ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ คุณก็ตาบอดข้างหนึ่ง
แต่ถ้าคุณไม่กังขาในประวัติศาสตร์ คุณจะตาบอดสองข้าง
“ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ คุณก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขา คุณจะตาบอดทั้งสองข้าง”
ประโยคข้างต้นนี้เป็น “วรรคทอง” ที่ได้ยินกันอยู่ทุกบ่อยในแวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์ในไทย จำได้ว่าเมื่อครั้งแรกที่ผมได้ยินวรรคทองข้างต้นนี้แล้ว ก็รู้สึกคุ้นหูอย่างบอกไม่ถูก จนกระทั่งเข้าใจไปเองว่า ประโยคสุดแสนจะคมกริบนี้เป็นสุภาษิตเก่าบทหนึ่งของฝรั่ง
แต่เมื่อผมเริ่มค้นหาที่มาเพิ่มเติมของวรรคทอง อย่างจริงๆ จังๆ แล้วจึงค่อยค้นพบว่า ตัวผมนั้นเข้าใจผิดไปเองเสียจนไกลลิบเลยทีเดียวนะครับ
เพราะในโลกภาษาอังกฤษ ไม่มีภาษิต หรือวรรคทองที่นักประวัติศาสตรืไทยมักจะท่องบ่นกันอย่างตรงตัวหรอกนะครับ (อย่างน้อย google ก็ไม่ช่วยให้ผมพบวรรคทองนี้ในรูปภาษาอังกฤษ)
เป็นผมเองต่างหาก ที่แรกฟังแล้วสมองก็สั่งการโดยอัตโนมัติให้ควานหาเอาสุภาษิตฝรั่งที่ตัวเองคุ้นหู ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องมีรูปประโยค และความหมายที่คล้ายคลึงกันมาจับแพะชนแกะ จนเข้าใจผิดไปเอง
ภาษิตฝรั่งบทแรกที่คงจะทำให้ผมเข้าใจผิดก็คือ “Turning a blind eye” ซึ่งอาจจะแปลเป็นไทยอย่างง่ายๆ ได้ใจความว่า “ทำตาให้บอดเสีย (บ้าง)”
แน่นอนว่า ความหมายของภาษิตบทนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้ใครเอาอะไรไปทิ่มเข้าที่ลูกนัยน์ตาของตนเองให้บอดดับลงไปจริงๆ แต่หมายถึงการแกล้งทำเป็น “หลับตาข้างหนึ่ง” อย่างในภาษิตของไทย
โดยมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ต้นกำเนิดของภาษิตดังกล่าว มีที่มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดสงครามที่มีชื่อว่า “ยุทธนาวีโคเปนเฮเกน” (Battle of Copenhagen) อันเป็นการศึกระหว่างทัพเรือของสหราชอาณาจักร กับกองเรือของเดนมาร์ก-นอร์เวย์ (Dano-Norwegian Navy) ที่ปากน้ำของกรุงโคเปนเฮเกน เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2344
ยุทธนาวีในครั้งนั้น ฝ่ายสหราชอาณาจักรได้ให้พลเรือโทที่มีตาข้างหนึ่งบอด ซึ่งมีชื่อว่า โฮราทิโอ เนลสัน (Vice Admiral Horatio Nelson) สั่งการบนเรือหลวงเอเลแฟน (HMS Elephant) นำพลเป็นทัพหน้า เพื่อเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้าม
แต่ระหว่างที่การศึกของทัพหน้ากำลังโรมรันกันอย่างดุเดือดอยู่นั้น ได้เกิดควันปืนลอยโขมงจนทำให้ฝ่ายทัพหลวง ที่คอยสั่งการและสนับสนุนอยู่ทางด้านหลัง มีทัศนวิสัยไม่ชัดเจน จนประเมินสถานการณ์ไม่ได้
