ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
จากเพื่อนถึง ‘เชฟหมี’ จากอาจารย์ตุลถึง ‘พ่อ’
จักรวาลความคิด ‘คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง’
การจากไปอย่างกะทันหันของ ‘อาจารย์ตุล’ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง นักเขียนและเจ้าของคอลัมน์ ‘ผีพราหมณ์พุทธ’ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ย่อมสร้างความสะเทือนใจในแวดวงวิชาการและแฟนานุแฟนทั้งหลาย รวมถึงผองเพื่อนพี่น้องในแวดวงนักคิดนักเขียน ที่ร่วมกันแสดงความไว้อาลัยกันอย่างมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ในวาระครบรอบ 1 เดือนแห่งการจากไป สำนักพิมพ์มติชนได้จัดเวทีสนทนา “BookTalk : ในจักรวาลความคิด ‘คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง'” เพื่อระลึกถึงชีวิตและผลงานของนักคิดและปัญญาชนคนสำคัญของไทย ผ่านการสะท้อนมุมมองและต่อยอดแนวคิดทางศาสนา ปรัชญา และชีวิตของ ‘อาจารย์ตุล’ จากสามวิทยากรผู้เป็นเพื่อนสนิทอย่าง ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ และ ‘น้าช้าง’ ศาสวัต บุญศรี ในวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2568 เวลา 16.00-17.30 น. ในงาน Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพ ที่มิวเซียมสยาม
โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
บทบาท ‘เชฟหมี’ แห่ง ‘ครัวกากๆ’
สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังเริ่มต้นรายการด้วยการชวนรำลึกว่าวันนี้ครบ 1 เดือนแห่งการจากไปของอาจารย์ตุลพอดี และกล่าวว่าแม้อาจารย์ตุลจะอยู่ในแวดวงวิชาการทางศาสนา แต่ภาพลักษณ์ของเขาไม่อาจหนีพ้นจากความเป็น ‘เชฟหมี’ จากรายการ ‘ครัวกากๆ’ ที่โด่งดังในสมัยยูทูบยุคแรกเริ่มไปได้ จึงถาม ‘น้าช้าง’ ศาสวัต บุญศรี เพื่อนสนิทอาจารย์ตุลผู้ล่วงลับที่ทำรายการมาด้วยกัน ว่าเริ่มต้นทำรายการนี้กับอาจารย์ตุลมาได้อย่างไร
ศาสวัต บุญศรี กล่าวว่า รายการ ‘ครัวกากๆ’ เริ่มต้นจากการที่อาจารย์ตุลชอบไปนอนบ้านเพื่อนตอนที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นครปฐม ปกติอาจารย์ตุลเป็นคนที่ชอบทำอาหารอยู่แล้วจึงนึกสนุกทำคอนเทนต์ทำอาหารเพื่อสอนเพื่อน เลยลองทำรายการ ‘ครัวกากๆ’ ขึ้นมา ด้วยคอนเซ็ปต์แบบบ้านๆ ตรงข้ามรายการทำอาหารตามทีวีในขณะนั้นที่ต้องจัดฉากและถ่ายทำอย่างสวยงามให้สมชื่อรายการ ‘ครัวกากๆ’
เมื่อทำเทปแรกเสร็จ ก็เริ่มโพสต์ลงเฟซบุ๊กและมีเพื่อนเข้ามาคอมเมนต์เฮฮาแต่กดแชร์ไม่ได้ พวกตนจึงโพสต์คลิป ‘ครัวกากๆ’ ลงยูทูบเพื่อให้เพื่อนๆ ได้แชร์ตามความต้องการ แต่รายการดันโด่งดังขึ้นมาด้วยความไม่ตั้งใจ จนกระทั่งตอนไปเดินสยามมีเด็กมัธยมมาขอถ่ายรูปด้วย ทั้งคู่จึงรู้ตัวว่าดังแล้ว
ส่วนที่มาของชื่อ ‘เชฟหมี’ และ ‘น้าช้าง’ ที่ใช้ในรายการ ‘ครัวกากๆ’ นั้น มาจากสมัยเรียนปี 1 ที่ผู้ชายในห้องเรียนมีแต่คนอ้วนที่น้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมเป็นจำนวนมาก อาจารย์ตุลเป็นคนที่ชอบตั้งชื่อให้เพื่อนๆ และสิ่งของต่างๆ อยู่แล้ว เลยตั้งฉายาให้กันและกันตามรูปลักษณ์ของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ ตนเองตัวใหญ่ที่สุดในห้องจึงได้ชื่อว่าช้าง ส่วนอาจารย์ตุลที่ตัวใหญ่รองลงมาจึงได้ชื่อว่าหมี และเพื่อนคนอื่นๆ ก็เป็นอีกสารพัดสัตว์มากมายตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อให้กันและกัน
