‘ไฟใต้ดับ’ : แถลงการณ์หนึ่งเดียวเพื่อสันติภาพ Solidarity for Peace, Bersatu untuk Damai(2)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

‘ไฟใต้ดับ’ : แถลงการณ์หนึ่งเดียวเพื่อสันติภาพ

Solidarity for Peace, Bersatu untuk Damai(2)

 

อาทิตย์ที่แล้วผมเล่าอดีตเพื่อให้เราสามารถทำความเข้าใจในปัญหาความขัดแย้งและรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้

ที่สำคัญคือมีการเจรจากันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับตัวแทนราษฎรมลายูมุสลิมปาตานี จนได้ข้อตกลงเรียกว่า “คำร้องขอ 7 ประการ” แต่ยังไม่ทันได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง พอที่จะสรุปได้ว่าข้อไหนทำไม่ได้ ข้อไหนทำได้ เพื่อจะนำไปสู่บทเรียขอการเจรจาเพื่อสันติสุขของชุมชนมุสลลิมได้

ความล้มเหลวของการเจรจาครั้งแรกไม่ได้มาจากเนื้อหาของข้อตกลงนั้น

หากแต่มาจากการแทรกซ้อนของปัจจัยภายนอก คือกองทัพ ซึ่งเข้ามาทำรัฐประหารแล้วยึดอำนาจตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ผลพวงในระยะยาวคือการเสริมสร้างด้านกำลังของรัฐที่มาจากการใช้กำลังอาวุธมากกว่าด้านการใช้เหตุผลและการแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาสังคม

เป็นการตอกย้ำโครางสร้างและคติความเชื่อแบบสายเดี่ยวที่วิ่งจากบนลงล่าง

ทำให้การสร้างรัฐและระบอบการปกครองโน้มเอียงไปทางจารีตประเพณีเก่าแบบศักดินา ไม่เป็นผลดีต่อการแสวงหาโครงสร้างและระบบปกครองใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าได้อย่างแท้จริง

การเจรจาครั้งที่สองโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ประสบชะตากรรมเหมือนครั้งแรกคืยุติลงด้วยการทำรัฐประหารของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ต่อมาจะยอมเปิดให้มีการเจรจาสันติภาพต่อไปอีก แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนจุดหมายและอุดมการณ์ของการเจรจาใหม่ให้ต่างไปจากแต่ก่อน

เช่น เปลี่ยนคำเรียก “เจรจาสันติภาพ” (peace talk) ให้เป็น “เจรจาสันติสุข” แทน น่าสนใจมากว่าผมถามเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงว่า จะแปลศัพท์ “สันติสุข” เป็นภาษาอังกฤษว่าอะไร เขาตอบว่าไม่มี เพราะหาคำแปลในอังกฤษไม่ได้

ถ้าบอกว่า happiness talk ก็จะเป็นที่หัวเราะเยาะของวงการสันติภาพทั่วโลก เพราะเขาจะรู้ทันทีว่าของไทยนั้นเป็นสันติภาพปลอม

ดังนั้น เอกสารทางการไทยในภาษาอังกฤษยังยืนยันใช้คำว่า peace talk ตามเดิม อันนี้น่าสนใจมาก

เพราะมันเป็นกลวิธีในการปกครองที่รัฐไทยใช้มาโดยตลอดนับแต่การปฏิรูปที่รับเอาของนอกมาใช้แบบไทยๆ

นี่เองเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนไทยสามัญที่มีการศึกษามักไม่สามารถสถาปนาความรู้สมัยใหม่ที่สรุปจากประสบการณ์และความคิดของพวกเขาได้

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนไม่มากก็น้อยต่ออนาคตและความสำเร็จของการเจรจาสันติภาพ

การประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มประชาสังคม 44 องค์กรในวันนี้ เป็นพัฒนาการใหญ่ของภาคประชาสังคม ที่มีความหมายแตกต่างจากครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญ

ได้แก่ การนำเสนอความต้องการของประชาชนโดยประชาชนเอง ไม่ปล่อยให้รัฐและพรรคการเมืองและรัฐบาลเป็นผู้กระทำการแต่ฝ่ายเดียวดังแต่ก่อน

หากคราวนี้องค์กรประชาสังคมยืนยันถึงฐานะอันชอบธรรมของภาคสังคมในการร่วมขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยเคียงข้างภาครัฐ

นี่คือการทำให้คติเรื่องประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนปรากฏเป็นจริง

ที่สำคัญเป็นการแสดงออกของเจตนารมณ์และการเคลื่อนไหวของพลังประชาสังคม ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษนับแต่เกิดความไม่สงบในบริเวณชายแดนใต้โดยเฉพาะนับจากเหตุการณ์รุนแรงในมัสยิดกรือเซะตามมาด้วยกรณีตากใบในปี 2547 แต่ไม่อาจนำเสนอทางออกและหนทางในการคลี่คลายความรุนแรงลงได้

ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่สำคัญคือสภาพการณ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน และเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับความกระทกระเทือนโดยตรงมากนัก ทั้งหมดทำให้สถานการณ์ความรุนแรงและการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวคือเพิ่มความรุนแรงและจำนวนผู้ล้มตายบาดเจ็บมากขึ้นทุกวัน

แถลงการณ์จึงกล่าวว่า “ที่ผ่านมาหลายๆ ภาคส่วน ได้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อการเยียวยา การพัฒนาและหาทางออกสำหรับสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็นทางคลี่คลายที่ชัดเจนของรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้ภาคประชาสังคมจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้จะมีพลังขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอย่างมหาศาล ก็ต่อเมื่อได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน เดินไปในทิศทางเดียวกันที่เหมาะสม มีประชาชนให้การสนับสนุนอย่างทั่วถึง ในขณะที่ฝ่ายรัฐและตัวแสดงหลัก (Actor) ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมให้มีความต่อเนื่องและมีการติดตามอย่างใกล้ชิด มีความเป็นเอกภาพที่ชัดเจน”

ข้างล่างนี้คือเอกสารเต็มจากวันประกาศ

 

จดหมายเปิดผนึก

17 กุมภาพันธุ์ 2568

เรียน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินมาแล้วเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยในปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคณะรัฐบาลชุดแรกที่ให้ความสำคัญและริเริ่มการเจรจาสันติภาพ เพื่อสร้างพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มขบวนการผู้เห็นต่างอย่างเป็นทางการผ่านการแต่งตั้งคณะเจรจาพูดคุยสันติภาพ (สันติสุข) นับแต่นั้นมาและส่งผลให้สถิติของความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น องค์กรร่วมที่มีรายนามท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ จึงมีความเห็นพ้องร่วมกันและตระหนักว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพคือทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเป็นกุญแจสำคัญในการยุติความรุนแรง การยับยั้งความสูญเสียชีวิตของผู้คน การฟื้นฟูความเชื่อมั่นระหว่างกลุ่มคนหรือภาคส่วนต่างๆ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งของกระบวนการสันติภาพ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมและช่วยสร้างความเข้าใจต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งเคารพในความแตกต่าง และส่งเสริมแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้าน อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา นอกจากนี้ กระบวนการสันติภาพยังเกี่ยวโยงกับการเคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในสังคม การปกป้องหลักสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนมีความเท่าเทียมจึงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน

องค์กรร่วมดังรายนามเชื่อมั่นว่าการเจรจาสันติภาพและการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความสงบสุขจะนำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนในสังคมที่มีความหลากหลายนี้อย่างไรก็ตาม องค์กรร่วมที่มีรายนามท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ มีข้อห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในห้วงเวลานี้หลังจากที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ประกาศแนวนโยบายทบทวนการบริหารจัดการกับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะประเด็นการพิจารณาตั้งคณะเจรจาเพื่อสันติภาพ และยังไม่มีความชัดเจนในแนวนโยบายการเจรจาสันติภาพ จึงขอนำเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดังนี้

1. ขอให้นายกรัฐมนตรีแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่หนักแน่นชัดเจนว่าจะสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพหลัก โดยจัดทำเป็นวาระแห่งชาติและแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติภาพเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้ภาคประชาสังคมได้จัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consultation) เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองอย่างครอบคลุมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับประชาชนในด้านต่างๆ เช่น รูปแบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา ภาษา อัตลักษณ์และวัฒนธรรม รวมถึงกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

3. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนแผนงานพัฒนาของภาคประชาสังคมในด้านต่างๆ โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น การสร้างชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สุขภาพอนามัยชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีประชาชนเป็นแกนหลัก

4. ขอให้รัฐบาลและฝ่ายขบวนการผู้เห็นต่าง ตระหนักถึงความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนและผู้บริสุทธิ์ โดยยึดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) โดยให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและยุติการใช้ความรุนแรง

5. ขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายสันติภาพตามวิถีทางประชาธิปไตย ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไทย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

6. ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ความสัมพันธ์เชิงการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นแกนหลัก เป็นต้น

ดังนั้น ขอให้รัฐบาลและกลุ่มขบวนการผู้เห็นต่างร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยทางเสรีภาพทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงความรู้สึกในพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัฒนธรรมให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อสังคม องค์กรร่วมที่มีรายนามท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพคือกุญแจสำคัญอันจะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ภาคประชาสังคม 44 องค์กรร่วมจัดงานมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้