ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
วันหนึ่ง น้องที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งมาปรึกษาเรื่องงาน
เขากำลังผิดหวังกับ “ผู้ใหญ่” คนหนึ่ง
“ผู้ใหญ่” คนนี้ เขาได้ยินชื่อเสียงมานาน
เคยฟังเรื่องราวของ “ผู้ใหญ่” จากผู้บริหารรุ่นใหญ่ว่าเป็นคนที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูง
จากบริษัทขนาดกลางกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่
ผ่านวิกฤตมาหลายรอบ ผู้ใหญ่ท่านนี้ก็นำพาองค์กรผ่านมรสุมได้ทุกครั้ง
มีคนเล่าถึงความเก่ง ความฉลาด
และ “ความดุ”
แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวดีๆ ทั้งสิ้น
ตอนที่น้องคนนี้เข้าไปทำงาน เขาก็ยังชื่นชมผู้ใหญ่ท่านนี้ให้ผมฟังตลอด
แต่เขาก็ยังไม่เคยทำงานอย่างใกล้ชิด
จนวันหนึ่ง เขาได้ทำงานขึ้นตรงกับผู้ใหญ่ท่านนี้หลังจากทำงานที่นี่หลายปี
ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป
จาก “คนเก่ง” กลายเป็น “คนที่ไม่มีเหตุผล”
“คนฉลาด” กลายเป็น “คนที่ไม่รู้เรื่องแต่คิดว่ารู้เรื่อง”
ความสำเร็จในอดีตทำให้ผู้ใหญ่ท่านนี้ไม่อาจยอมรับได้ว่ามีบางเรื่องที่เขาไม่รู้
โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ
มีคนบอกว่าการวัดความฉลาดของคน
ไม่ได้วัดที่ “คำตอบ”
แต่วัดที่ “คำถาม”
เพราะโลกนี้มีหลายเรื่องที่เราไม่รู้
การตั้งคำถามกับ “ความไม่รู้” คือ การวัด “ความฉลาด” ของเรา
ถามอย่างไรที่จะได้ “ความรู้”
คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ยิ่งใหญ่มากในแวดวงธุรกิจ เขาชอบหาความรู้ด้วยการไปพบ “คนเก่ง” ทั่วโลก
ใครเก่ง เขาจะขอคุยด้วย
และจะเรียก “คนเก่ง” เหล่านั้นว่า “อาจารย์”
คุณธนินท์เล่าว่าตอนที่เขาคุยกับ “อาจารย์” เหล่านั้น เขาจะรู้สึกเป็น “นักเรียน” จริงๆ
เขาจะถ่อมตัวมาก ถามแบบขอความรู้จาก “อาจารย์”
“ถ้าเราไปถามแบบอวดตัวว่าเราเก่ง เขาจะไม่เล่าให้เราฟัง และเราจะไม่ได้ความรู้”
เพราะ “คนเก่ง” เหล่านี้แค่ฟังคำถามก็รู้แล้วว่าเรากำลังอวดฉลาด
เมื่อฉลาดมา ก็โง่กลับไป
ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อเราแสดงความฉลาด เขาก็ไม่กล้าเล่าอะไรให้ฟัง คิดว่าเรารู้เรื่องอยู่แล้ว
สุดท้าย เราก็จะกลับไปพร้อมกับ “ความโง่” เท่าเดิม
“คําถาม” ในที่ประชุมจึงสำคัญมาก
เมื่อไม่รู้ก็ถามแบบไม่รู้ และขอความรู้
ถ้า “ผู้ใหญ่” ทำ เด็กๆ จะรู้สึกว่าผู้ใหญ่คนนี้น่ารัก
ใหญ่ขนาดนี้ยังยอมรับว่าไม่รู้
แต่ “ผู้ใหญ่” ท่านนี้ไม่ได้ถามแบบนั้น
เขาถามแบบจับผิด เหมือนกับว่าตัวเขารู้ดี
