ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
คำ ผกา
สทร. สะท้อนสลิ่มในดีเอ็นเอ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นกลไกปกติของการเมืองระบบรัฐสภาเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเราก็ไม่ไร้เดียงสาเสียจนไม่รู้ว่าการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนี้ไม่จำเป็นต้อง “เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” แต่เป็นไปเพื่อให้รัฐบาลอ่อนแอลง
เพราะหากรัฐบาลไม่อ่อนแอ ไม่เสียความนิยมแล้ว เมื่อไหร่ฝ่ายค้านจะช่วงชิงคะแนนนิยมมาเป็นรัฐบาลบ้างล่ะ?
และนี่คือความสนุกของการอยู่ในสังคมประชาธิปไตย
เราอาจอยู่กับฝ่ายค้านปากแจ๋ว
อยู่กับฝ่ายรัฐบาลที่ทำงานสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง
แต่ประชาชนไม่ใช่ของตายของใคร ใครมีวิธีไหนจะชนะใจประชาชนก็ขุดขึ้นมาใช้ และต้องตอกย้ำกันบ่อยๆ ว่า คนไทยต้องเลิก romanticized ประชาธิปไตยด้วยวาทกรรม “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”
เพราะยิ่งประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่มีอะไรรับประกันหรอกว่าเราจะมีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศแล้วความยุติธรรมจะบังเกิดทันที ความเหลื่อมล้ำจะหมดทันที ทุนเจ้าสัวจะล้มหายตายจากทันที การปฏิรูประบบราชการจะเกิดทันที ส่วยตำรวจหายไปทันที
การสะกดจิตตัวเองด้วยวาทกรรม (หรือบทกวี) “เมื่อท้องฟ้าเป็นสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” คือก้าวแรกของการจัดวางตัวเองให้อยู่ในจุดที่ต้อง “อกหัก” กับประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า
เพราะดูเหมือนว่าอุตส่าห์มีประชาธิปไตยแล้ว อุตส่าห์มีการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่เห็นว่าอะไรๆ มันจะดีขึ้น
แต่ฉันอยากจะยืนยันหลังจากมีการเลือกตั้ง และประเทศบริหารด้วยรัฐบาลพลเรือนนั้น ประเทศเราดีขึ้น
ดีขึ้นเรื่องอะไรบ้าง?
เสรีภาพสื่อ สิ่งที่ยืนยันความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยตอนนี้คือสื่อทุกสำนัก “รัก” ฝ่ายค้านหมด และ “ด่า” รัฐบาลหมด
นี่คือบรรยากาศของสื่อในสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ.2544-2549 ในห้วงเวลาที่เราอยู่กับประชาธิปไตยเต็มใบ สื่อทุกสำนักเป็นศัตรูกับรัฐบาล
และพีกไปจนกระทั่งเจ้าของสื่อใหญ่ กลายมาเป็นผู้นำม็อบโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือม็อบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
สื่อไทยทุกสำนักจะเลิกเป็นศัตรูรัฐบาลและเชลียร์รัฐบาลอย่างหนักก็ต่อเมื่อเกิดรัฐประหารและประเทศบริหารโดย ครม.ของรัฐบาลทหาร กลไกนิติบัญญัติขับเคลื่อนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อไหร่ที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ สื่อจะไม่ด่านายกฯ สื่อจะไม่ด่ารัฐบาลเลย สื่อไหนด่ารัฐบาลก็ไปแบกรับความเสี่ยงเอาเอง