ท่ามกลางควันโขมงนั้นเอง ผู้นำทัพหลวงของฝ่ายสหราชอาณาจักร อย่าง พล.ร.อ.ไฮด์ ปาร์กเกอร์ (Admiral Hyde Parker) ยังพอมองเห็นธงจากเรือที่ทัพหน้าถึง 3 หลัง ที่ส่งสัญญาณบอกว่า การรบเป็นไปอย่างยากลำบาก ซ้ำร้ายหนึ่งในจำนวนธงสัญญาณเหล่านั้นถึงกับระบุว่า ไม่สามารถรุกคืบหน้าต่อไปได้เลยด้วยอีกต่างหาก
เมื่อเห็นท่าจะไม่ดีอย่างนี้แล้ว นายพลปาร์กเกอร์จึงได้สั่งให้ชักธงส่งสัญญาณเรียกให้ทัพหน้าล่าถอยกลับมาได้ โดยที่ พล.ร.อ.ปาร์กเกอร์ ได้กล่าวกับนายธงเรือ (flag captain) ว่า ถ้าหาก พล.ร.ท.เนลสันเห็นธงสัญญาณแล้ว ประเมินสถานการณ์ว่า ยังรบพุ่งต่อไปได้เขาก็จะไม่สนใจสัญญาณธง แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เขาก็จะล่าถอยกลับมาโดยไม่มีความผิดทางวินัย
และ พล.ร.ท.เนลสันก็ทำเช่นนั้นจริงๆ นะครับ
เพราะเมื่อเห็นสัญญาณธงจากทัพหลวงแล้ว เขาก็ได้หันกลับไปบอกกับนายธงของตนเองที่ชื่อ โธมัส โฟลีย์ (Thomas Foley) ว่า
“รู้ไหมโฟลีย์? ฉันมีตาเพียงข้างเดียว ฉันจึงมีสิทธิ์ที่จะ (ทำเป็น) ตาบอด (จนไม่รู้ไม่เห็นอะไร) บ้างในบางครั้ง”
จากนั้นเขาก็เอากล้องส่องทางไกลพาดไว้กับตาข้างที่บอดสนิทของตนเอง แล้วพูดออกมาว่า
“ฉันมองไม่เห็นสัญญาณอะไรเลยจริงๆ”
พล.ร.ท.เนลสันประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง เพราะเมื่อเขาเลือกที่จะแกล้งทำเป็นเมินเฉยต่อสัญญาณธงที่สั่งให้ถอนทัพแล้ว ทัพของฝ่ายตรงข้ามก็ยอมยกธงขาวในเวลาหลังจากนั้นเพียงไม่นานนัก ส่วนคำพูดของ พล.ร.ท.นายนี้ก็กลายเป็น “วรรคทอง” ที่กลายมาเป็นภาษิตที่ใช้กันโดยทั่วไปในโลกภาษาอังกฤษว่า “Turning a blind eye” นั่นแหละ
และที่มาของภาษิตบทนี้คงจะมีที่มาง่ายๆ ตามอย่างเรื่องราวที่ผมเล่าให้ทั้งหมดข้างต้นนี้ ถ้าพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ไม่ระบุเอาไว้ว่า มีหลักฐานการใช้ภาษิตบทดังกล่าวมาตั้งแต่ใน พ.ศ.2341 คือ 3 ปีก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ยุทธนาวีโคเปนเฮเกนแล้ว
ดังนั้น ภาษิตบทนี้จึงไม่น่าจะมีกำเนิดมาจากคำพูดของ พล.ร.ท.เนลสัน อย่างที่มักจะกล่าวอ้างกันอยู่บ่อยหนในโลกตะวันตกแน่
ประวัติศาสตร์ของภาษิตบทนี้ จึงเป็นเรื่องที่ถ้าไม่รู้คุณก็อาจจะตาบอดข้างหนึ่ง ไม่ต่างกับพลเรือโทแห่งสหราชอาณาจักรคนดังกล่าว แต่ถ้าคุณเชื่อมันโดยไม่มีข้อกังขาคุณก็ตาบอดสองข้าง เหมือนอย่างวรรคทองอันเป็นที่มาของข้อเขียนชิ้นนี้ แต่นี่ก็ไม่ใช่ที่มาโดยตรงของวลีนี้อยู่นั่นเอง
นอกเหนือจากภาษีเก่าแก่อายุ 200 กว่าปีข้างต้นแล้ว ก็ยังมีวรรคทองในโลกภาษาอังกฤษอีกบทหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกัน อย่างน้อยอีกหนึ่งบท คือ
“Dwell on the past and you’ll lose an eye. (But, if) forget the past and you’ll lose both eyes.”
