คนมองหนัง : “Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย” “ฝันร้าย” และ “ภาพหลอน” ในเรื่องเล่าของ “ตั๊ก บงกช”

คนมองหนัง

“ตั๊ก บงกช เบญจรงคกุล” ถือเป็นคนในวงการบันเทิงไทยอีกรายหนึ่ง ที่มีเส้นทางชีวิตน่าสนใจ

จากการเป็นเด็กสาวอายุ 15 ที่สวมบทนางเอกหน้าใหม่ในหนังประวัติศาสตร์ชาตินิยมรายได้เกินร้อยล้านบาท ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

มาสู่การเป็นซูเปอร์สตาร์ผู้มีชะตากรรมระหกระเหิน ขึ้นบ้าง ลงบ้าง ก่อนจะกลายเป็นภรรยาของมหาเศรษฐีใหญ่ แล้วก้าวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ (ไม่ใช่ “ผู้จัดละครทีวี” ดังที่อดีตนักแสดงหญิงหลายคนนิยมเป็นกัน)

มีดาราหญิงไม่มากรายนักหรอก ที่เลือก/สามารถเดินบนเส้นทางเช่นนี้

“Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย” เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สองของตั๊ก บงกช แต่เป็นเรื่องแรกที่เธอมีสถานะ “ผู้กำกับฯ เดี่ยว” เพราะใน “นางฟ้า” (2556) ตั๊กเลือก “วิโรจน์ ศรีสิทธ์เสรีอมร” มาเป็น “ผู้กำกับฯ ร่วม”

หากพิจารณาจากหนังยาวเรื่องล่าสุด ตั๊กถือเป็นคนที่มี “เรื่อง” อยากจะเล่า และสามารถเล่ามันออกมาได้เป็นเรื่องเป็นราว สนุกสนาน น่าติดตาม ชวนขบคิด

“Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย” มีหลายๆ องค์ประกอบที่โดดเด่น บางส่วนก็ดีมาก บางส่วนก็แปลกประหลาดหาชมยากในภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่นๆ บางส่วนก็ตลกขบขัน แม้คุณภาพโดยรวมของหนังจะไม่ได้ “ยอดเยี่ยม” และมีอะไรตกหล่น แหว่งพร่องตามรายทางอยู่บ้างพอสมควร

หนังเล่าเรื่องราวผ่านสองตัวละครนำหญิง คนแรก คือ “โย” (ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์) อีกคนคือ “พิม” (ภัควดี เพ็งสุวรรณ)

(ส่วนตัวละครชายเด่นๆ สามราย ทำหน้าที่เป็นเพียง “ส่วนเกิน” ซึ่งต้องถูกทำลาย และ “ส่วนเติมเต็ม” บางอย่าง)

“โย” เป็นดาราปากร้าย ประสาทเสีย เล่นยา ชอบตระเวนราตรี นิสัยไม่ค่อยดี (จนมีปัญหากับสื่อและคนร่วมวงการ)

“พิม” เป็นเพื่อนสนิทของโย ผู้คอยรับภาระในเรื่องกิจวัตรประจำวันต่างๆ แทนดาราสาว เธอมีบุคลิกที่มองเผินๆ แล้วคล้ายจะเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ (ชอบรำไทยและสวดมนต์) แต่อีกด้าน พิมก็ชอบเที่ยวกลางคืนกับโย และมีปัญหาครอบครัวแอบซ่อนอยู่

ทั้ง “โย” และ “พิม” เป็นเหมือนภาพแทนต่างมุมของตัว “ตั๊ก บงกช” เอง

“โย” คือ ภาพแทนของการเป็น “นางเอกตัวร้าย” แห่งวงการ

สำหรับ “พิม” แม้ตั๊กจะให้สัมภาษณ์ว่าตัวละครรายนี้มีที่มาจากเพื่อนสนิทที่เสียชีวิต แต่เธอก็มีบุคลิกบางอย่างซึ่งพ้องกับเอกลักษณ์ของตั๊ก เช่น การพูดจา (พูดอะไรห้วนๆ ตรงๆ แบบขวานผ่าซาก ด้วยภาษาเชยๆ)

หนังขมวดปมแรกด้วยการกำหนดให้ดาราดังเช่น “โย” อยู่ในภาวะ “ร่วงโรย” จากวงการบันเทิง ขณะเดียวกัน “พิม” ก็ป่วยหนัก และอาจจะ “ลาลับ” หลังถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง

แต่นั่นมิใช่อุปสรรคขวากหนามหนักหนาสาหัสสุดที่สองสาวต้องเผชิญ

ตั๊กพาสองตัวละครนำของเธอไปปะทะกับเงื่อนไขข้อที่สอง นั่นคือ สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของพิม

ก่อนที่พิม (ด้วยความร่วมมือของโย) จะเลือกจบทุกอย่างด้วยความรุนแรงขั้นสุด นั่นคือ การฆาตกรรม