ภูมิทัศน์สื่อเพิ่งจะมาเปลี่ยนอีกครั้งก็เมื่อช่วงท้ายๆ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง จนกระทั่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งหลังเลือกตั้ง และจนจบลงด้วยการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว
สื่อก็ได้กลับมาทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน” อย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้ง นั่นคือได้ด่ารัฐบาลทุกวัน ทุกเรื่อง ตั้งแต่รองเท้า เสื้อผ้านายกฯ ไปจนถึงความโปร่งใสของนโยบายต่างๆ
แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคก้าวไกล พรรคประชาชน เป็นพรรคที่ทำคอนเทนต์ได้ตรงจริตสื่อ พูดเก่ง เขียนเก่ง ฉะฉาน ด่าสนุก มีหลายแคแร็กเตอร์ตอบทุกโจทย์
ทั้งแคแร็กเตอร์นักวิชาการ แคแร็กเตอร์ป้าข้างบ้านปากจัด แคแร็กเตอร์สก๊อยชนแหลก แคแร็กเตอร์ชายแท้เบี้ยวๆ แคแร็กเตอร์เอ็นจีโอ แคแร็กเตอร์เนิร์ด แคแร็กเตอร์สุภาพเป็นมิตรกับทุกคน แคแร็กเตอร์เด็กอีตันนักโต้วาที
เหล่านี้ต้องยอมรับว่า พรรคไหนก็สู้ไม่ได้ เพื่อไทยก็สู้ไม่ได้ ภูมิใจไทยก็สู้ไม่ได้
เราอาจมีนายกฯ เจนวาย แต่พรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชน เป็นพรรคการเมืองที่เป็นเจน เนทีฟดิจิทัล
“จริต” การสื่อสาร ภาษาที่ใช้ มันคือภาษาที่ “สื่อ” ยุคสมัยนี้ต้องการและเป็นจริตที่ผู้บริโภคอยากจะได้ยิน
ในฐานะประชาชนฉันมองเรื่องนี้เป็น “ความก้าวหน้า” ของสังคมไทย สื่อมีเสรีภาพในการด่ารัฐบาล ด่านายกฯ ประชาชนจะด่ารัฐบาลอย่างไรก็ไม่โดนฟ้องปิดปาก ไม่มีการข่มขู่ คุกคาม
ฝ่ายค้านมีพื้นที่สื่อมหาศาล ไม่มีใครถูกปิดกั้นให้พูดอะไรทั้งนั้น
สื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลอย่าง NBT มีงบฯ แค่ปีละ 300 ล้าน แต่สื่อ “สาธารณะ” อย่างไทยพีบีเอสมีงบฯ ปีละสามพันล้าน ก็เป็นพื้นที่ในการด่ารัฐบาลอย่างเปิดเผย ก็ไม่เห็นว่าใครจะไปตัดงบฯ หรือพยายามจะไปครอบงำ ก็ยังให้ ngos และนักวิชาการ ในนั้นทำงานอย่างอิสระ
มองในมิตินี้ฉันไม่ได้เห็นว่ามีอะไรถดถอย สิ้นหวังอย่างที่ด้อมส้มโดยเฉลี่ยรู้สึก
รัฐบาลไม่เก่ง?
รัฐมนตรีพาณิชย์มาพูดอะไรบ้งๆ เรื่องให้เปลี่ยนไปปลูกกล้วยหรือให้คนไทยหันมากินข้าวเพิ่มขึ้น แหม ฟังแล้วโกรธจัง โกรธๆๆ สิ้นหวังๆๆๆ ทำไมเราไม่มีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ศิริกัญญา ตันสกุล และทีมนักวิชาการของพรรคส้มมาบริหารประเทศนะ โกรธๆๆๆ
ซึ่งฉันก็จะบอกอีกนั่นแหละว่า การมีรัฐมนตรีไม่เก่ง ไม่ใช่อาชญากรรม และอายุของ ครม.นี้ก็เหลืออีกแค่สองปี ไม่นับว่าในระหว่างสองปีก็อาจมีการปรับ รม.อีก (ซึ่งก็ไม่ได้รับประกันว่าจะได้คนเก่งกว่าเดิม)
แต่นี่คือโลกแห่งความเป็นจริงของระบอบประชาธิปไตยว่ามันไม่ได้และไม่เคยการันตีเรื่อง “ความเก่งกล้าสามารถ” มันการันตีแค่เดิมพันของการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่า พรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้จะได้ไปต่อหรือไม่?
