สำรวจศักยภาพคนไทยและนวัตกรรมระดับโลก : การเดินทางผ่านมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ (ตอนที่ 1 – MIT)

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

บทความพิเศษ | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

สำรวจศักยภาพคนไทยและนวัตกรรมระดับโลก

: การเดินทางผ่านมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ

(ตอนที่ 1 – MIT)

 

จุดประสงค์หลักของการเดินทางครั้งนี้ของผมไปยังสหรัฐอเมริกาคือ การพบปะ พูดคุย และเรียนรู้ ผมต้องการเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้คืออะไร เชื่อมโยงกับกลุ่มคนไทยที่มีศักยภาพในต่างแดน และสำรวจโอกาสในการร่วมมือกันในอนาคต

อีกด้านหนึ่ง ผมพบว่าตัวเองต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยต่างให้ความสนใจอย่างมาก

การเดินทางครั้งนี้พาผมไปยังมหาวิทยาลัยที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ได้แก่ MIT, Harvard, Yale, Cornell, Berkeley และ Stanford แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ของตนเอง มีวัฒนธรรมทางวิชาการที่หล่อหลอมแนวคิดของนักวิจัยและนักศึกษาแตกต่างกันออกไป

ผมอยากใช้โอกาสนี้แบ่งปันประสบการณ์จากการได้สัมผัสแวดวงวิชาการ เมือง และกลุ่มคนเก่ง ในแต่ละที่แบบใกล้ชิด

MIT : พลังแห่งนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนโลก

มหาวิทยาลัยแรกที่ผมแวะเยือนคือ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้กลับมาพบ Professor Yasheng Huang อาจารย์ของผมที่ Sloan School of Management

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับชื่อของเขา ศาสตราจารย์หวงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง พัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีน และนวัตกรรม

งานวิจัยของเขาทำให้ผมเข้าใจว่าระบบสถาบันมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกำหนดทิศทางของโลกธุรกิจมากเพียงใด

อีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของผมที่ MIT คือการได้พบกับ Dava Newman ผู้อำนวยการของ MIT Media Lab เธอเป็นอดีตรองผู้บริหารของ NASA และเป็นนักวิศวกรรมอวกาศที่มีบทบาทสำคัญด้านการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจอวกาศ

นอกจากนี้ ผมยังได้พบกับ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัยชาวไทยที่ MIT ซึ่งเป็นความภูมิใจของเราทุกคน

MIT Media Lab

: โรงงานแห่งความฝันและอนาคต

MIT Media Lab เป็นมากกว่าสถาบันวิจัย เพราะที่นี่คือ “โรงงานผลิตอนาคต” ที่เต็มไปด้วยแนวคิดใหม่ๆ และความก้าวล้ำที่พลิกโฉมโลก

และปีนี้พวกเขากำลังทำภารกิจ “กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง” เป็นเครื่องเตือนใจว่า เมื่อวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์มาบรรจบกัน ความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด

MIT Media Lab มี 5 เสาหลักของงานวิจัย ที่เป็นตัวขับเคลื่อนแนวคิดและนวัตกรรม ได้แก่

1. Decentralized Society – สังคมกระจายศูนย์

การออกแบบระบบให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น ตั้งแต่การบริหารงานแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) ไปจนถึงการใช้ AI และ Blockchain เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม

2. Connected Mind and Body – เชื่อมโยงจิตใจและร่างกาย

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างสมอง มนุษย์ และเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ สมองกลฝังตัว และปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถทำงานร่วมกับความคิดของเราได้โดยตรง

3. Future Worlds – อนาคตแห่งโลกใบใหม่

การออกแบบสภาพแวดล้อมแห่งอนาคต ตั้งแต่เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ไปจนถึงโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร นักวิจัยของ MIT กำลังพัฒนา “สภาพแวดล้อมที่ตอบสนองต่อมนุษย์” ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามสภาพอากาศหรือความต้องการของผู้คนได้

4. Cultivating Creativity – การปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์

การนำศาสตร์ต่างๆ มาผสมผสานกัน ตั้งแต่ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ไปจนถึงเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่พลิกโลก

5. Life with AI – การทำให้เทคโนโลยีเป็นมิตรกับมนุษย์

ไม่ใช่เพียงพัฒนา AI หรือหุ่นยนต์ให้ล้ำหน้า แต่ต้องทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้ “รับใช้มนุษย์” มากกว่าแทนที่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น AI จริยธรรม เทคโนโลยีสีเขียว หรือหุ่นยนต์ที่ช่วยให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

 

MIT และบทเรียนสำหรับประเทศไทย

สิ่งที่ทำให้ MIT น่าทึ่งคือ งานวิจัยของพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแนวคิด แต่สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งทำให้ผมคิดว่า ประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้กับปัญหาสำคัญของเราได้อย่างไร

– “สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ” เพื่อป้องกันไฟป่า การใช้ AI และโดรน เพื่อตรวจจับไฟป่าตั้งแต่ต้น และควบคุมสถานการณ์ก่อนจะลุกลาม

– “IoT เพื่อจัดการน้ำท่วมเรื้อรัง”

ใช้เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังและปรับระบบน้ำให้เหมาะสมแบบเรียลไทม์

– “หุ่นยนต์ช่วยแรงงานลดอันตรายในโรงงาน”

หุ่นยนต์สวมใส่ (Exoskeleton) ช่วยลดอาการบาดเจ็บของแรงงานในอุตสาหกรรมหนัก เช่น ก่อสร้าง เกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม

การเยือน MIT ครั้งนี้ทำให้ผมเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า อนาคตไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องรอคอย แต่เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง และสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ คนไทยของเรามีศักยภาพที่จะร่วมสร้างมันได้

ตอนต่อไป : Harvard – รอติดตาม ด้วยนะครับ