ฉากฆาตกรรมในหนังมีลักษณะดิบๆ ง่ายๆ แบบหนังสั้น หนังอินดี้ มากกว่าจะกระชากตากระชากใจแบบหนังฟอร์มใหญ่ แต่นั่นก็ยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงภาวะหวั่นไหว ประสาทแดก บ้าบอ สะสางจัดการปัญหาไม่ค่อยได้ ของตัวละครนำหญิงสองคน

การลงมือสังหารคนของสองสาวขับเคลื่อนหนังไปสู่องก์ที่สอง อันเปลี่ยนแนวทางไปสู่ความเป็น “โรดมูฟวี่”

คล้ายกับว่าเนื้อหาส่วนนี้จะว่างเปล่า เยิ่นเย้อ ยาวนาน และแทบไม่นำพาไปสู่อะไร แต่เมื่อสองสาวเดินทางไปถึงบ้านของ “น้าแดง” (นพชัย ชัยนาม) ที่ชนบทแห่งหนึ่ง

ไคลแมกซ์อีกจุดของหนังก็บังเกิดขึ้นพร้อม “ฉากทำลายหลักฐาน” ที่เหี้ยมเกรียมสยองขวัญ และนับเป็นหนึ่งใน “สิ่งแปลกใหม่-น่าตื่นตาตื่นใจ” มากที่สุดของวงการภาพยนตร์ไทย ช่วง 2-3 ปีให้หลัง

ที่สำคัญ ท่ามกลางการเตลิดไกล หนังกลับผลักคนดูไปเจอะเจอกับสภาวะของความสับสน งงงวย ในทางจริยธรรม พร้อมคำถามอันหนักอึ้งว่า “คุณทั้ง (ร่วม) ฆ่าคน คุณทั้ง (ร่วม) ทำลายศพ คุณทั้งพยายามจะลบลืมเรื่องราว แล้วสุดท้าย คุณจะดำเนินชีวิตต่อไปยังไงวะ?”

นี่คือ “ความรู้สึกผิดบาป” ที่อาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” กับ “ฝันร้าย” ที่ตามหลอกหลอนคนกรุงเทพฯ (จำนวนหนึ่ง) ในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญพ้นผ่านไปแล้ว เมื่อมิตรภาพถูกทดสอบ (มีเหินห่าง มีคืนดี) เมื่อเพื่อนสนิทสองคนต่างต้องกลับไปเผชิญหน้ากับบททดสอบอื่นๆ ในชีวิตของตนเอง (คนหนึ่งพยายามหวนคืนวงการบันเทิงและมีรักครั้งใหม่ อีกคนพยายามรักษาตัวให้หายจากโรคร้าย)

ทว่า บางคนกลับสลัด “อดีตบาดแผล” ตรงจุดนั้นได้ไม่หลุด น่าสนใจมากๆ ว่า “ผู้สลัดไม่หลุด” ดันกลายเป็นนางเอกเหลวแหลกเลอะเทอะ ชอบเกรี้ยวกราดต่อโลกและสังคม (ผู้ไม่ได้เป็นมือฆ่า/มือทำลายหลักฐาน – เป็นแค่ผู้ร่วมกระทำผิด) อย่าง “โย”

ขณะที่คนป่วย/คนเพิ่งมีบาดแผลทางครอบครัวอย่าง “พิม” (ผู้เป็นต้นคิดในการก่อเหตุฆาตกรรม) กลับไม่ค่อยรู้สึกรู้สาหรือหวนรำลึกถึงเรื่องโหดร้ายดังกล่าวสักเท่าไหร่

ผู้หญิงที่แลดูอ่อนแอกว่า เรียบร้อยกว่า แถมชอบรำไทยและสวดมนต์ไหว้พระ เช่น “พิม” จึงมีความจำ “สั้น” กว่า “โย”

พูดอีกอย่าง คือ “พิม” นั้นสงบนิ่ง/เลือดเย็น/โหดเหี้ยมกว่า

องก์สุดท้ายของ “Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย” ที่ย้อนมาเล่าเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนรักสองคน กลับกลายเป็น “จุดอ่อน” ของหนัง

แม้ตั๊ก บงกช และทีมงาน น่าจะครุ่นคิด ออกแบบสถานการณ์ต่างๆ ในองก์นี้มาอย่างสลับซับซ้อน เป็นขั้นเป็นตอน เป็นเหตุเป็นผลพอสมควร (อย่างน้อย ซีนปิดฉากภาพยนตร์ก็มีความคมคายไม่น้อย)

แต่รวมๆ แล้ว หนังดันมีอาการแผ่วปลาย ทำให้สื่อหรือถ่ายทอดอารมณ์ “ผูกพัน/พลัดพราก” ห้วงสุดท้าย ออกมาได้ “ไม่ถึง” และ “ไม่สุด”

อย่างไรก็ดี อาการแผ่วปลายที่ว่า ยังไม่สามารถลบล้างองค์ประกอบเด่นๆ และองก์สองที่ดีมากๆ ของหนังเรื่องนี้ ได้เสียทีเดียว