คนคูลๆ เค้าใช้ AI ทำอะไรกัน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

คนคูลๆ เค้าใช้ AI ทำอะไรกัน

 

มาถึงตอนนี้ คุณผู้อ่านหลายๆ ท่านก็น่าจะได้ทดลองใช้ AI กันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทดลองใช้เล่นๆ หรือใช้ในการทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีรูปแบบการใช้ AI ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ว่า AI เข้ามาช่วยเติมเต็มอะไรที่ขาดหายไปได้

อีกคำถามที่น่าสนใจที่จะหาคำตอบก็คือแล้วคนที่อยู่ในแวดวงครีเอทีฟ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ เขาเลือกใช้ AI มาช่วยทำอะไรบ้าง ในเมื่อที่ผ่านมา AI ถูกครหามาโดยตลอดว่าไม่สามารถทดแทนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้

เรื่องนี้ทางเว็บไซต์ Fast Company ร่วมกับ Whalar Group ได้ลองทำการสำรวจแบบลงลึกเพื่อหาคำตอบว่าคนครีเอทีฟระดับโลกใช้ AI ขับเคลื่อนงานของตัวเองอย่างไรบ้าง

 

เริ่มจาก Fast Company ได้คัดเลือกคนที่มีความเป็นครีเอทีฟสูงโดยนำรายชื่อมาจากรางวัล Most Creative People in Business ที่มอบโดยทาง Fast Company เอง ควบคู่กับรายชื่อของคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ จากนั้นก็ส่งแบบสอบถามไปเพื่อดูว่าคนที่ขึ้นชื่อว่า ‘ครีเอต’ ระดับโลกกลุ่มนี้ใช้เทคโนโลยี AI อย่างไรบ้าง

กลุ่มที่ตอบแบบสอบถามกลับมา 100 คน ประกอบไปด้วยคนที่เป็นผู้ก่อตั้ง พาร์ตเนอร์ 47 เปอร์เซ็นต์ โดย 65 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้บริหารระดับสูง โดยมีทั้งที่มาจากแวดวงเทคโนโลยี ดีไซน์ บันเทิง และอื่นๆ อีกประปราย

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นมือใหม่ทางด้าน AI เพราะมีจำนวนมากที่คุ้นเคยกับ AI อย่างเช่น ChatGPT ที่เปิดตัวมาปลายปี 2022 และทดลองใช้งาน AI มาโดยตลอด บางคนก็ใช้งาน AI ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง ส่วนใหญ่จะเน้นการใช้งาน AI ผ่านทางตัวอักษรมากกว่าที่จะใช้เพื่อสร้างภาพนิ่งหรือวิดีโอ

คนส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ใช้ AI ของค่ายไหนเป็นหลัก คำตอบก็คือ ChatGPT ของ OpenAI ซึ่งเป็นแอพพ์ AI ที่คนมากกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มนี้เลือกใช้เป็นอันดับแรก ตามมาด้วย Gemini ของ Google, Claude ของ Anthropic และ Copilot ของ Microsoft

 

ส่วนการใช้ AI เพื่อช่วยวาดภาพนั้น ที่ฮิตที่สุดก็คือ Midjourney ตามมาด้วย Firefly และ DALL-E

คนในกลุ่มครีเอทีฟบอกว่าใช้ AI ที่วาดภาพได้เพื่อช่วยทำโปสเตอร์สำหรับการแสดง เพราะการที่เราแค่ใส่คำสั่งพร็อมต์และแรงบันดาลใจต่างๆ เข้าไปแล้วให้มันสร้างผลลัพธ์ออกมาให้นั้นมักจะได้อะไรที่คาดไม่ถึงออกมาเสมอ

นักออกแบบแฟชั่นใช้ AI ในการช่วยประหยัดต้นทุนของการถ่ายแบบ โดยใช้นายแบบและนางแบบตัวจริงแล้วให้ AI ใส่ฉากหลังให้เพื่อสร้างเป็นแคมเปญโฆษณาออกมา หากไม่มี AI ก็อาจจะทำไม่ได้เลยเพราะต้นทุนจะสูงมากจนไม่สามารถควักกระเป๋าจ่ายได้ อาจจะต้องใช้ทีมงานที่ประกอบไปด้วยคนมากถึง 20 คน และงบประมาณที่สูงระดับเจ็ดหลักในการขึ้นงาน