ไม่นับว่าการสื่อสารของ “บูมเมอร์” แบบ พิชัย นริพทะพันธุ์ ก็ไม่ถูกจริตกับสังคมสมัยนี้ที่อาจจะอยากฟังการสื่อสารในอีก “ภาษา” หนึ่ง อาจต้องมีศัพท์แสงที่หรูหราถูกจริตปัญญาชนสักหน่อย
เช่น อาจจะพูดว่า “วันนี้ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปช่วยเหลือชาวนาอย่างไม่เงื่อนไข เพราะข้าว นาข้าว และพี่น้องชาวนามีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทยเสมอมาในแง่คุณค่าเชิงสัญลักษณ์ คุณค่าในเชิงมรดกทางภูมิปัญญา เราต้องให้ความสำคัญกับข้าวและชาวนาผู้มีบุญคุณกับเรา”
“แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มของวิถีเกษตรกรรมในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และตลาด เราต้องลดพื้นที่ทางการเกษตรลงแต่ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เกษตรในอนาคตต้องเป็นเรื่องของทำน้อยได้มาก ปลูกน้อยขายแพง อันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ให้ยั่งยืนและไม่มีใครต้องบอบช้ำ”
“อนึ่ง ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าประเทศไทยได้โควต้าส่งออกกล้วยหอมไปยังประเทศญี่ปุ่นมากถึงปีละแปดพันตัน แต่เรายังส่งออกได้แค่ปีละสองพันกว่าตัน ไม่ถึงสามพันตันด้วยซ้ำ ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการกล้วยหอมจากประเทศไทยอีกมาก คงต้องหารือกับกระทรววงเกษตรฯ ว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะให้ชาวนาที่พร้อมจะเปิดใจ หันมาทดลองปลูกกล้วยหอม ควบคู่ไปกับการปลูกข้าวด้วย และแนวโน้มรักษาสุขภาพของคนสมัยใหม่ที่บริโภคข้าวน้อยลงเรื่อยๆ เราอาจต้องมองการแปรรูปข้าวให้เป็นสินค้าที่มีราคาสูง เช่น สุรา หรือเครื่องดื่มในเชิงสุขภาพอื่นๆ สัญญาว่าจะทำงานหนักต่อไปเพื่อพี่น้องประชาชนครับ”
ถ้าพูดด้วยภาษาฟูมฟายเชิงวรรณกรรมเพ้อเจ้อแบบนี้ รับรองว่าไม่โดนด่า
และโปรดสังเกตว่านี่คือภาษาแบบที่พรรคส้มใช้สื่อสารและมันถูกจริต “สื่อ” มากกว่า แต่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคบูมเบอร์จริงๆ นั่นคือยังติดการสื่อสารแบบเกริ่นนำ สาธยาย ชักแม่น้ำ บาลี สันสกฤต กลอนแปด ฯลฯ ใช้ภาษาแบบมัคนายกวัดในการสื่อสาร
ซึ่งท้ายที่สุด กลวิธีการสื่อสารแบบนี้ก็ไม่สอดคล้องกับนโยบายล้ำๆ หลายอย่างที่รัฐบาลทำ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัอลวอลเล็ต เอ็นเตอร์เมนต์คอมเพล็กซ์ สมรสเท่าเทียม สุราเสรี มาตรการปกป้องแรงงานในอุตสาหกรรมบริการทางเพศ สิทธิการทำแท้ง แลนด์บริดจ์ ฯลฯ
แต่ก็นั่นหละ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีอะไรเป็นภัยคุกคาม “ระบอบประชาธิปไตย” และที่ฉันเห็นฝ่ายค้าน รวมถึงด้อมส้มควรจะดีใจคือ ณ วันนี้สิ่งที่เข้มแข็งคือประชาธิปไตย แต่สิ่งที่อ่อนแอคือรัฐบาล เพราะเจอโจทย์ยากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สงครามการค้าที่กำลังจะมาถึงตัวเราอีกไม่ช้า ภาระงบประมาณที่รายจ่ายประจำสูงกว่ารายจ่ายเพื่อการลงทุน
สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ก็เพียงมาตรการเล็กๆ น้อยๆ พยุงสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ยังไม่มีนโยบายที่จะเป็น game changer เช่น ในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มี Thailand 2020
มองแบบนี้กองเชียร์รัฐบาลหรือโหวตเตอร์เพื่อไทยอาจจะรู้สึกท้อ เพราะไม่รู้จะไปหาคะแนนนิยมเพิ่มจากตรงไหนเลย และอาจจะลดด้วยซ้ำ