วรรคทองข้างต้นอาจจะแปลเป็นไทยง่ายๆ ได้ใจความว่า
“การจมปลักอยู่กับอดีตจะทำให้คุณสูญเสียตาไปข้างหนึ่ง (แต่ถ้า) ลืมอดีตจนหมดสิ้น ก็จะทำให้คุณเสียตาไปทั้งสองข้าง”
ข้อความข้างต้นผมตัดตอนมาจากประโยค 2 ประโยคถ้วน (ซึ่งก็คือเหตุผลให้ผมต้องใส่วงเล็บคั่นไว้ตรงกลางว่า But, if เพื่อเชื่อมประโยคทั้งสองเข้าด้วยกันจนมีพลความครบถ้วน) จากหนังสือสารคดี non-fiction ชื่อดังชิ้นหนึ่งของโลก ที่มีชื่อว่า “The Gulag Archipelago : An Experiment in Literary Investigation” ขนาด 3 เล่มจบ ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์ของนักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซีย ควบตำแหน่งนักเขียน รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม อย่าง อเล็กซันดร์ โซลเซนิตซิน (Aleksandr Solzhenitsyn, พ.ศ.2461-2551) โดยหนังสือชุดที่ว่านี้ เคยถูกแปลแบบย่อความออกมาในชื่อภาษาไทยว่า “ชีวิตคุกรัสเซีย” โดย เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์
อันที่จริงแล้ว คำว่า “gulag” ซึ่งมักจะแปลกันว่า “คุก” (เช่นเดียวกับฉบับแปลไทยโดยคุณเดชชาติ) เป็นตัวอักษรย่อของสำนักงานบริหารหลักค่ายแรงงานแห่งสหภาพโซเวียต ที่ถูกจัดตั้งโดยอดีตประธานคณะกรรมการราษฎรแห่งสหภาพโซเวียต ที่มักจะรู้จักกันในชื่อ วลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin, พ.ศ.2413-2467) ที่มีชื่อในภาษารัสเซียว่า “Glavnoye upravleniye lagerey๐ ความหมายแต่ดั้งเดิม จึงไม่ได้หมายถึงคุกมาตั้งแต่ดั้งเดิมอย่างที่มักจะเข้าใจกันโดยทั่วไป
แต่ก็แน่นอนว่า หนังสือชุด The Gulag Archipelago ที่ว่านี้ของโซลเซนิตซิน เป็นหนังสือตีแผ่ และวิจารณ์สภาพของ “ค่ายแรงงาน gulag” ที่ว่านี้ ก็ไม่ต่างอะไรไปจาก “คุก” นักหรอกนะครับ
เผลอๆ นักโทษในคุกของประเทศที่เจริญแล้ว ยังจะมีความเป็นอยู่สะดวกสบายมากกว่าผู้คนที่ถูกส่งเข้าไปอยู่ในค่ายแรงงานที่แสนจะโหดเหี้ยมนี้เสียอีก
โดยเฉพาะเมื่อความจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ที่ถูกส่งไปอยู่ในค่ายแรงงาน gulag นั้น ประกอบไปด้วยนักโทษจำนวนมาก แถมยังมีตั้งแต่อาชญากรผู้น้อยไปจนถึงนักโทษการเมือง ที่จำนวนมากถูกตัดสินผ่านกระบวนการง่ายๆ (แต่ไม่ยุติธรรม ดังนั้น บ่อยครั้งจึงเป็นการลงโทษนอกระบบกกฎหมาย) ของพลาธิการกิจการภายในประชาชน
ที่สำคัญก็คือ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อันที่จริงแล้ว อะไรที่เรียกว่า “ค่ายแรงงาน gulag” นั้น ก็คือเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองของสหภาพโซเวียตนั่นแหละ
ดังนั้น ถ้าไม่แกล้งปิดตาข้างหนึ่ง แล้วทำเป็นไม่เดียงสาทางการเมืองไปเสียหน่อย ก็คงพอจะจินตนาการถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในค่ายกักกันที่ว่านี้ได้ โดยแทบจะไม่ต้องอ่านหนังสือสารคดีชุดที่ว่าของโซลเซนิตซินด้วยซ้ำไป
แต่ถ้าไม่ได้อ่าน The Gulag Archipelago ก็คงไม่รู้หรอกนะว่า โซลเซนิตซินได้บอกกับใครต่อใครเอาไว้ว่า การจมปลักอยู่กับอดีตจะทำให้คุณสูญเสียตาไปข้างหนึ่ง (แต่ถ้า) ลืมอดีตจนหมดสิ้น ก็จะทำให้คุณเสียตาไปทั้งสองข้าง เอาไว้ตั้งแต่ในหนังสือเล่มแรกของหนังสือสารคดีชุดนี้เลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุด ผมก็ไม่รู้อยู่ดีว่า วงวิชาประวัติศาสตร์ในบ้านเราไปเอาวรรคทองที่เป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนชิ้นนี้มาจากไหน? แต่อย่างน้อยก็ช่วยตอกย้ำว่าธรรมชาติของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์นั้น จึงต้องรู้เล่ห์เหลี่ยมของมัน ที่บางทีก็ทำให้เราตาบอดไปข้างหนึ่ง หรือบางครั้งก็ทั้งสองข้าง เหมือนอย่างความหมายในวรรคทองดังกล่าวนั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