ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
บทความเศรษฐกิจ
‘บิ๊กธุรกิจ’ ปาดเหงื่อ
ไตรมาสแรกเค้าลางไม่ดี
จี้ ‘อิ๊งค์’ ฉีดยาแรงกระตุ้นด่วน!
เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะผ่านไตรมาสแรกของปี 2568 แล้ว แต่ดูเหมือนสัญญาณชีพเศรษฐกิจไทยยังอึมครึม หลังเช็กสุขภาพยังฟื้นช้า ติดหล่ม “หนี้ครัวเรือน” ทุบกำลังซื้อธุรกิจร่วงเกือบยกแผง ต้องปรับแผนใหม่ตั้งการ์ดสูง มุ่งรักษาสภาพคล่อง เพื่อตั้งรับความไม่แน่นอนที่เกินคาดเดา
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา “รัฐบาล” ได้พยายามอย่างยิ่งยวดออก “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการเติมเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ ลุยต่อโครงการอีซี่ อี-รีซีท 2.0 ช้อปได้คืนภาษี 50,000 บาท ล่าสุดยังได้แรงสนับสนุนจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เหลือ 2.0% ต่อปี
แต่ว่ากันว่าด้วยเศรษฐกิจไทยที่ซึมลึกมานาน ทำให้โครงการต่างๆ ที่ออกมา ยังไม่ “ทรงพลัง” มากพอเป็น “แรงกระตุ้น” เศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าสู่โหมด “ปกติ” ได้อย่างใจหวัง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี
ขณะที่ “นักธุรกิจ” มองว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ต้องจัดมาตรการชุดใหญ่ไฟกะพริบและเครื่องยนต์ใหม่ มากระชาก “เศรษฐกิจไทย” ให้ขึ้นจากหลุมดำ กอบกู้จีดีพีให้ไต่ทะยานได้มากกว่า 3%
“สุนทร สถาพร” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง ผ่านมา 2 เดือนแรกของปี 2568 สถานการณ์ยังแย่อยู่มาก มียอดถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงกว่า 40% โดยกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อยู่ที่ 55-60% กลุ่มราคา 3-7 ล้านบาท อยู่ที่ 40% และกลุ่มราคา 7 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 15%
ความหวังของภาคอสังหาฯ คือ ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้น ลดค่าโอนและจำนอง 0.01% ควบคู่กับปลดล็อกมาตรการ LTV ให้กู้ได้ 100% สำหรับบ้านหลังที่สองและหลังที่สาม ดึงคนมีกำลังซื้อมาประคับประคองตลาดที่ซบเซาอย่างมากในปัจจุบัน
ยิ่ง 2 เดือนแรกยอดขายและยอดโอนสะดุด หลังมีสุญญากาศมาตรการรัฐ ทำให้ลูกค้าชะลอไปจำนวนมาก จากนี้คงเห็นผู้ประกอบการอสังหาฯ จัดลดราคา เร่งระบายสต๊อก เพื่อรักษากระแสเงินสด
ปัจจุบันไม่ใช่แค่ลูกค้าที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็เข้าถึงสินเชื่อลำบาก หลังจากธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อโครงการมากขึ้น โดยต้องมียอดพรีเซล 50-55% ทำให้ในปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดโอนบ้านใหม่ลดลง 20% และยอดซื้อใหม่ลดลง 30%
ดังนั้น จึงมองว่าตลาดอสังหาฯ ไตรมาสแรกยังไม่ดีเช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นมากนัก เพราะยังไม่มีแรงขับเคลื่อนใหม่ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง 0.25% ต่อปี แต่แบงก์ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ปัญหาสภาพคล่องภาคธุรกิจยังไม่ต่างจากเดิม
ขณะที่ “อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนหากรัฐมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทั้งลดค่าโอนและจำนองประกบคู่กับการผ่อนคลายมาตรการ LTV เหมือนในปี 2564 ที่ได้ผลชัดเจน ทำให้ตลาดอสังหาฯ จากภาวะแย่ที่สุดในเวลานั้นดีขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงปี 2565 ในขณะที่ปัจจุบันตลาดอสังหาฯ ยังไม่ดีขึ้น จึงอยากให้รัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นโดยเร็ว
ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ถือยังไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้ออสังหาฯ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแบงก์พาณิชย์ตอบรับปรับลดดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยมากในส่วนของดอกเบี้ย MRR ถ้าหากจะทำให้มีผลทางแบงก์พาณิชย์ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงด้วย