ในแง่นี้ถ้าฉันเป็นพรรคประชาชน ฉันจะสบายใจมาก ฝ่ายค้านแทบไม่ต้องทำอะไร ตรวจสอบรัฐบาลไปตามเนื้อผ้า เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง (ไม่ใช่เอาความหายนะของพรรคเพื่อไทยหรือนางแบกเป็นที่ตั้ง) มันจะเป็นห้วงเวลาของการเก็บคะแนนสะสมไปสู่การเลือกตั้งปี 2570 แบบสบายๆ
แต่ด้วยธรรมชาติของเนทีฟดิจิทัลด้วยหรือเปล่าไม่รู้ ที่ทำให้จุดแข็งของพรรคประชาชนก็เป็นจุดอ่อนของพรรคประชาชนไปด้วย นั่นคือ พรรคมีแนวโน้มเล่นกับ “กระแส” จนไม่แน่ใจว่า นี่เป็นสาระการทำงานของพรรคการเมืองหรือวาระการทำงานของสำนักข่าวกันแน่
พอเล่นกับกระแสแบบไม่รอบคอบ ไม่ละเอียด่อนก็โดนกระแสตีกลับ เช่น ธิษณา ชุณหะวัณ โดนเรื่องพรรคประชาชนพม่า หรือมี ส.ส.ไปพูดคึกคะนองเรื่องเอาค่ายทหารไปเป็นที่ทิ้งขยะ
เรื่องภาคใต้ที่ทำให้เกิดกระแสถูกกล่าวหาเป็นพรรคบีอาร์เอ็นอย่างไม่เป็นธรรมเลย
แม้แต่เรื่องอุยกูร์ก็เจอกระแสชาตินิยม (ที่ปฏิเสธไม่ไดว่าเป็นกระแสหลักของสังคมไทย) ตีกลับ
และอย่าลืมว่าฐานเสียงพรรคส้มไม่ได้มาจากคนที่มีแนวคิด “ก้าวหน้า” เท่านั้น ยังมีคนล้าหลังคลั่งชาติที่หันมาเลือกส้มเพียงเพราะเกลียดทักษิณก็ไม่น้อย คนเหล่านี้พอมาเจอประเด็นค่ายทหาร ตากใบ อุยกูร์ บีอาร์เอ็นก็ถอยกรูด
(แต่ไม่ได้แปลว่าจะหันมาเชียร์เพื่อไทย เข้าใจว่าน่าจะกลับไปเติมเสียงให้พรรคปีกอนุรักษนิยมมากกว่า)
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งของพรรคประชาชนที่ฉันเห็นว่าแปลก นั่นคือการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่น่าจะเป็นมรรคเป็นผลมากหากจะอภิปรายทั้งตัวนายกฯ และรัฐมนตรี
เหตุที่ฉันเห็นว่าจะเป็นมรรคเป็นผล เพราะมีประเด็นที่น่าเอามาอภิปรายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในประเทศระยะยาว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนักโทษการเมือง เรื่องสัมฤทธิผลของโครงการดิจิทัอลวอลเล็ต เรื่องงบฯ ประกันสังคม เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เรื่องการศึกษา เรื่องคุณภาพอากาศ เรื่องจีดีพี เรื่องสันติภาพชายแดนใต้ เรื่องคอลเซ็นเตอร์ เรื่องความอื้อฉาวในวงการตำรวจ เรื่องเอ็นเตอร์เมนต์คอมเพล็กซ์ เรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน ฯลฯ
เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่แตะไปตรงไหนของรัฐบาลมันก็มีเรื่องให้ด่าทั้งนั้นแหละ ด่าให้ถูกจุด จี้ให้ถูกจุด หากรัฐบาลชี้แจงได้ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ฝ่ายค้านก็ได้คะแนนนิยม หากชี้แจงไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลซวนเซไป ประชาชนก็ได้ประโยชน์อยู่ดี
การอภิปรายรัฐมนตรีรายกระทรวงย่อมทำให้เกิดภาวะ “เก้าอี้ร้อน” ถ้าเราเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง นี่คือการกดดันให้นายกฯ ต้องปรับ ครม. โดยใช้ผลงานเป็นตัวตั้ง มากกว่าการเอาโควต้าเป็นตัวตั้ง (ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของพรรคประชาชนเสมอมามิใช่หรือ)
การอภิปรายรัฐมนตรีรายกระทรวงนี่แหละ จะช่วยสร้างความชอบธรรม ให้น้ำหนักแก่นายกฯ ในการปรับ ครม. เอาคนที่น่าจะทำงานได้ดีกว่าเข้ามาทำงานแทน
ส่วนรัฐมนตรีคนไหนหนาวๆ ร้อนๆ กลัวถูกปรับออกก็ต้องเร่งทำงาน เร่งสร้างผลงาน จะมาเป็นรัฐมนตรีแค่ทำงานตามน้ำ พอใจแค่ได้ใส่ชุดขาว ได้เครื่องราชฯ เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลไม่ได้อีกต่อไป