คนครีเอทีฟกลุ่มนี้บอกว่าข้อดีของการใช้ AI ในการทำงานในแวดวงความคิดสร้างสรรค์คือทำให้พวกเขาสามารถโฟกัสไปที่ไอเดียครีเอตๆ ด้วยการหยิบเอางานที่ซ้ำซากจำเจออก และไม่จำเป็นต้องทำโปรโตไทป์หรือตัวต้นแบบด้วยตัวเอง เอื้อให้สามารถทำธุรกิจครีเอทีฟได้ราบรื่นขึ้น และหากใช้ถูกทาง ก็จะไม่ได้เป็นการมาแทนที่งานของศิลปินแต่จะเป็นการช่วยอัพพลังให้สามารถเติบโตไปสู่อีกขั้นหนึ่งได้

ถึงแม้ว่าเครื่องมือ AI จะช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการทำงานครีเอทีฟไปได้เยอะแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีข้อเสียหรือข้อควรระวังเลย อย่างการใช้ AI เพื่อวาดภาพขึ้นมานั้นก็จะมีข้อจำกัดว่าภาพที่ได้มาอาจจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้

บางคนใช้ AI วาดภาพขึ้นมาเป็นร้อยเป็นพันภาพก็อาจจะเลือกที่ถูกใจไม่ได้เลยเพราะดูคล้ายกันไปหมด ทางแก้ก็คือจะต้องมีคนป้อนข้อมูลเข้าไปเพิ่มเพื่อทำให้ผลงานของ AI ออกมาตรงโจทย์มากขึ้น

หรืออีกประเด็นที่มีความเป็นห่วงกันก็คือ AI อาจจะทำให้เกิดโลกที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น คือมนุษย์เราอาจจะสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยิน

หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่ว่าเราจะเห็นผลงานประเภทไหนบนอินเตอร์เน็ต ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง หรือวิดีโอ เราก็อาจจะต้องคอยตั้งคำถามในใจอยู่เสมอไปว่าสิ่งนี้ใช่ของจริงหรือเปล่า

หรือเราอาจจะสูญเสียความรู้สึกตื่นตาตื่นใจไปเพราะเราจะอยู่กับวิธีคิดแบบใหม่ว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นถ้า AI สร้างมันขึ้นมา

เรียกว่าอาจจะทำให้เรา ‘ตายด้าน’ กับชิ้นงานดีๆ ไปได้นั่นเอง

 

ฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ AI สามารถทำได้สำเร็จในระดับที่น่าพอใจในตอนนี้ก็คือการลบคำสบประมาทว่าคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำอะไรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะในตอนนี้มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าตัวมันเองก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้กับคนในแวดวงที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้แล้ว แม้จะไม่ใช่การทดแทน แต่ก็มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นลูกมือที่เคียงคู่กันไปได้

อีกอย่างก็คือการจะใช้ AI มาช่วยทำงานครีเอทีฟนั้น เท่าที่ดูก็ยังต้องอาศัยการควบคุม ตรวจทานจากนักใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นมนุษย์อยู่ อย่างการให้ AI เขียนงานให้ ผลงานจะออกมาดีที่สุดถ้าหากตัวเจ้าของงานเองตรวจทาน ปรับแต่ง และแก้ไขให้รูปแบบการเขียนมีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

โจทย์ที่เราควรตั้งไว้กับตัวเองเวลาที่เราใช้งาน AI ก็คือเราควรจะให้มันมาทำงานแทนเราไปเลยทั้งหมดหรือเราจะใช้มันเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงานที่ทำโดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวเราเองไว้อย่างเหนียวแน่น

ท้ายที่สุดก็คืออย่าลืมเตือนตัวเองเสมอว่าผลลัพธ์งานที่ได้จาก AI ก็ยังมีโอกาสผิดพลาดได้

ใช้มันเป็นคู่หูในการคิดไอเดียงานสร้างสรรค์ อย่ากลัวที่จะทดลองแต่ก็อย่าเชื่อมันจนสุดหัวใจ