กางคำพิพากษา ‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งโละ ‘กฎกระทรวง ฉบับที่ 2’ ประกาศอิสรภาพ ‘ทรงผม น.ร.’

หลังจากตัวแทนนักเรียนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้เข้ายื่นต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2563 ขอให้มีคำสั่ง “เพิกถอน” กฎระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

รวมทั้งขอให้ศาลปกครองพิจารณารับฟ้อง และมีคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2518 และขอให้เพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่คำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.24/2563 เพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 ซึ่งกำหนดว่า การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน นักเรียนชายดัดผม หรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงดัดผม หรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากทางโรงเรียน หรือสถานศึกษาใด อนุญาตให้ไว้ผมยาวเกินกว่านั้น ก็รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวยนั้น มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับทรงผม และการใช้เครื่องสำอางของนักเรียน…ถือได้ว่าเป็นกฎที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลผู้มีสถานะเป็นนักเรียน

โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ระบุเหตุผลว่า เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษา เป็นเยาวชนที่กำลังสร้างสมคุณสมบัติทั้งในด้านความรู้ ความคิด และคุณธรรม… รวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณี และกฎหมายของบ้านเมือง

 

ต่อมาได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ปรากฏหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 กำหนดสาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยมาตรา 22 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติว่า…การกระทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กให้พิจารณาถึง (1) ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน (2) ความเหมาะสม ความต้องการ และความจำเป็นของเด็ก…

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เจตนารมณ์ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2518 ที่กำหนดข้อห้ามสำหรับนักเรียนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม และการใช้เครื่องสำอาง…โดยมิได้คำนึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาการของอัตลักษณ์และบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย จากช่วงวัยเด็กเล็ก อายุ 6-7 ปี จนถึงช่วงวัยรุ่นอายุ 13-16 ปี ซึ่งมีสถานะนักเรียนที่อยู่ในบังคับของกฎกระทรวงดังกล่าว

จึงไม่อาจถือได้ว่าประกาศของคณะปฏิวัติฯ และกฎกระทรวงที่พิพาท เป็นกฎที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และยังอาจมีการบังคับใช้กฎที่พิพาทนั้นอย่างเคร่งครัด จนมีผลร้ายต่อจิตใจของเด็กที่มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ

ขัดกับหลักการและบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จึงต้องถือเป็นกฎที่ถูกยกเลิกไปโดยมาตรา 3 เนื่องจากมีเจตนารมณ์ที่ขัดกับหลักการและบทบัญญัติมาตรา 22 วรรคหนึ่ง

อีกทั้งตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ได้กำหนดว่า นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียน หรือสถานศึกษา และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ซึ่งแม้จะมิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนไว้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่โรงเรียน หรือสถานศึกษา อาจกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียน ไว้เป็นองค์ประกอบย่อยของข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งกาย

โดยพิจารณาให้สอดคล้องตามหลักการเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก และคำนึงถึงการพัฒนาอัตลักษณ์และบุคลิกภาพที่เหมาะสมตามช่วงอายุของนักเรียนได้ ประกอบกับเมื่อพิจารณาเนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับที่พิพาท ซึ่งกำหนดลักษณะทรงผมของนักเรียน โดยมิได้คำนึงถึงพัฒนาการของบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย และความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล

จึงมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งกระทำมิได้ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่าการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลต้องไม่เพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ กฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นกฎที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

พิพากษาให้เพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2518 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา…

 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า ศธ.ได้ปรับปรุงระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ตามข้อร้องเรียนของกลุ่มนักเรียนใหม่แล้ว โดยเปิดเสรีทรงผมนักเรียน และไม่ปิดกั้นการไว้ผมยาว หรือผมสั้น แต่ต้องเหมาะสม สวยงาม ส่วนการลงโทษเรื่องทรงผม ได้กำชับครู และผู้บริหาร ว่าจะต้องไม่ลงโทษเกินกว่าเหตุ จนทำให้เด็กรู้สึกอับอาย เพราะในกฎหมายระบุชัดเจนให้ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ขณะที่นายสิริพงษ์ อังคเกียรติสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในปี 2563 แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ

1. ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการไว้ทรงผม และการใช้เครื่องสำอาง

และ 2. ประกาศกระทรวงเรื่องพฤติกรรมนักเรียนที่ยึดโยงกับประกาศของคณะปฏิวัติเป็นหลัก ซึ่งข้อพิพาทในอดีตกล่าวถึงการให้อำนาจสถานศึกษาพิจารณาทรงผมนักเรียน แต่สถานศึกษาบางแห่งยังนำประกาศคณะปฏิวัติใช้กำหนดระเบียบทรงผมนักเรียน และอาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของนักเรียน

ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว ต่อไปจะไม่กำหนดทรงผมนักเรียน โดย ศธ.ได้ยกเลิกระเบียบทรงผมตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566 ส่วนการบังคับใช้คำสั่งศาลที่เกิดขึ้นในวันนี้ 5 มีนาคม จะถือว่าทรงผมนักเรียนไม่เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมนักเรียน นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองยังทำให้เห็นว่าการกระทำใดๆ ที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเด็ก จะทำไม่ได้ เช่น การบังคับกล้อนผม เป็นต้น

โดย ศธ.ย้ำว่า แม้จะให้อำนาจสถานศึกษาพิจารณาทรงผมนักเรียน แต่จะต้องหารือตัวแทนผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และกรณีที่นักเรียนไม่ทำตามระเบียบ สถานศึกษาทำได้เพียงพูดคุยปรับความเข้าใจเท่านั้น ไม่สามารถใช้วิธีที่ละเมิดสิทธิ และกระทบจิตใจเด็กได้

นอกจากนี้ ศธ.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบคำพิพากษาศาลฉบับเต็ม ว่าจะส่งให้ปรับกฎกระทรวงส่วนใดอีกหรือไม่

รวมถึง การ “ยกเลิก” ประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ จะกระทบส่วนใดนอกจาก “ทรงผม”!! •

 

| การศึกษา