“ไทย-สหรัฐ” กับ สัญญาณจากเวียงจันทน์

AFP PHOTO / SAUL LOEB

ในฐานะที่ติดตามประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกามาแต่ไหนแต่ไร ผมจึงให้ความสนใจกับข้อเขียนของ แอนดรูว์ บีทตี ผู้สื่อข่าวของ เอเอฟพี ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา มากเป็นพิเศษ

ข้อเขียนที่จั่วหัวไว้ว่า “เมื่อโอบามาปิดฉากการหวนคืนสู่เอเชีย ไทยคือชิ้นส่วนที่หายไป” เป็นการแสดงความคิดเห็นเนื่องในวาระการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและเอเชียตะวันออกกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นครั้งสุดท้ายในวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ของ บารัค โอบามา เจ้าของนโยบาย “หวนคืนสู่เอเชีย” นั่นเอง

บีทตี เริ่มต้นไว้อย่างแยบคาย ด้วยการชี้ให้เห็นว่า เมื่อ โอบามา นั่งลงเหนือโต๊ะ “แฟร์เวล ดินเนอร์” ที่เป็นการปิดฉากการดำเนินความพยายามหวนกลับมาหาสู่เอเชียอีกครั้งนั้น สิ่งที่ผู้นำอเมริกันพบก็คือบรรดา “มิตรใหม่” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอดีตฝ่ายตรงข้ามในฐานะรัฐคอมมิวนิสต์ อย่าง เวียดนาม กับ ลาว หรือแม้แต่อดีตนักโทษการเมืองยาวนานอย่าง ออง ซาน ซูจี ที่ความสัมพันธ์เริ่มพลิกฟื้น มั่นคงขึ้นตามลำดับ

สิ่งที่กลับตกอยู่ในสภาพง่อนแง่น โงนเงนเหลือหลาย กลับเป็นความสัมพันธภาพกับมิตรประเทศเก่าแก่ที่เคย “ลึกซึ้ง” ซึ่งกันและกันถึงขีดสุดมาเนิ่นนานอย่าง “ประเทศไทย”

หรือการกระทบกระทั่งกันหนักหน่วงไม่น้อยในทางการทูต กับ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีของชาติที่เคยถูกพูดถึงว่าเป็น “อเมริกันจ๋า” ในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์

กระนั้น แอนดรูว์ บีทตี ก็ยืนยันผ่านข้อสรุปที่ประมวลได้จากทัศนะของผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้โดยรวมๆ ในที่สุดว่า “ไทย” กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” ของการใช้ประโยชน์จาก “พลังทางการทูต” ในภูมิภาคนี้

ทั้งๆ ที่ประเทศนี้ไม่เพียงเป็น “พันธมิตรที่มีสนธิสัญญาซึ่งกันและกัน” แต่ยังมีความเกี่ยวพันลึกซึ้งมายืนยาวย้อนหลังไปนานถึง 180 ปีอีกต่างหาก

ล้มเหลวอย่างไร?

บีทตี แจกแจงเอาไว้ว่า ประการแรกสุดก็คือ ล้มเหลวในอันที่จะโน้มน้าวให้ไทยฟื้นฟูการเลือกตั้ง ผ่อนปรนการควบคุมฝ่ายค้านลง หลังจากเกิดการรัฐประหารขึ้นที่นี่

ล้มเหลวถัดมา ก็คือ ไม่สามารถรักษารากฐานความสัมพันธ์ให้คงไว้ ถึงขนาดที่ “แม้แต่การเบี่ยงเบนทางการทูตเพียงเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากภาพจริงหรือจากจินตนาการ ก็สามารถทำให้สัมพันธ์เสื่อมทรามทรุดลงไปอีกได้ทั้งสิ้น”

บีทตี อ้างอิงคำบอกเล่าของ “แหล่งข่าวชาวไทย” รายหนึ่งเอาไว้ว่า เมื่อครั้งโอบามา เชื้อเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปร่วมประชุมสุดยอดสหรัฐ-อาเซียน ที่ ซันนีแลนด์ แคลิฟอร์เนีย นั้น ผู้นำไทยเริ่มรู้สึกว่า “สะพานแห่งความสัมพันธ์” กำลังก่อตัวขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

แต่พอเครื่องบินแตะพื้นรันเวย์สุวรรณภูมิ “เจ้าหน้าที่ระดับกลาง” ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก็วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทยตามมา ความรู้สึกดีๆ ก็ถูกแทนที่ด้วยความโมโหไปโดยพลัน

“เจ้าหน้าที่ไทยรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่า ถึงที่สุดแล้วมติมหาชนในไทยอาจเหวี่ยงไปในทางที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา” บีทตีบอกไว้อย่างนั้น

เขาบอกต่อไว้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาบางรายเริ่มเป็นกังวลว่า ไทยกำลังถูกผลักให้เข้าไปหามหาอำนาจที่เป็นเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างจีน “มากจนเกินไป”

ซึ่งในทัศนะของ เออร์เนสต์ บาวเออร์ ผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) จะก่อให้เกิด “ความเสียหายมากเป็นพิเศษ” เมื่อคำนึงถึงว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทยนั้นเป็นการ “จัดระเบียบและจัดสรรอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเสียใหม่” ซึ่ง “เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 100 ปี” เท่านั้นเอง

เดส วอลตัน อดีตทูตทหารประจำกรุงเทพฯ บอกกับบีทตีเช่นกันว่า กองทัพไทย แต่ก่อนร่อนชะไร “เป็นหุ้นส่วนเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น” แต่ตอนนี้สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนไป “พวกเขา(กองทัพไทย)กำลังขยายความสัมพันธ์ออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อจีนและรัสเซีย” ซึ่งมองยังไงก็ “ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา”

วอลตัน ยืนยันกับบีทตีว่า ไทยยังคงมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค

“ถ้าไล่ตั้งแต่เกาหลีเรื่อยลงมาถึงไทย คุณจะพบปริมณฑลกว้างขวางที่โดยพื้นฐานแล้วก็คือจีนทั้งนั้น เป็นพื้นที่ในส่วนที่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถเข้าถึงได้ในแผ่นดินใหญ่เอเชีย” วอลตันย้ำ

บีทตี บอกว่า หลายคนใน “วอชิงตัน” เชื่อว่า สหรัฐอเมริกายังมีโอกาสที่จะสานไมตรีจิตกับไทยขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งบาวเออร์เชื่อว่า มีแต่การดำเนินการในระดับประธานาธิบดีเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดมรรคผลขึ้นได้

แน่นอน ย่อมไม่ใช่ในยุคของ บารัค โอบามา ที่กำลังจะถึงจุดสิ้นสุดในอีกไม่ช้าไม่นาน

หรือนี่คืออาณัติสัญญาณบ่งบอกถึงทิศทางใหม่ในสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา?!