โดยไม่รู้ว่า “คำถาม” นั้นแสดง “ความไม่รู้” ออกมา
และยิ่งใช้อารมณ์ในห้องประชุมแบบไม่มีเหตุผล
ใช้อำนาจเพื่อแสดงอำนาจ
แม้ว่าด้วย “อำนาจ” และ “ตำแหน่ง” ของเขาจะทำให้ได้ผลตามที่ต้องการ
แต่สิ่งที่ขาดหายไป
คือ “การยอมรับ”
และ “ศรัทธา”
น้องคนนี้บอกว่าเขานึกไม่ถึงว่า “ผู้ใหญ่” ท่านนี้จะเป็นคนเดียวกับคนที่เขาเคยชื่นชมมาก่อน
อาจเป็นเพราะโลกหมุนเร็วเกินไป
เรื่องราว “ความเก่ง” ของผู้ใหญ่ท่านนี้จึงเป็นแค่ “นิทาน”
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…
ไม่มีอยู่จริงในวันนี้
“ความเก่ง” ในอดีตของเขาจึงไม่ใช่แค่ “กรอบ”
แต่เป็น “กำแพง” ปิดกั้นความรับรู้เรื่องใหม่ๆ
สิ่งที่เผชิญในช่วงหลายเดือนตอนที่ทำงานกับ “ผู้ใหญ่” ท่านนี้ทำให้เขาได้บทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่ง
เป็นบทเรียนแห่งอนาคต
เขาบอกตัวเองว่าถ้าวันหนึ่งมีตำแหน่งใหญ่โตขึ้น และอายุเท่าผู้ใหญ่คนนี้
อะไรที่คนคนนี้ทำ
…อย่าทำ
เพราะอะไรที่เราไม่ชอบ อย่าทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น
เขารู้สึกอย่างไรตอนที่ผู้ใหญ่ท่านนี้ปฏิบัติต่อเขา
ถ้าวันหนึ่งเขาไปทำแบบนี้กับเด็กรุ่นใหม่
เด็กรุ่นใหม่ก็คงรู้สึกกับเขา
เหมือนที่เขารู้สึกกับผู้ใหญ่ท่านนี้
ผมนั่งคิดถึงเรื่องที่น้องเล่าให้ฟัง
นึกถึงน้องๆ รุ่นใหม่ในแวดวงการเมืองหลายคนเคยเล่าถึงความรู้สึกในทำนองเดียวกัน
เขาเคย “ศรัทธา” นักการเมืองบางคน
ศรัทธาในความกล้าหาญในอดีตที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แต่วันหนึ่งเมื่อนักการเมืองรุ่นพี่บางคนมีอำนาจ
เขากลับทำตัวเหมือนกับนักการเมืองเก่าๆ ทั่วไป
เหมือนเรื่องราวในอดีตเป็นเพียง “นิทาน”
…กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
ผมเคยมีหลักคิดในชีวิตว่าคนเราควรมี “ต้นแบบ” อยู่ 2 อย่าง
อย่างแรก คือ “ต้นแบบ” ที่เราควรจะทำตาม
อย่างที่สอง คือ “ต้นแบบ” ที่เราอย่าทำ
พอฟังเรื่องราวจากน้องคนนี้ ผมเริ่มคิดใหม่
…เรามักมีคนที่เป็นต้นแบบในชีวิตอยู่ 2 แบบ
แบบแรก คือ คนที่เราใช้เป็นแบบอย่าง
เก่งจัง-ดีจัง
มีอุดมการณ์น่านับถือมาก
เราอยากทำให้ได้อย่างเขาให้ได้ในวันนี้หรือพรุ่งนี้
เป็นแบบอย่างที่ “จะทำ”
แบบที่สอง คือ คนที่ทำให้เราคิดว่าเมื่อมีอายุมากขึ้น
เราจะไม่ทำแบบนี้อย่างเด็ดขาด
จะไม่ใช้ชีวิตแบบนี้
จะไม่ทำกับใครหรือคนรุ่นใหม่แบบเขา
เป็นต้นแบบที่ “จะไม่ทำ”
แต่เรื่องน่าเศร้าที่สุดในชีวิต
ก็คือ บางครั้งต้นแบบคนแรกของเรากับคนที่สอง
…เป็นคนเดียวกัน •
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022