สิ่งที่ ‘ครัวกากๆ’ สร้างไว้ที่ตนมาค้นพบทีหลัง คือมีอาจารย์นิเทศศาสตร์หลายคนเคยเอารายการ ‘ครัวกากๆ’ ไปใช้สอนหนังสือ เพราะมันเป็นสิ่งโดนใจคนในยุคนั้น จนเป็นตัวอย่างของการ ‘เบิกเนตร’ ที่ทำลายกรอบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการทำรายการยูทูบ
และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำกับข้าวให้ใครหลายคน จนถึงแม้ 10 ปีผ่านไป ยังมีคนมาคอมเมนต์ขอบคุณในคลิปยูทูบ ‘ครัวกากๆ’ อยู่เลย

จาก ‘ครัวกากๆ’ สู่บทบาทนักวิชาการ
‘น้าช้าง’ ศาสวัต บุญศรี เล่าว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์ตุลสนใจปรัชญา คือการได้เรียนกับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ พอไปเรียนไปรู้อะไรมาก็นำมาเล่าให้เพื่อนฟังผ่านวงหมูกระทะและไดโดมอน และชอบชวนเพื่อนๆ สนทนาเรื่องปรัชญาอย่างเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตจนได้ชื่อเป็นผู้รักในความรู้มาตั้งแต่สมัยเรียน
ทางด้าน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อาจารย์ประวัติศาสตร์และเจ้าของคอลัมน์ On History ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เล่าถึงความสัมพันธ์ของตนและอาจารย์ตุลว่า ผมเป็นคนละโลกกับน้าช้าง เพราะไม่รู้จักเชฟหมีกับน้าช้างมาก่อน แต่มารู้จักอาจารย์ตุลผ่านงานเขียน คือต่างคนต่างใช้งานอ้างอิงถึงกันและกันผ่านบทความวิจัย ยิ่งตอนที่มาเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ที่มีคอลัมน์คล้ายกัน มีพื้นที่คอลัมน์ติดๆ กัน และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันและกันผ่านคอลัมน์ เรียกได้ว่าผมรู้จักอาจารย์ตุลไม่สนุกเท่าที่น้าช้างรู้จัก
มาเริ่มสนิทสนมกับอาจารย์ตุลตอนที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถามตนว่ามีใครพอจะพูดเรื่องกาลามสูตรได้บ้างไหม เพราะจะจัดเวทีเสวนาและอยากเชิญมาเป็นวิทยากร ตนจึงแนะนำอาจารย์ตุลไปเพราะเห็นว่าเหมาะสม
ในแง่หนึ่ง การที่มีนักวิชาการอย่างอาจารย์ตุลที่ตนสามารถแลกเปลี่ยนกันทางความคิดเห็นได้ จึงถือว่าอาจารย์ตุลมีอิทธิพลกับตน เพราะการเรียนประวัติศาสตร์จะทำให้ตนมองสิ่งต่างๆ ผ่านกรอบของการมองวัตถุ แต่เมื่อมารู้จักอาจารย์ตุลที่เรียนปรัชญาก็ช่วยเปิดมุมมองเรื่องชีวิตให้ตนผ่านหลักฐานต่างๆ และให้ข้อมูลของภาพชีวิตจากวัตถุที่อยู่นิ่งๆ ให้เห็นภูมิหลังและความมีชีวิตชีวามากขึ้น
นอกเหนือจากบทบาทนักวิชาการ อาจารย์ตุลเป็นผู้มีศรัทธาหรือเป็น ‘ศาสนิก’ ที่นับถือและน้อมรับทุกศาสนา ไม่ได้แสวงหาแต่พุทธแท้ สิ่งที่เป็นคุณูปการของอาจารย์ตุลคือแกไม่เคยชี้นิ้วสั่งสอนใครทั้งๆ ที่มีความรู้ทางศาสนามากมาย และยังให้ความรู้ทางศาสนาแก่เพื่อนๆ ผ่านความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง

มนุษย์ ปรัชญา ศาสนา
สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เล่าเสริมว่าตนมารู้จักอาจารย์ตุลจริงๆ ผ่านรายการ ‘พื้นที่ชีวิต’ ที่ต้องสัมภาษณ์นักวิชาการที่เชี่ยวชาญศาสนาฮินดูอย่างอาจารย์ตุล ซึ่งก็ร่วมงานกันได้ด้วยดีและเริ่มมีมิตรภาพเกิดขึ้น และรู้สึกว่าอาจารย์ตุลเป็นครูที่สอนเรื่องจิตใจได้เป็นอย่างดี