ถ้าอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบนี้ ฉันคิดว่าประชาชนจะแฮปปี้ จะเอาใจช่วยฝ่ายค้าน และจะเป็นการสะสมแต้มคะแนนนิยมที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า constructive อันเป็นความหมายที่ตรงกันข้ามกับคำว่า destructive คืออภิปรายรัฐบาลแล้วฝ่ายค้านได้แต้มต่ออย่างยั่งยืน
แต่ปรากฏว่าฝ่ายค้านเปลี่ยนใจไม่อภิปรายรัฐมนตรีกระทรวงไหนเลย และต้องการจะอภิปรายนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร พร้อมๆ กับอภิปรายไม่ไว้วางใจทักษิณ ชินวัตร
ตามเหตุผลที่หัวหน้าพรรคประชาชนโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า “หลายการสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนต้องตั้งคำถามว่า ใครคือนายกฯ ตัวจริง และความเข้าใจในการบริหารราชการแผ่นดินจริงหรือไม่?…เมื่อคุณทักษิณเองแสดงบทบาทโดยชัดเจนว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน คุณทักษิณก็ย่อมอยู่ในสถานะบุคคลสาธารณะและควรมีความรับผิดชอบโดยต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้ ไม่ใช่ลอยตัวเหนือการถ่วงดุล ตรวจสอบ ทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง โดยที่ไม่มีใครแตะต้องได้…ตัวนายกรัฐมนตีควรแสดงความเข้าใจกระบวนการในส่วนนี้ของสภา ตอบทุกข้อสงสัย ว่าตกลงแล้วคุณทักษิณในฐานะที่เป็นบิดา เป็นผู้ชักใยการบริหารราชการแผ่นดินอยู่จริงหรือไม่ ถ้านายกฯ ยืนยันว่าไม่ จะกลัวอะไรกับการกล่าวหาที่ไร้น้ำหนักของฝ่ายค้าน”
อ่านแล้วก็เข้าใจวิธีคิดของฝ่ายค้าน (หลังจากที่เข้าใจไม่ได้มาหลายวัน) นั่นคือ พรรคประชาชนเชื่อว่า นายกฯ แพทองธารไมใช่นายกฯ ตัวจริง เป็นนายกฯ หุ่นเชิดของทักษิณ ผู้เป็นบิดา
และพรรคประชาชนยังเชื่ออีกว่า แพทองธารเป็นผู้หญิงที่ไม่มีความรู้เรื่องการเมือง การบริหารประเทศ มาเป็นนายกฯ นอมินีสมองกลวงไปวันๆ ให้ผู้เป็นพ่อเท่านั้น
ซึ่งหากมองในจุดนี้เราจะได้กลิ่นการเหยียดเพศหญิงลอยมาแต่ไกล (การเหยียดในที่นี้หมายถึงฝ่ายซ้ายจะชื่นชมผู้หญิงที่ประพฤติตนเป็นปัญญาชน เป็นนักต่อสู้ เป็นผู้สละแล้วซึ่งความสุขสบาย อุทิศกายเพื่อมวลชน และดูหมิ่นเหยียดหยามผู้หญิงที่ทำตัวเป็นผู้หญิง เป็นลูกสาว เป็นแม่)
สมมุติฐานของฝ่ายค้านหรือพรรคประชาชนคือ แพทองธารเป็นผู้หญิง สวย รวย โง่ ลำพังตัวแพทองธารเองไม่มีทางเป็นนายกฯ ได้ด้วยตัวเองหากไม่ได้เกิดมาเป็นลูกสาวของทักษิณ และเมื่อเป็นนายกฯ แล้วก็โชว์โง่ไม่หยุด ไม่เห็นจะมีความรู้เรื่องการบริหารประเทศ วันๆ ก็ลอยหน้าลอยตาพูดอะไรไม่รู้เรื่อง ส่วนคน “รัน” ประเทศจริงๆ คือทักษิณ
ดังนั้น ถ้าทักษิณเป็นตัวจริงที่ “รัน” ประเทศอยู่ ฉันก็ต้องยื่นญัตติอภิปรายทักษิณนี่แหละ เราจะมาปล่อยให้ทักษิณ “รัน” ประเทศนี้โดยไม่ถูกตรวจสอบ ซักฟอก ถ่วงดุลได้อย่างไร
โดยตรรกะนี้ พรรคประชาชนต้องการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่ชื่อทักษิณ เพราะพรรคประชาชนเชื่อว่า ทักษิณคือนายกฯ ตัวจริง
แต่ปัญหาคือ นี่เป็น “ความเชื่อ” ของพรรคประชาชน ซึ่งไม่มีอะไรมารับประกันว่าคนไทย 70 ล้านคนเชื่อเหมือนที่พรรคประชาชนเชื่อ
เช่น บางคนอาจจะคิดว่านายกฯ ตัวจริงคือ ทีมบ้านพิษณุโลก สมมุติมีคนเชื่ออย่างนั้น พรรคประชาชนไปห้ามไม่ให้เขาเชื่อได้หรือไม่?
