ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ
เทียบฝีมือ DSI และ กกต.
ทำคดีฮั้วเลือก ส.ว.
หลอกคนทั้งประเทศ
ตลอดเวลา 8 เดือนที่ผ่านมานี่อาจจะเป็นแสงแห่งความหวังในการทำคดีทุจริตเลือก ส.ว. งานนี้บางคนบอกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าทั้งรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย จากเพื่อไทย และรัฐมนตรียุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ออกแรงจนสุดกำลังก็ยังปะทะกับอำนาจล็อบบี้แบบตรงๆ ไม่ได้ เพราะมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สนิทกับนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง คนทั้งประเทศจึงเห็นการประชุมกรรมการคดีพิเศษที่มีแต่คนหลีกหนีการประชุม
แต่สุดท้ายกระทรวงยุติธรรมก็ยังมีวิธีการเลี่ยงไปใช้กฎหมายฟอกเงิน เข้าไปสอบสวนขบวนการฮั้ว ส.ว.จนได้ หวังว่าการสืบสวนจะเดินหน้า โยงไปสู่คดีอั้งยี่ (ความผิดอาญา มาตรา 209)
เพราะ DSI มีการสืบสวนเบื้องต้นจนเชื่อได้ว่า การกระทำความผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ
กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ ต่อกฎหมายหลายฉบับ
มีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือก ส.ว. ต่อเนื่องมาจนถึงหลังจากการเลือกเสร็จสิ้นแล้ว
มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่
มีฝ่ายไอทีเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนน ออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้จำนวน ส.ว.ตามที่ต้องการ จ้างวานคนมาลงคะแนน ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ใช้เงินมากมาย
การดำเนินการกับขบวนการดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ
ถ้ารอ กกต.ก็ไม่รู้นานแค่ไหน หรือกลุ่มฮั้วจะอยู่อีกหลายปี หวังว่า DSI คงทำได้เร็ว ส่งอัยการ เพื่อฟ้องศาลให้ตัดสิน
คนที่จัดฮั้วเลือก ส.ว. ดูถูกคนไทย
มีผลกระทบต่อระบอบการปกครอง
ก่อนเปิดรับสมัคร ส.ว. ประเมินกันว่าจะมีคนสมัครถึง 200,000 คน แต่พอถึงวันสมัครจริงกลับปรากฏว่ามีคนสมัครไม่ถึง 44,000 คน ยิ่งคนสมัครน้อย กลุ่มจัดตั้งยิ่งได้เปรียบ
ถ้าให้ประเมินคร่าวๆ ก็แสดงว่ามีคนที่มาสมัครเพราะต้องการเป็น ส.ว.และต้องการมาสนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบใหม่โดยไม่มีใครว่าจ้างมา หวังจะทำให้มี ส.ว.คุณภาพดีขึ้น คนเหล่านี้น่าจะมีประมาณ 28,000 คน
แต่พอผลการเลือกและวิธีการปฏิบัติในการคัดเลือกออกมา ทั้งคนดู คนที่ลงไปร่วมคัดเลือกต่างก็ผิดหวังไปตามๆ กัน ยิ่งเมื่อ DSI แถลงผลสืบสวนออกมา สิ่งที่พวกเขารู้สึกก็คือ พวกเขาหลายหมื่นคนถูกหลอกให้ลงไปเป็นตัวประกอบ
คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพไม่ว่าจะทำงานมานานหรือเรียนจบมาจนถึงปริญญาเอกก็ไม่สามารถเอาชนะผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มฮั้วได้ ใครที่ดีเด่นแต่ไม่มีพวกก็จะตกตั้งแต่รอบอำเภอหรือจังหวัด เพราะถ้าเข้ามาในกรุงเทพฯ อาจจะกลายเป็นอุปสรรค กลายเป็นคู่แข่งของกลุ่มจัดตั้ง
ผลกระทบของการทุจริตเลือก ส.ว.
1. คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือคนที่มาสมัครแข่งขันโดยปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นอิสระและทำอย่างซื่อสัตย์ เสียโอกาส เสียเงิน เสียเวลา ตอนนี้กระแสที่เกิดขึ้นก็เริ่มจากคนที่ลงสมัครรู้สึกว่าตัวเองถูกโกงและถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำไมเขาจะต้องยอมรับผลการคัดเลือกซึ่งมาจากการทุจริตด้วย
2. กระทบกับกฎหมายข้อบังคับ เหมือนไม่เกรงกลัวบทลงโทษที่มีอยู่ พร้อมทั้งดูถูกกรรมการที่จัดการเลือกตั้งว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรกับเขาได้ ถ้าเขาจะทำผิดระเบียบและทำทุจริตในการเลือกแบบนี้ เขาคิดว่าจะมีอำนาจมืดมาช่วยได้
3. กระทบนิติบัญญัติ ทำให้เสื่อมความเชื่อถือ ดูถูกประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
มีทั้งคนถูกหลอก และเต็มใจให้หลอก
ถึงไม่ใช่แก๊งคอลเซ็นเตอร์แต่ก็มีลักษณะคล้าย คนเป็นหมื่นที่อยู่ในขบวนการฮั้ว ส.ว. มีทั้งคนที่เป็นเหยื่อคือถูกหลอกและคนที่เต็มใจมาทำงาน เพราะอยากได้เงินได้ตำแหน่ง
คนที่ผ่านการคัดเลือก ส.ว.มาถึงรอบระดับประเทศก็เกิดความฝัน คิดว่าอีกก้าวเดียวก็จะได้เป็น ส.ว.จริง ดังนั้น ปฏิกิริยาจึงจะไม่เหมือนกับกลุ่มที่ยอมลงคะแนนให้ในต่างจังหวัดเพียงได้ผลตอบแทนเล็กน้อยก็กลับบ้านได้
ความวุ่นวายจึงเริ่มเกิดขึ้นตรงนี้ เพราะทั้งกลุ่มที่คัดเลือกมาแบบอิสระหรือมีการจัดตั้งจากกลุ่มเล็กๆ ล้วนแต่ก็มีความฝันด้วยกันทั้งนั้น เมื่อหลอกกัน หักกัน ก็ต้องเปิดโปง
ในทางปฏิบัติ กลุ่มจัดตั้งได้มีการนัดหมายกันตั้งแต่อยู่ต่างจังหวัดแล้วและเคลื่อนตัวเข้ามาเก็บตัวเหมือนเข้าค่ายรวมกันตามสถานที่ที่ DSI สืบทราบมา คือโรงแรมรอบกรุงเทพฯ
นอกจากนั้น ยังมีการเสริมกำลังโดยการไปดึงแนวร่วม โดยอาศัยช่องว่างที่คนในกลุ่มอาชีพเดียวกันมีสิทธิ์เลือกโหวตได้ 10 คน
ทุกคนจึงวิ่งไปหาเสียง แนะนำตัว ไปรวมกลุ่มกับเพื่อน จังหวะนี้เองกลุ่มจัดตั้งก็จะดึงบางคนเข้ามาเสริมกลุ่มอาชีพที่ขาดไปโดยเสนอว่ามาอยู่ที่นี่แล้วมีโอกาสจะได้เป็น ส.ว. พร้อมกับโชว์พลังให้ดูโดยการพาไปพบผู้สมัครจำนวนมากทำให้เกิดความเชื่อมั่น แต่ก็มีการทำสัญญาว่าจะไม่หักหลังกัน บางคนก็ให้เซ็นใบลาออกไว้ล่วงหน้า บางคนก็เสนอจะจ่ายเงินให้เป็นหลักแสน โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องให้โหวตแบบไหน
คนที่เข้าไปร่วมได้ไปเก็บตัวที่โรงแรม ได้รับใบโพยตอนกลางคืน ได้รับเสื้อเหลืองตอนเช้ามืด และมีรถรับส่งจนถึงสถานที่เลือกตั้ง
การหลอก และเลือก ระดับประเทศ
1. ตามกติกากำหนดไว้ว่าเลือกตั้งระดับประเทศรอบแรกเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ คัดเอาคะแนนสูงสุด 40 คนจาก 150 คน
รอบแรกหนึ่งคนเลือกได้ 10 คน
สำหรับคนทั่วไปก็แนะนำตัว จัดกลุ่มให้ได้ 10 คน แล้วแลกคะแนนกัน ทุกคนจะได้ 10 คะแนน ถ้าอยากชนะ ต้องไปหาคะแนนมาเพิ่ม ยกเว้นพวกพลีชีพ จะขายเสียงทั้ง 10 คะแนน ไม่ลงให้ตัวเอง
ส่วนพวกจัดฮั้ว มีทีมที่ซุ่มอยู่ในโรงแรม จำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น ถูกสั่งให้อยู่เฉยๆ ห้ามติดต่อใคร ไม่ต้องไปดิ้นรน เสร็จงานแล้วจะมีโบนัส บางคนก็ได้รับข้อเสนอจะให้เป็นผู้ช่วย ส.ว.
