
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์
รำลึก 14 ปี สึนามิญี่ปุ่น
วันที่ 11 มีนาคม 2025 เป็นวันครบรอบ 14 ปี การเกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่น (東日本大震災) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.2011 เวลา 14.46 น.
นับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดขนาด 9.0 แม็กนิจูด ก่อให้เกิดความเสียหายตลอดแนวชายฝั่งตะวันออก
และเกิดอุบัติเหตุสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะแห่งที่ 1
มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 22,193 คน ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลัง 121,193 หลัง และมีผู้อพยพลี้ภัยมากที่สุด 470,000 คน
คนมากมายต้องสูญเสียคนในครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนสนิท คนรัก และทรัพย์สินที่มีอยู่
กระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน (厚生労働省) ระบุว่าหลังเกิดภัยพิบัติ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ต้องสูญเสียบิดา หรือมารดาไปจำนวน 1,554 คน และต้องสูญเสียทั้งบิดาและมารดา จำนวน 243 คน
เด็กๆ เหล่านั้นเอาชีวิตรอดจากโศกนาฏกรรมในวันนั้นมาได้ มีชีวิตอยู่ต่อมาถึงวันนี้อีก 14 ปีด้วยความรู้สึกอย่างไร?
รวมทั้งผู้ใหญ่อีกจำนวนมากที่รอดชีวิตมาได้ รำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยความเศร้าใจเพียงใด
สํานักข่าว NHK ของญี่ปุ่นได้ทำแบบสอบถามคนในพื้นที่ 3 จังหวัดหลักที่ประสบภัยพิบัติ คือ ฟุคุชิมา (福島) อิวาเตะ (岩手) มิยางิ (宮城) เป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบครั้งนั้นจำนวน 1,000 คน ในจำนวนนี้ มี 236 คน ที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว คนใกล้ชิด
เมื่อสอบถามว่าเวลาผ่านไปนานแล้ว ความคิดถึงผู้จากไปเปลี่ยนไปหรือไม่? 49.6% ตอบว่า “ไม่เปลี่ยนแปลงเลย” ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุด 36.9% “ลดลงบ้าง” 14.5% “เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นบางครั้ง”
ไม่มีใครสามารถลืมเหตุการณ์อันโหดร้ายในวันนั้นได้
หญิงวัย 50 ปี ชาวจังหวัดอิวาเตะ ผู้สูญเสียญาติและเพื่อนสนิทบอกว่า “ภัยพิบัติอันโหดร้ายได้คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก ฉันต้องพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ เพื่อเป็นการชดเชยวันเวลาส่วนที่ญาติและเพื่อนสนิทควรได้มีชีวิตอยู่”
ชายวัย 50 ปี ชาวจังหวัดอิวาเตะ สูญเสียคุณย่าและพ่อ บอกว่า “แม้จะมีการเร่งฟื้นฟูสาธารณูปโภคต่างๆ และสภาพแวดล้อมของเมือง แต่สภาพจิตใจของผู้คนที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายอันไม่คาดฝัน ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ตัวผมเองตอนนี้หากผ่านไปเห็นทะเล ยังรู้สึกหวาดผวา หวนนึกถึงวันนั้น ไม่กล้ามองทะเลอีกเลย”
ศาสตราจารย์เรโอ คิมูระ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการป้องกันภัยพิบัติ ให้ความเห็นว่า “คนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ความรู้สึกคิดถึง เศร้าใจจะลดน้อยลง เมื่อเวลาล่วงเลยไป ชีวิตคนเรามีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง ขอให้คนรอบข้างเข้าใจและเป็นกำลังใจ ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายผ่านไปแล้ว อยากให้มองว่าประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นในการมีชีวิตอยู่ต่อไป
