สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [19] ชาวสยามเรียกตนเองว่าไทย

อโยธยา แรกสถาปนาจากการรวมพลังของสยามกับขอม ซึ่งเป็นกลุ่มนับถือศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา และยกย่องพระราม (คนละพวกกับกลุ่มนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, ศาสนาพุทธ มหายาน และยกย่องพระกฤษณะ สืบทอดวัฒนธรรมทวารวดี)

ชาวสยาม หมายถึง ประชาชนในดินแดนสยาม มีลักษณะดังนี้

(1.) ลูกผสมประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ที่ต่างเรียกตนเองตามชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ของตน ซึ่งปัจจุบันรู้จักในนาม มอญ, เขมร, พม่า, มลายู, กะเหรี่ยง, ลาว ฯลฯ (แต่ละกลุ่มแยกย่อยเป็นหลายสาขาอย่างที่ถูกเรียก ข่า ฯลฯ)

(2.) ชาติพันธุ์เหล่านั้นพูดภาษาไท-ไต เป็นภาษากลาง เพื่อสื่อสารระหว่างชาติพันธุ์เมื่ออยู่นอกบ้านหรือในตลาด

(3.) คนเหล่านั้น “ไม่ไทย” หมายถึงไม่ใช่คนไทย เพราะไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่เมื่อถึงสมัยรัฐอโยธยา จะมีบางกลุ่มเรียกตนเองว่าไทย และพูดภาษาไทย จากนั้นแผ่ไปบ้านเมืองต่างๆ เช่น สุโขทัย, นครศรีธรรมราช ฯลฯ

สยาม หมายถึงพื้นที่มีน้ำพุหรือน้ำผุดจากใต้ดินซึ่งบางท้องถิ่นเรียกน้ำซับน้ำซึม ครั้นนานไปๆ น้ำเหล่านั้นไหลนองเป็นหนองหรือบึงขนาดน้อยใหญ่ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าว ในที่สุดทำนาทดน้ำ ผลิตข้าวได้มากไว้เลี้ยงคนจำนวนมาก ทำให้ชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกเมื่อติดต่อชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลก็เติบโตเป็นเมือง

คำว่า “สยาม” ที่รู้จักและคุ้นเคยมานานมากนั้นเป็นรูปคำแบบบาลีที่แปลงจากคำพื้นเมืองว่า ซัม, ซำ หลังรับศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา เมื่อเรือน พ.ศ.1700

การแปลงคำพื้นเมืองเป็นบาลี (บางทีก็ว่าคำพื้นเมืองถูก “จับบวช” เป็นบาลี) ล้วนนิยมแพร่หลายในสมัยแรก มีการบันทึกความทรงจำเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อหลัง พ.ศ.2000 เช่น น้ำแม่ของ (แม่น้ำโขง) ถูกแปลงเป็นขลนที (หรือ ขรนที), น้ำแม่ปิง (แม่น้ำปิง) ถูกแปลงเป็นพิงคนที (หรือ รมิงคนที), น้ำมูน (แม่น้ำมูน) ถูกแปลงเป็นมูลนที

สยามเป็นชื่อเรียกพื้นที่และคนพื้นเมืองบนพื้นที่นั้น ซึ่งมีรากจากคำพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน-ลุ่มน้ำโขง จิตร ภูมิศักดิ์ สรุปว่าคำดั้งเดิมของสยามนั้นคือ ซำ หรือ ซัม จากคำนี้เองที่ค่อยๆ พัฒนาไปเป็น ซาม, เซม, เซียม, ซ๎ยาม, สยาม ฯลฯ ในภาษาอื่นๆ โดยรอบ และไปไกลจนกระทั่งกลายเป็นอาหม ในภาษาพื้นเมืองอัสสัม (อินเดีย)

[จากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 หน้า 288-295]

สยามในประวัติศาสตร์ พบหลักฐานเก่าแก่โดยการตรวจสอบของ จิตร ภูมิศักดิ์ (จากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ พ.ศ.2519) ดังนี้