ในขณะที่หัวหน้าพรรคประชาชนบอกว่า นายกฯ แพทองธารไม่เข้าใจเรื่องกลไกสภา และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
คนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างที่สุดกลับเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนเสียเอง
เพราะความพยายามจะใส่ชื่อทักษิณลงไปในญัตติสภา มันคือจุดเริ่มต้นของการทำลายหลักนิติรัฐ ที่แม้เราจะไม่เห็นด้วย แม้เราจะ “รู้สึก” ว่าคนบริหารประเทศชื่อทักษิณ ไม่ได้ชื่อแพทองธาร แต่กระดุมเม็ดแรกที่เราจะต้องติดให้ถูกคือเราต้องทำตามกติกา ตามกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนว่า จะอย่างไรเสีย ตอนนี้แพทองธารคือนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ถูกต้องตามกฎหมาย
และการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ต้องใส่ชื่อนายกฯ แพทองธารไปตามครรลองที่ปรากฏให้เป็นอย่างเป็น official จากนั้นในเนื้อหาของการอภิปราย ฝ่ายค้านจะหยิบยกกี่พยาน หลักฐานมาซักฟอกแพทองธารว่า กระทำการเป็นนายกฯ โดยมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ก็เอาหลักฐานนั้นมาโชว์ในสภาเลย
แพทองธารไม่ได้ทำงานในฐานะนายกฯ และปล่อยให้คนอื่นมาทำงานในฐานะนายกฯ แทนอย่างไรบ้าง หากมีหลักฐานชัดเจน จนทั้งสภาตื่นตะลึง คนทั้งประเทศต้องอ้าปากค้าง
แน่นอนว่า แพทองธารก็จะหมดความชอบธรรมลงเรื่อยๆ เผลอๆ อาจจะไม่ได้รับเสียงไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นได้
และพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะต้องลุกมาขอบคุณพรรคประชาชนที่ทำให้พวกตาสว่าง เพราะถูกหลอกมาตั้งนานว่าแพทองธารเป็นนายกฯ
ดังนั้น ต่อให้เชื่อว่านายกฯ แพทองธารไม่ได้เป็นนายกฯ ตัวจริง แต่กระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดคือต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่ชื่อแพทองธารนั่นแหละ จะข้ามไปอภิปรายทักษิณ ที่ไม่ได้อยู่ในสภาทำไม?
