร่วมแดนที่หมิ่นหยาม ถากถาง
จนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม ราว 20.50 น. ปรากฏข่าวว่า “อดีตผู้กำกับโจ้” ฆ่าตัวตาย
ในชั้นแรก ไม่มีการชันสูตรอย่างรวดเร็ว เรียบร้อย และถูกต้อง
ฝ่ายตำรวจอ้างขั้นตอนที่รุ่มร่ามยุ่งยากของ “เรือนจำ” เป็นอุปสรรคการทำงาน
คำถามจึงมีว่า ระหว่างระเบียบและกฎหมายราชทัณฑ์ กับกฎหมายอาญา และ ป.วิอาญา “เจ้าพนักงานของรัฐ” ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะ “จัดลำดับความสำคัญอย่างไร”
เมื่อมีการเสียชีวิต “แบบผิดธรรมชาติ” ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เจ้าพนักงานสอบสวนในท้องที่นั้นรวมถึงแพทย์เข้าชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว พร้อมกับแจ้งให้พ่อแม่สามีภรรยาหรือผู้สืบสันดานอย่างน้อย 1 คนทราบ ยิ่งถ้าผู้ตายอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ยังต้องแจ้งให้พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองเข้าร่วมชันสูตรด้วย
พนักงานอัยการต้องทำคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชี้ชัดถึงคนตายและเหตุที่ตาย
ในประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมายตามที่เรียกกันว่า นิติรัฐ นั้นจึงไม่มี “แดนสนธยา”!
ถ้าเรือนจำเป็นแดนสนธยาก็จะต้องล้าง!!
ถึงแม้อดีต “ผกก.โจ้” จะเปลี่ยนสถานะเป็น “นช.โจ้” แต่การอยู่ในการควบคุมของเรือนจำนั้นเป็นไปตามคำพิพากษาของศาล
“ผู้คุม” ไม่อาจลุแก่อำนาจ เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลที่บอกว่า “อดีต ผกก.โจ้” ไม่อาจกระทำลุแก่อำนาจ
กรณี “นช.โจ้” หากสมัครใจอัตวินิบาตกรรมจริงๆ เรือนจำก็ไม่จำเป็นต้องลีลาให้อึมครึม ต้องรีบแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เข้าชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายบ้านเมืองโดยเร็ว
2 “โจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.คนดังที่สุดในห้วง 10 ปีมานี้
หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ชื่อชั้น “โจ๊ก” เหนือกว่าใครในสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งหมด ไม่เว้นกระทั่ง “ผบ.ตร.”
บ้านพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ที่เป็นคล้าย “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาขา 2” นั้น “โจ๊ก” เข้านอกออกในได้ทั้งกลางวันกลางคืน จนเชื่อกันว่าอีกไม่นาน “โจ๊ก” คงจะขึ้นนั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” แล้วก็จะนั่งต่อไปยาวๆ เกือบ 10 ปี
แต่ก็นั่นแหละ “เส้นกั้น” แบ่งแดนสวรรค์กับนรกนั้นบางเฉียบ
คดีเว็บพนัน “มินนี่” และคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ “BNK Master” ที่ สน.เตาปูน ซึ่งศาลอาญารัชดา ออกหมายจับ “บิ๊กโจ๊ก” นำไปสู่จุดพลิกผันของดาวรุ่ง
แต่ “ระบบกฎหมาย” และระเบียบราชการตำรวจเปิดทางกว้างให้ต่อสู้
ช่วงนั้นนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ยังถึงกับแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่ง แต่บทสรุปที่ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง 1 ในคณะกรรมการแถลงกลับ “ไม่สวย” สำหรับโจ๊ก
“โจ๊ก” กับพวกนายตำรวจบริวารกับพลเรือนที่ถูกออกหมายจับทยอยเข้ามอบตัวคดีมินนี่และคดีเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ขณะเดียวกับ “ป.ป.ช.” ก็รับคดีกล่าวหาโจ๊กกับพวกทุจริตและเรียกรับผลประโยขน์จากเว็บพนัน
“คดีอาญา” ทำให้ภาพลักษณ์ดาวรุ่งผู้มีอนาคตไกลเสื่อมทรามลง
เก้าอี้ “ผบ.ตร.” ที่อยู่แค่เอื้อมกลับเลือนราง
พลันสายฟ้าก็ฟาดเปรี้ยง มีคำสั่งให้ออกจากราชการเอาไว้ก่อน!
ตํารวจเป็น “วิชาชีพ”
หมายความว่า ไม่ใช่คิดกันแค่ทำมาหากินเลี้ยงชีพ ความเป็น “วิชาชีพ” นั้นส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้คนส่วนใหญ่และสังคมส่วนรวม
ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายจึงต้องมี “กรอบจริยธรรม” คุมการประพฤติปฏิบัติ
นอกจากจะต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบกฎหมายแล้ว “วินัยตำรวจ” ยังเป็นกรอบจริยธรรมที่กำหนดว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้
“จริยธรรมตำรวจ” จึงเป็นเส้นแบ่งระหว่าง “ความเป็นตำรวจ” กับ “ผู้ร้าย” ซึ่งตำรวจมีหน้าที่ต้องปราบปราม
“โจ๊ก” จึงต้องต่อสู้กับ “โทษทางวินัยร้ายแรง” ซึ่งในวันที่ 7 มีนาคม วันเดียวกับที่อดีต ผกก. “โจ้” เสียชีวิตผิดธรรมชาตินั้น คณะกรรมการพิจารณาโทษทางวินัยซึ่งมี พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน สรุปคดีวินัย “โจ๊ก” อดีตรอง ผบ.ตร.ว่า มติเอกฉันท์ให้ “ไล่ออก” ตามที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 125
ปลายทางชีวิตราชการตำรวจของ “โจ๊ก” จากนี้ยังคงเหลืออีก 2 ขั้นบันได คือ
1 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) หากชั้นนี้ “ยืนตามเดิม” โจ๊กก็ยังสามารถขั้นที่ 2 ฟ้องให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา หาก “ยืนตามเดิม” อีก คดีวินัยก็ถึงที่สุด
จุดจบจึงมิใช่แค่ไม่ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ แต่จะไปขั้นถอดยศ คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สู่สามัญ
ตำรวจเรียกจุดจบชีวิตราชการแบบนี้ว่า “ผิดธรรมชาติ” เหมือนกัน!?!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022