1. จารึกเจินละ (กัมพูชา) พ.ศ.1182 ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการอุทิศที่นาถวายเป็นกัลปนาแก่ศาสนสถาน โดยระบุชื่อผู้ถวายว่า โปญฺ สฺยำ หมายถึง (เมื่อเทียบเคียงตามประเพณีแล้ว) นายเสียม (หรือนายสยาม) แสดงว่าผู้ถวายที่นาเป็นพวกสยาม หรือ ชาวสยาม

2. จารึกจามปา เมืองญาตรัง (เวียดนาม) พ.ศ.1593 กล่าวถึงกษัตริย์จามปาอุทิศทาส 55 คน ถวายเป็น “ข้าพระ” ของเทวรูป “เจ้าแม่” ข้าทาสจำนวนนี้มีชาวจาม, เขมร, จีน, พุกาม และสยาม

3. ภาพสลัก “เสียมกุก” บนระเบียงปราสาทนครวัด พ.ศ.1650 เป็นขบวนแห่ของชาวสยามในพิธีกรรมของราชสำนักเมืองพระนคร

4. เอกสารจีน พ.ศ.1825 ระบุชื่อเสียน หมายถึงดินแดน (ประเทศ) สยาม [แต่เดิมเข้าใจว่าเสียนในเอกสารจีนหมายถึงสุโขทัย ต่อมาพบว่าไม่ใช่ เพราะแท้จริงหมายถึงสุพรรณภูมิ (จ.สุพรรณบุรี)]

ชาวสยามเป็นคนไทย พบหลักฐานในบันทึกของลา ลูแบร์ ว่า “ชาวสยามเรียกตนเองว่า ไทย (T??) แปลว่า อิสระ” (จดหมายเหตุลา ลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร พ.ศ.2510 หน้า 27) แล้วบันทึกต่อไปอีกดังนี้

ชาวสยามเรียกตนเองว่าไทย และเรียกประเทศว่าเมืองไทย

ชาวสยามมี 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1.) สยามอยุธยา หรือไทยอยุธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2.) สยามใหญ่ หรือไทยใหญ่ ลุ่มน้ำสาละวิน (3.) สยามน้อย หรือไทยน้อย ลุ่มน้ำโขง

เมื่อศึกษาหลักฐานสมัยหลังประกอบบันทึกของลา ลูแบร์ พบข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้

(1.) ชาวสยามที่เรียกตนเองว่าไทย มีพื้นที่จำกัดเฉพาะชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่อโยธยา-อยุธยา เท่านั้น

(2.) ไทยใหญ่กับไทยน้อยเป็นชื่อที่คนไทยในอยุธยาเรียกคนลุ่มน้ำสาละวิน (พม่า) และเรียกคนลุ่มน้ำโขง (ลาว) ซึ่งเป็นความเข้าใจของคนไทยสยามในอยุธยาเท่านั้นที่คิดเหมาว่า “เครือญาติชาติภาษาไท-ไต” เรียกตนเองว่าไทยและเป็นคนไทยเหมือนตน แต่คนลุ่มน้ำสาละวินและคนลุ่มน้ำโขงไม่เรียกตนเองตามที่คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งให้ว่าไทยใหญ่, ไทยน้อย

ชาวสยามลุ่มน้ำสาละวินไม่เรียกตนเองว่าไทยใหญ่ แต่เรียกตนเองตามชื่อชาติพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ เขิน, ยอง, มาว, คำตี่, แสนหวี, เชียงตุง ฯลฯ

ชาวสยามลุ่มน้ำโขงไม่เรียกตนเองว่าไทยน้อย แต่เรียกตนเองตามชื่อชาติพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ ลาว, พวน, ภูคัง, ผู้ไท ฯลฯ

สยามถูกจับเป็นอินเดียมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่าสีดำ, สีคล้ำ, สีทอง ฯลฯ เป็นความเห็นดั้งเดิมที่แพร่หลายมากที่สุด และแทบจะยอมรับกันเป็นความจริงชี้ขาดเรื่องชื่อสยาม จิตร ภูมิศักดิ์ บอกว่าเพราะสาเหตุใหญ่อย่างน้อย 2 ประการ

