ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล | นายดาต้า
หวังยืนหยัด ‘คุณภาพใหม่’
หากถามถึงวาระสำคัญของรัฐสภา หนึ่งในนั้นต้องมี “อภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ” โดดเด่นอยู่
หน้าที่หลักของรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล “ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ” เป็นการทำให้ประชาชนให้ประจักษ์ถึงการทำหน้าที่นั้น
พรรคการเมืองฝ่ายค้านต้องระดมความสามารถทุกอย่างที่มีอยู่ ไม่ว่าการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล ความสามารถในการพูดเพื่อสื่อสาร ความสามารถในการนำเสนอเพื่อกระตุ้นเร้าให้คนฟังเห็นไปตามการอภิปราย
เป็นโอกาสที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้รับรู้ว่าหวังพึ่งพาฝ่ายค้านในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้แค่ไหน
ตั้งแต่การรู้จักที่จะเลือกอภิปรายใคร ด้วยข้อมูลและเหตุผลอะไร วางตัวผู้อภิปรายให้หวังผลได้แค่ไหน
ที่สำคัญอย่างยิ่ง เปิดอภิปรายเพื่อหวังผลแค่เป็นเกมการเมืองมุ่งทำลายผู้ที่ถูกอภิปราย ด้วยข้อมูลที่ปั้นแต่ง และการโจมตีเป็นเพียงวาทกรรมที่เน้นโวหารมากกว่าเนื้อหาที่เป็นความจริงอันเน่าเฟะ
หรือก้าวข้าม “เกมทำลาย” มาเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนอย่างแท้จริง
อาจจะเป็นเพราะฝ่ายค้านยุคนี้เป็น “พรรคประชาชน” ที่ผู้คนคาดหวังถึง “คุณภาพใหม่ทางการเมือง” ด้วยเนื่องต่อมาจากภาพลักษณ์ของ “พรรคก้าวไกล” จาก “พรรคอนาคตใหม่” ที่พิสูจน์ตัวเองชัดเจนว่ามาจากความคาดหวังของประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
ทำให้ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” เที่ยวนี้ “พรรคประชาชน” ต้องแบกรับความคาดหวังของผู้คนเต็มที่
ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ “พรรคประชาชน” เคลื่อนไปในความคาดหวังของประชาชนได้หรือไม่
จาก “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “ไม่ไว้วางใจแค่นายกรัฐมนตรี!”
ร้อยละ 36.49 เห็นว่าควรเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหมด, ร้อยละ 31.83 เห็นว่าควรอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว, ร้อยละ 17.63 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรี และ/หรือรัฐมนตรีคนใด, ร้อยละ 11.91 เห็นว่าควรเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคน, ร้อยละ 2.14 เห็นว่าควรเปิดอภิปรายเฉพาะรัฐมนตรี ไม่รวมนายกรัฐมนตรี
เมื่อในญัตติของฝ่ายค้านเป็นการขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ขัดกับผลโพลนี้อยู่ไม่น้อย
และเมื่อไปผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ก่อนหน้านั้น ในคำถามที่ว่า “เกมการเมืองมีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร” ซึ่งร้อยละ 42.95 ตอบว่า มีผลกระทบอย่างมาก เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ, ร้อยละ 38.06 เห็นว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาล, ร้อยละ 7.17 เห็นว่ามีผลกระทบบ้าง บางเรื่องช่วยตรวจสอบ และผลักดันนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล, ร้อยละ 6.44 เห็นว่าไม่มีผลกระทบ มีปัจจัยอื่นส่งผลมากกว่า, ร้อยละ 5.38 ไม่แน่ใจ/ไม่มีความเห็น
นั่นหมายถึงคำว่า “เกมการเมือง” ได้สร้างความหมายในด้านลบให้เกิดขึ้นในใจของผู้คนมากกว่าที่จะมองในด้านสร้างสรรค์ หรือเป็นประโยชน์
เมื่อในความเป็นจริง การเปิดอภิปรายไม่วางใจรอบนี้ก่อกระแสความขัดแย้งทางความตลอดทาง ตั้งแต่การอภิปราย “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเพิ่งทำงานมาแค่ 6 เดือนเพียงคนเดียว ก่อคำถามมากมายว่า “ฝ่ายค้านเน้นที่เกมการเมืองมากกว่าการตรวจสอบที่มีเนื้อหาหรือไม่”
ความขัดแย้งเรื่อง “มีชื่อทักษิณ ชินวัตร ในญัตติ” ก่อคำถามมากมายว่าต้องการตอกย้ำให้เห็นว่า “เน้นเกมการเมืองหรือไม่”
คุณภาพใหม่ที่ผู้คนคาดหวังจาก “พรรคประชาชน” คือการทำงานที่หลุดจากมุ่งที่ “เกมการเมือง” เต็มที่กับการตรวจสอบที่ชัดเจนในข้อมูลและหลักคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ
การถูกชักจูงให้หลงไปเล่นใน “เกมการเมือง” เหมือนการทำงานของ ส.ส.ในรัฐสภายุคก่อนๆ ย่อมเป็นผลเสียต่อพรรคประชาชนมากกว่า
ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่วันนี้ หากไม่ถูก “เกมการเมือง” เล่นงานจนล่มปากอ่าว
จะพิสูจน์ว่า “พรรคประชาชน” ยังยืนหยัดใน “คุณภาพงานการเมือง” อย่างที่ประชาชนคาดหวังได้หรือไม่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022