อาจารย์ตุลในหลากหลายหน้าที่ไม่ต่างจากเทพอวตารในปางต่างๆ ตุลในปางที่เป็นอาจารย์จะดูดี เป็นหลักเป็นฐาน ต่างจากตอนเป็นเพื่อนที่ชอบเล่น ชอบแต่งคอสเพลย์ให้เพื่อนเฮฮา และชอบตั้งชื่อให้เพื่อนๆ เป็นคนปากร้ายใจดี เหมาะกับตนที่ชอบโดนด่า แต่ตุลด่าจริง ด่าแบบให้ปรับปรุงตนและเป็นประโยชน์โดยแท้
อาจารย์ตุลสนใจความเป็นมนุษย์ ผ่านบทสนทนากับกลุ่มเพื่อน ราวกับเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา “มนุษย์ ปรัชญา ศาสนา” คือ 3 สิ่งที่เขาสนใจ คนอย่างอาจารย์ตุลถ้าจะเป็นดารา หรือยูทูบเบอร์ วงการก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่เขาเป็นคนไม่สะสมเงิน เลยทำอะไรแบบนี้ไม่เป็น ทั้งๆ ที่มีความสามารถและบุคลิกที่น่าจะทำได้
เมื่อถึงตรงนี้ ‘น้าช้าง’ ศาสวัต บุญศรี จึงเสริมว่า จุดหนึ่งที่ตนประทับใจอาจารย์ตุลมาตั้งแต่สมัยเรียนคือเขาเป็นคนที่เล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย และเล่าอย่างสนุกสนานพร้อมแง่มุมเชิงลึกที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ จนรู้สึกว่าน่าเสียดายที่เขาด่วนจากไป เพราะเรื่องราวและความรู้ในตัวเขามีอีกมากมายที่พร้อมจะถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างกลมกล่อม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เล่าให้ฟังบ้างว่า เราเห็นอาจารย์ตุลในหลายบทบาท ทั้งการฟังผ่านพอดแคสต์ และการอ่านผ่านงานเขียน ซึ่งอาจารย์ตุลเขียนสนุก แกเขียนเหมือนแกพูด อ่านดูก็รู้ว่าเป็นคนคนเดียวกันเขียน ซึ่งในหมู่นักวิชาการไทยจะหาคนพูดให้รู้เรื่องว่าหายากแล้ว แต่นักวิชาการไทยที่สามารถเขียนและพูดให้รู้เรื่องในคนเดียวกันนั้นหายากยิ่งกว่า คอลัมน์ ‘ผีพราหมณ์พุทธ’ ในมติชนสุดสัปดาห์ของอาจารย์ตุลสะท้อนวิธีคิดแกเป็นอย่างดี รวมถึงหนังสือรวมเล่มต่างๆ ด้วย
โดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่อาจารย์ตุลเขียนสิ่งเหล่านี้ในท่าทีที่ไม่งมงายและเป็นการตั้งคำถามย้อนกลับไปในความงมงายเหล่านั้นได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายหรือธรรมดา จนเกิดคำถามว่า ‘ทำได้ยังไงวะ’ กับการวิพากษ์ความศักดิ์สิทธิ์ในสิ่งที่ตนเชื่อถือ ซึ่งอาจารย์ตุลก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองด้วย
การผสานความเชื่อทางการเมืองและศาสนาของอาจารย์ตุลผ่านคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์เป็นประจำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่อาจารย์ตุลผลิตงานเขียนอย่างมีคุณภาพได้ทุกสัปดาห์ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีให้นักศึกษาและนักวิชาการเห็นกับตาตนเองว่า การหยิบยกเรื่องของศาสนาไม่ว่าคัมภีร์ไหนจากศาสนาใดมาวิเคราะห์สังคมปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ และอาจารย์ตุลทำได้อย่างน่าประทับใจ เพราะสังคมมันเปลี่ยน บริบททางศาสนาในอดีตย่อมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงปัจจุบัน และไม่ใช่ใครจะทำอะไรแบบนี้ได้ง่ายๆ แต่อาจารย์ตุลผลิตงานเขียนแบบนี้ได้ในทุกสัปดาห์
จนน่าจะเป็นตัวอย่างให้นักวิชาการบนหอคอยงาช้างได้ชำเลืองมองลงมาด้วยซ้ำ

วันที่ตุลจากไป
‘น้าช้าง’ ศาสวัต บุญศรี เล่าว่า ในวันที่อาจารย์ตุลจากไปนั้น ตนกำลังนอนหลับอยู่ แล้วมีคนโทร.มาหาเพื่อแจ้งข่าว ตอนรับสายตนก็งงๆ และรู้สึกเศร้า เสียดายในเชิงวิชาการที่คนที่พูดเรื่องศาสนาได้อย่างดีอีกคนหนึ่งได้หายไปแล้วจากสังคมไทย