1.) สยามในยุคหลังๆ มักนำไปใช้อย่างคำสันสกฤต เป็นต้นว่าใช้เป็นคำเข้าสมาสกับภาษาสันสกฤตว่าสยามประเทศ, สยามรัฐ, สยามมินทร์, สยามูปถัมภ์, สยามเทวาธิราช, สยามานุสสติ, สยามราษฎร์ ฯลฯ

2.) ศัพท์แสงต่างๆ ในภาษาไทย มักจะถูกมองว่ามีรากเหง้ามาจากภาษาบาลี-สันสกฤตไว้ก่อนเสมอเป็นอันดับแรก, แม้คำไทยๆ ที่ถูกลากเข้ารูปบาลี-สันสกฤตไปเสียมากต่อมาก ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของภาษาบาลีในพุทธศาสนา และอิทธิพลของพราหมณ์ในพิธีไสย (ไศว) ศาสตร์และทางอักษรศาสตร์แห่งราชสำนัก

จากพื้นฐานทั้งสองนี้เอง การหาคำแปลของคำสยามในครั้งก่อนจึงมุ่งเข้าค้นในพจนานุกรมสันสกฤต-บาลี เป็นเช่นนี้ทั้งนักโบราณคดีฝรั่งและนักพงศาวดารไทย

จิตร ภูมิศักดิ์ สรุปว่าความพยายามที่จะแปลคำสยามให้เป็นคำสันสกฤตนี้ ล้วนห่างไกลความเป็นจริงทั้งสิ้น เพราะสยามถือกำเนิดออกมาจากซาม-เซียม, และแหล่งกำเนิดอยู่ในบริเวณยูนนานตะวันตกเฉียงใต้และพม่าเหนือ, ควรต้องคลำหาต้นกำเนิดจากภาษาในเขตนี้ในยุคโบราณ และหาคำแปลจากคำดั้งเดิมนั้น มิใช่จับเอาสยามซึ่งเป็นรูปคำที่ถูกดัดแปลงแล้วมาแปล •

“เสียมกุก” ภาพสลักขบวนแห่เกียรติยศของชาวสยามดั้งเดิม เมื่อมากกว่า 900 ปีมาแล้ว หรือ เรือน พ.ศ.1650 ที่ระเบียงทิศใต้ ปีกตะวันตกของปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา

ชาวสยาม มีความหมายดังนี้ (1.) ประชาชนหลายชาติพันธุ์ (ไม่จำกัด) (2.) ภาษาไท-ไต-ไทย-ลาว เป็นภาษากลางทางการค้า (3.) ถิ่นฐาน ดังนี้ สมัยแรก ดินแดนภายใน โขง-ชี-มูล, สาละวิน สมัยหลัง ดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลงไปคาบสมุทรตอนบน (เพชรบุรี-นครศรีธรรมราช)

1. ชาวสยามดั้งเดิมเริ่มแรกอยู่บนเส้นทางการค้าโลก แล้วสืบเนื่องถึงการค้าจีน พบหลักฐานตรงไปตรงมาที่จารึก “เสียมกุก” ปราสาทนครวัด ในกัมพูชา

2. “เสียมกุก” (ภาษาเขมร) คือ “สยามกก” (ภาษาไทย) ชื่อขบวนแห่เกียรติยศของชาวสยามดั้งเดิม (ซึ่งเป็นเครือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา) [คำว่ากก แปลว่าต้นตระกูล, รากเหง้า, ดั้งเดิม, เริ่มแรก (เช่น ลูกผู้เกิดทีแรกเรียก “ลูกกก”)]

3. สยามกก คือชาวสยามดั้งเดิมเริ่มแรกที่รวมตัวเป็นรัฐ มีศูนย์กลางอำนาจอยู่เมืองเสมา (ศรีจนาศะ) อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา บริเวณลำตะคอง ลุ่มน้ำมูล และมีเครือญาติถึงลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำโขง

4. ชาวสยามลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล มีเครือญาติและเครือข่ายการค้าแผ่ไปลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี ถึงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

จากนั้นร่วมกันสถาปนาเมืองอโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วเริ่มเรียกตนเองว่าไทย เป็นบรรพชนคนไทยปัจจุบัน

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