และการไม่ใส่ชื่อทักษิณ ก็ไม่ได้แปลว่าจะอภิปรายเกี่ยวกับทักษิณไม่ได้ หากทักษิณคือตัวละครสำคัญในเนื้อหาที่จะอภิปรายกันจริง
ไม่เพียงเท่านั้น การอ้างว่าทักษิณเป็นบุคคลสาธารณะ จึงต้องถูกตรวจสอบ ถ่วงดุล วิพากษ์วิจารณ์ได้ สะท้อนให้เห็นถึงความบ้องตื้นของเท้งหัวหน้าพรรคประชาชนอีก
เพราะเท้งแยกไม่ออกหรือว่า บุคคลสาธารณะ กับบุคลคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นไม่เหมือนกัน
ทักษิณเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมถูกวิจารณ์ ด่าทอ ล้อเลียนอะไรได้ทุกอย่าง ไม่ผิดกฎหมาย
แต่ทักษิณไม่ใช่บุคคลสาธารณะ เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกฯ ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย
ดังนั้น เขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องถูกตรวจสอบในสภา เว้นแต่ว่า ทักษิณไปทำธุรกรรมอะไรกับรัฐบาลที่ไม่ชอบมาพากล
ทักษิณเป็นเจ้าของที่ดินที่ขายให้กับรัฐในราคาที่แพงกว่าปกติ จึงต้องใช้สภาไปตรวจสอบ อันนั้นเข้าใจได้
แต่หากฝ่ายค้านจะมโนว่าทักษิณคือนายกฯ แล้วจะดันทุรังอภิปรายตรวจสอบทักษิณโดยบังคับให้ทุกคนเชื่อตามมโนของตนเอง ฉันว่ามันจะแปลกประหลาดเกินไป เพราะเราอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบมโนธิปไตยโดยมีพรรคประชาชนเป็นที่ตั้ง
เพราะฉะนั้น ฉันยืนยันว่า หากพรรคประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีความไว้วางใจในตัวนายกฯ แพทองธารว่าเป็นนายกฯ ที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ เป็นนายกฯ หัวอ่อน ปล่อยให้บิดามาครอบงำชักใย ฝ่ายค้านก็ควรเขียนญัตติพุ่งเป้าไปที่เรื่องนั้นเลย
ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องดึงดันจะใส่ชื่อทักษิณลงไปในญัตติให้ได้ เพราะการกระทำเช่นนั้น มันทำให้พรรคประชาชนถูกผีทักษิณหลอก ไม่ต่างอะไรจากที่สลิ่มเฟสหนึ่งเคยเป็นมาก่อน
นั่นคือเป็นภาวะเห็นทักษิณแล้วจิตใจมันร้อนรุ่ม อยู่ไม่สุข วันๆ มีแต่ความปรารถนาจะเอาชีวิตของตัวเองไปหมุนรอบๆ คำว่าทักษิณ
และมีความฝันอันสูงสุดคือชีวิตนี้เกิดมาแล้ว ฉันต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซาก
แต่เหนือสิ่งอื่นใด พรรคประชาชนต้องตระหนักด้วยว่า คนไทยไม่ต่ำว่าสิบล้านคนที่ไปโหวตเลือกพรรคเพื่อไทยนั้น เขารู้ว่าหนึ่งในแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยชื่อ แพทองธาร ชินวัตร และพวกเขาก็รู้ว่า บิดาของแพทองธาร ชินวัตร ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
ดังนั้น ในสายตาของพรรคประชาชนจะมองว่าแพทองธารไม่มีความรู้ ความสามารถ จะมองว่าแพทองธารเป็นหุ่นเชิดหรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นปัญหาของพรรคประชาชน
แต่คนที่เลือกพรรคเพื่อไทย เลือกแพทองธาร เขาคิดสะระตะแล้วว่า แพทองธารเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ
และเขาไม่มีปัญหาที่แพทองธารจะมีที่ปรึกษาชื่อทักษิณ
พรรคประชาชนยังต้องมีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีปิยบุตร แสงกนกกุล เป็น mentor ของพรรค แล้วทำไมพรรคเพื่อไทยหรือแพทองธาร จะมีทักษิณ มีเศรษฐา ทวีสิน มีหมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มี อ.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาไม่ได้?
พรรคประชาชนยังมีนักวิชาการตั้งหลายคนมาร่วมงาน ช่วยร่างกฎหมาย ช่วยเป็นกรรมาธิการ แล้วทำไมพรรคเพื่อไทย แพทองธาร จะมีพ่อตัวเองที่ผ่านประสบการณ์เป็นนายกฯ มาแล้วไม่ได้?
ความพยายามหลอกตัวเองว่า แพทองธารต้องไม่ปรึกษาพ่อเลย หรือทักษิณต้องเลี้ยงหลานเท่านั้นจึงเป็นความดัดจริตอย่างเหลือเชื่อ และคือความพยายามจะ depolicized การเมืองให้เหลือเพียงการบำเพ็ญเพียรของพระมหาไถ่ชื่อธร ชื่อเท้ง ชื่อไหม ชื่อพิธา บลา บลา ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา มีแต่เราเท่านั้นที่ทำการเมืองแบบปราศจากผลประโยชน์และ “ความสัมพันธ์” ใดๆ
สลิ่มน่ะ ต้องรู้ตัวบ้าง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022