สถานีตำรวจ เมืองอิวากิ จังหวัดฟุคุชิมา ให้ข้อมูลว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมา 14 ปีแล้วก็ตามตำรวจยังคงทำการค้นหาผู้สูญหาย ที่ยังไม่พบร่องรอยเลย อีก 196 คน ในทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัด
ในทีมค้นหาของตำรวจปีนี้ มีสมาชิกที่จบจากโรงเรียนนายตำรวจมาเพิ่มอีก 6 นาย รวมเป็น 30 นาย
มีการจัดงานเสวนากับครอบครัวผู้สูญหาย เพื่อฝึกปฏิบัติรับมือกับภัยพิบัติ และหาเบาะแสของญาติ
หลังจากนั้น ทีมงานได้ยืนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิต และเริ่มสำรวจแนวชายฝั่งเผื่อจะพบร่องรอยที่จะสืบค้นไปถึงผู้สูญหายได้
นายตำรวจหนุ่มวัย 19 ปี ที่เพิ่งเข้ามาประจำการ บอกว่า “ในตอนนั้น แม้ผมจะเด็กเกินกว่าจะมีความทรงจำและเข้าใจเหตุการณ์ในขณะนั้น แต่ผมได้เรียนรู้จากหอจดหมายเหตุ เข้าร่วมทีมค้นหา เพื่อฝึกรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด และขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมให้กำลังใจครอบครัวผู้ประสบภัย”
วันที่ 1-11 มีนาคม ทุกปี เจ้าหน้าที่สนามบินเซนได จะวางเปียโนหลังหนึ่งไว้ที่ห้องโถงสนามบิน ให้ผู้คนมาดีดเล่นได้ตามอัธยาศัย เป็นเปียโนในบ้านของครูเปียโน ยูมิ ซากุไร ที่เมืองชิชิงาฮามะ จังหวัดมิยางิ เปียโนหลังนี้รอดพ้นจากภัยพิบัติเมื่อ 14 ปีก่อนมาได้ เป็นเปียโนที่จมน้ำ เปื้อนโคลน ถูกดึงขึ้นมาด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ นำมาซ่อมแซมจนใช้การได้ แต่ยังคงทิ้งร่องรอยความเสียหายให้เห็น ครูซากุไร บอกว่า “อยากให้ผู้คนที่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันนั้น เมื่อผ่านมาและได้ลองดีดเปียโนหลังนี้ ได้ยินเสียงเปียโนแล้ว รำลึกถึงภัยพิบัติ และความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมชาติด้วย”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้เงินงบประมาณในการฟื้นฟูเขตภัยพิบัติ 3 จังหวัดในภูมิภาคนี้จำนวน 32 ล้านล้านเยน (มูลค่าขณะนั้นประมาณ 9.6 ล้านล้านบาท)
นายชิเงรุ อิชิบะ (石破茂) นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ความเชื่อมั่นในการเร่งฟื้นฟูภูมิภาคนี้อย่างเต็มความสามารถ และมีแนวคิดจัดตั้ง “กระทรวงป้องกันภัยพิบัติ” (防災庁) เพื่อดูแลการป้องกันภัยพิบัติ นายอิชิบะกล่าวว่า “รู้สึกเสียใจกับครอบครัวผู้ประสบภัยที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป รวมทั้งคนที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินอันมีค่า อีกทั้งผู้คนในพื้นที่ขณะนี้ก็ยังประสบปัญหาไม่สะดวกสบายอีกหลายประการ รัฐบาลจะพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป”
ในวันที่ 11 มีนาคม เวลา 14.46 น. ขอให้ประชาชนร่วมกันยืนไว้อาลัย รำลึกถึงผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ในภูมิภาคโทโฮคุ เป็นเวลา 1 นาที ในวันนั้น นายอิชิบะไปเป็นประธานในงานพิธีไว้อาลัย ที่จัดขึ้นที่จังหวัดฟุคุชิมะ ส่วนนายทาดาฮิโกะ อิโต (伊藤忠彦) รัฐมนตรีกระทรวงการฟื้นฟู (復興大臣) ไปเป็นประธานในพิธีจัดขึ้นที่จังหวัดมิยางิ และจังหวัดอิวาเตะ
รำลึก 14 ปี ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ญี่ปุ่น…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022