รอบแรกจึงมีโพยในแต่ละกลุ่ม และผู้พลีชีพ
เป้าหมายคือต้องผ่านกลุ่มละ 20 คน รวม 400 คน
วิธีทำ…ทีมจัดฮั้วประเมินไว้ว่าอาจมีคู่แข่งที่จัดทีมแลกคะแนนได้ 10 คะแนนแล้วยังสามารถหาคะแนนเพิ่มได้สิบกว่าคะแนน เพื่อความมั่นใจจึงต้องทำคะแนนสูง
ดังนั้น เวลาเลือกก็จัดตัวจริงทีม A ไว้ 10 คนเลือกกันเองก็จะได้คนละ 10 คะแนน จากนั้นก็จัดโหวตเตอร์ซึ่งเรียกกันว่าผู้พลีชีพอีก 20 คน โหวตให้ตัวจริงทีม A 10 คนโดยไม่โหวตตนเอง ทีม A จะมีคะแนนเพิ่มคนละ 20 คะแนน รวมได้คนละ 30 คะแนน
แต่ถ้ากลุ่มอาชีพใดหามาได้ถึง 50 คน มีคนเหลือ 20 สามารถจัดทีม B อีก 10 คนเป็นตัวจริง 10 คนและโหวตเตอร์ 10 คน ทำแบบทีม A ดังนั้น ตัวจริงทีม B ก็จะได้คนละ 20 คะแนน
ถ้ามีคนเขียนโปรแกรมโพยผ่านคอมพิวเตอร์ คะแนนจัดตั้งจะไม่กระจุกตัว แต่จะเรียงไล่ลำดับ
2. ผลดังการเลือกรอบแรกกลุ่มจัดฮั้วได้คะแนน 40-25 คะแนนได้เข้ารอบเป็นอันดับต้นๆ ส่วนผู้ที่ได้ 20-13 คะแนน ก็จะได้เข้ารอบในอันดับหลัง
พวกเขาผ่านเข้ารอบไขว้ ได้ 18-22 คนต่อกลุ่มอาชีพ ทั้ง 20 กลุ่ม รวมประมาณ 400 คนตามแผน
ส่วนพวกคนธรรมดายังพอมีที่ให้ในลำดับที่ 21-40 แล้วก็หวังกันว่าจะมีคนมาช่วยโหวตในรอบไขว้
ถูกหลอก 2 รอบ ต้องออกมาเปิดโปง
ผู้สมัครบางคนก็เกิดมีความหวังจะได้เป็น ส.ว. บางคนไม่คิดรับเงินค่าจ้างแล้ว แต่อยากเป็น ส.ว. ดังนั้น จึงต้องมีการหลอกว่าพวกคุณอยู่ในรายชื่อที่จะได้เป็น ส.ว. ในรอบแรก 40-50 คนของแต่ละกลุ่ม อาจมีคนที่พอใจรับเงิน 20-30 คน คือพวกพลีชีพ แต่ก็มีบางคนอยากเป็น ส.ว. พอตกรอบแรกถึงรู้ว่าตัวเองถูกหลอก เพราะ 3,000 คน คัดเหลือแค่ 800 คน ผู้สมัครอิสระก็สอบตกเกือบหมด
กลุ่มที่จัดตั้งมา 1,000 คนได้ 400 ถือว่าได้เยอะสุด แม้จะถูกเททิ้งไป 600 คน
การหลอกรอบสอง คือหลอกคน 18-22 คนจากแต่ละกลุ่ม ที่ผ่านเข้าไปในรอบไขว้ แทบทุกคนอยากเป็น ส.ว. เขาไม่รู้ว่าเขาคือคนที่ถูกหลอก 2 ครั้งซ้อน และต้องอดนอนจนถึงเช้า เพราะแต่ละกลุ่มอาชีพนั้น ผู้จัดฮั้วได้กำหนดไว้แล้วว่า แต่ละกลุ่มเป็นใครบ้างตั้งแต่เมื่อคืน และมีแค่ 6 คนเท่านั้น ดังนั้น อีก 14-16 คนจะต้องสอบตก หรือถ้าโชคดีอาจจะได้เป็นตัวสำรอง
ถึงเวลาที่ผู้เสียหายจะต้องเอาความยุติธรรมคืน โดยไปเป็นพยานให้ DSI และจากนี้สายตาคนทั้งประเทศจะจ้องไปที่ DSI กกต. และ ส.ว.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022