ในฐานะเพื่อนสนิท ชอบคุยกันแบบตลกๆ ว่าใครจะตายก่อน “มึงนั่นแหละๆๆ ถ้าเราตายใครเขาจะคิดถึงเราบ้างไหมนะ” นี่คือพูดกันแบบขำๆ ในหมู่เพื่อนฝูง แต่พออาจารย์ตุลตายไปจริงๆ แล้วมีลูกศิษย์ผมหลายคนโพสต์ว่าได้รับความรู้จากอาจารย์ตุลผ่านคลิปและงานเขียนของเขามาโดยตลอด สิ่งนี้ย่อมสะท้อนว่ามีคนรักเขาเยอะมากจริงๆ และอาจารย์ตุลทำอะไรให้โลกใบนี้ไว้มากแค่ไหน
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เล่าถึงความประทับใจที่มีต่ออาจารย์ตุลผู้ล่วงลับว่า ผมไม่ได้ประทับใจอาจารย์ตุลในแง่ของความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่ในฐานะเพื่อนมันคือความเสียดาย คนรุ่นผมโตมากับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมของมติชน และอาจารย์ตุลเป็นเพื่อนไม่กี่คนที่อ่าน เราจึงคุยกันได้เพราะติดตามงานเขียนของไมเคิล ไรท์ เหมือนกัน สิ่งที่เห็นได้เมื่ออาจารย์ตุลจากไปคือไม่มีใครด่าเขาเลย แม้แต่คนที่เห็นต่างทางการเมืองกับเขา แสดงว่ามีคนรักเขามากจริงๆ
ปิดท้ายด้วย ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เล่าถึงวันที่อาจารย์ตุลจากไปว่า เป็นความรู้สึกที่ซับซ้อนมาก เมื่อไปถึงโรงพยาบาลในวันนั้นตนยังเชื่อว่าตุลยังอยู่และทุกคนเข้าใจผิด เพราะร่างของตุลยังนอนหายใจอยู่ แต่มารู้ทีหลังว่ายังอยู่ได้เพราะจากเครื่องช่วยหายใจ แม้ตนเคยผ่านการสูญเสียอยู่บ้าง แต่พอเกิดเรื่องกะทันหันกับเพื่อนก็ทำให้ช็อก ในนาทีที่รู้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงแล้วจึงร้องไห้ออกมาแบบไม่เชื่อตนเองเหมือนกัน
แม้ตุลจะเคยสอนเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตาแก่ตนมาก่อน แต่ก็ทำใจไม่ได้ เมื่อเพื่อนที่เรากอดบ่อยที่สุดในชีวิตจากไปแล้ว ทำให้เข้าใจในสิ่งที่ตุลเคยบอกในวันที่เขาสูญเสียคุณแม่ไปว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่มึงจะพยายามอธิบายทุกอย่าง แต่สุดท้ายมึงก็จะยอมจำนนว่ามึงอธิบายไม่ได้ และมึงก็ควบคุมไม่อยู่ ได้แต่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น”
“ผมจำได้ว่าวันที่เขาไปงานศพคุณแม่ผมเป็นวันสุดท้าย และผมไม่ได้ร้องไห้เลย เขามาอยู่ข้างๆ ผมและบอกว่า ‘เอ๋ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากนะ มึงเสียใจได้นะ มึงแค่รู้สึกยังไงก็แค่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของมึง’ เสียงที่เขาพูดกับผมในวันนั้นมันก็กลับมาหาผมอีกครั้งในวันที่เขาจากไปเหมือนกัน ผมรู้สึกว่านี่คือคำสอนที่ผมได้รับจากเขา คนเรามันพังทลายได้ เราปล่อยให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของเราเกิดขึ้นได้ ในช่วงเวลานั้นผมคิดถึงเขามากๆ เลย และรู้สึกได้ว่าได้สัมผัสกับเขาอีกครั้งหนึ่ง”
“ตุลเคยพูดถึงโมเมนต์หนึ่งว่า ในช่วงเวลาที่เขารับความเป็นจริงว่าแม่ของเขาได้จากไปแล้ว มันมีความเศร้าที่ลึกมากเลย แต่ในจังหวะหนึ่งที่มันพลิกมุมว่า ในเวลาที่เขาเศร้า เขานึกได้ว่ายังมีคนในโลกอีกหลายคนที่เศร้าด้วยเหตุผลแบบเดียวกันเต็มไปหมด ในทุกวันมีใครสักคนที่เรารักตายจากไป ความเศร้าได้เปลี่ยนไปเป็นความกรุณา คือความต้องการให้คนอื่นพ้นไปจากความทุกข์ สำหรับเขามันคือการเรียนรู้ครั้งใหญ่ ที่ในเวลาที่คนเราสูญเสียอะไรบางอย่างที่สำคัญไป เราจะเข้าถึงความกรุณาอย่างแท้จริงได้ นี่คือสิ่งที่เขาฝากไว้ให้กับผมเหมือนกัน” •



รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022