ขณะเดียวกันต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพราะในช่วงยังไม่มีเครื่องยนต์อะไร ดอกเบี้ยยังคงเป็นตัวช่วยเศรษฐกิจได้มาก
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีนโยบายการเงินอย่างเข้มข้น มาช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่ซึมยิ่งกว่าวิกฤตต้มย้ำกุ้งโดยเร็ว
ฝั่งธุรกิจรับสร้าง “สุธี เกตุศิริ” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบิวท์ ทู บิวด์ สะท้อนว่าไตรมาสแรกของปีนี้ ยังไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่ยังดีกว่าที่คาด โดยช่วง 2 เดือนแรกมีทำสัญญาแล้ว 100 ล้านบาท และลูกค้ายังมีติดต่อเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แต่ตัดสินใจนานขึ้นกว่าเดิม จากที่จะตัดสินใจเลยทันทีหรือไม่เกิน 3-6 เดือน จะชะลอรอดูเศรษฐกิจ และโปรโมชั่นต่างๆ
ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมการก่อสร้าง “ลิซ่า งามตระกูลพานิช” นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสะท้อนขณะนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างมีปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก แบงก์ไม่ปล่อยกู้ตั้งแต่ปี 2567 หลังเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อภาคเอกชนลดลง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ ที่ไม่ฟื้นตัว งบประมาณภาครัฐล่าช้า ทำให้มีปัญหาหนี้เสีย ส่งผลแบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้
จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเจรจาแบงก์พาณิชย์ออกซอฟต์โลน เพราะหากแบงก์ยังไม่ปล่อยกู้จะยิ่งทำให้ผู้รับเหมารายกลางและรายเล็กตายกันทั้งระบบ
แม้โครงการรัฐยังมีออกมา แต่ราคากลางและมูลค่างานไม่สะท้อนต้นทุน ทำให้ผู้รับเหมาที่ได้งาน สุดท้ายทำต่อไม่ไหวก็ต้องทิ้งงาน ขณะที่ค่าเคก็เบิกไม่ได้ ส่วนงานเอกชนก็น้อยลงตามสภาพตลาด
ด้าน “อธิพล ตีระสงกรานต์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด กล่าวว่าภาพรวมยอดขายในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 ตกลงไป 7-8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 โดยประเมินว่าสถานการณ์น่าจะเป็นแบบนี้ไปถึงช่วงกลางปี ซึ่งปีนี้กำลังซื้อยังไม่ค่อยดี ดูจากสถิติสิ้นปี 2567 แม้คนซื้อเพิ่มขึ้น 3% แต่มูลค่าการซื้อลดลง 7% ส่วนโครงการอีซี่ อี-รีซีท 2.0 ทำให้ลูกค้าลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น แต่ไม่ได้กระตุ้นยอดขายเราเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ปีนี้ฟู้ดแลนด์จึงไม่มีแผนลงทุนขยายสาขาใหม่ เน้นการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ สต๊อกสินค้าน้อยลง เติมพนักงานให้เพียงพอกับการบริการ เนื่องจากขาดแคลนทุกปี ในปีนี้รับเพิ่มอย่างน้อย 800 คน โดยได้ปรับเพิ่มเงินเดือนเริ่มต้นที่ 13,500 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ย 450 บาทต่อวัน สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ขณะเดียวกันกำลังพิจารณาปรับลดเวลาเปิดให้บริการใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ
สอดคล้องกับ “มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง จ.อุดรธานี ระบุว่าบรรยากาศการจับจ่ายในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา ยังทรงตัว ซึ่งช่วงเดือนมกราคมยังพอไปได้ เพราะได้อานิสงส์เงิน 10,000 บาท ทำให้คึกคักบ้าง แม้จะไม่มากนัก แต่เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ก็เงียบลงแบบไม่รู้สาเหตุ ขณะนี้รอลุ้นเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ จะคึกคักขึ้น โดยมีปัจจัยวันหยุดยาวสงกรานต์และเงิน 10,000 บาท เฟส 3 มาสนับสนุน อย่างไรก็ตาม มองว่าปีนี้กำลังซื้อไม่ค่อยดี น่าจะปรับตัวลดลง 10-20%
แค่โค้งแรกยังหืดจับ ต้องลุ้นอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ รัฐบาลจะอัดยาแรงกี่ขนานมากระตุ้น นอกจากเติมเงิน 10,000 ใส่กระเป๋า “กลุ่มวัยรุ่น” ในไตรมาส 2 นี้แล้ว!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022