คุยกับทูตรัสเซีย | เยฟกินี โทมิคิน การเมืองโลกมักจะจบลงที่ ‘ผลประโยชน์’ (1)

คุยกับทูตรัสเซีย | เยฟกินี โทมิคิน

การเมืองโลกมักจะจบลงที่ ‘ผลประโยชน์’ (1)

 

สัปดาห์นี้ ขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับ “คณบดีคณะทูตต่างชาติ” (Dean of the Diplomatic Corps) คนล่าสุด คือ นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียคนปัจจุบัน ซึ่งมีลำดับอาวุโสที่สุด (ยื่นสาส์นตราตั้งก่อนผู้อื่น) ในประเทศที่ประจำการคือประเทศไทย

“ผมเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะทูตต่างชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2024 ต่อจากเอกอัครราชทูตมาเลเซียที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง โดยผมจะทำหน้าที่เป็นผู้แทนคณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นโฆษกของคณะทูตเมื่อถึงความจำเป็น เป็นผู้ดูแลและคุ้มครองบรรดาเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตที่คณะทูตานุทูตมีอยู่ รวมทั้งงานที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา

ในบางโอกาสผมก็จะพูดถึงปัญหาและข้อกังวลทางการทูตในนามของคณะทูต แต่โชคดีที่ชีวิตทางการทูตที่นี่ไม่ได้มีเพียง ‘ปัญหาและข้อกังวล’ เท่านั้น”

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

“ความสัมพันธ์ของเรากำลังพัฒนาในหลายด้าน จากการเจรจาทางการเมือง โครงการเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว หนึ่งในด้านที่มีแนวโน้มดี คือการส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

เรายังได้เห็นความสนใจจากคนไทยที่สมัครไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งรัฐบาลรัสเซียมอบทุนให้นักศึกษาไทยจำนวน 55 ทุน

สาขาหลักที่ดึงดูดนักศึกษาจากประเทศไทย ได้แก่ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ การแพทย์ รัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ วัฒนธรรม

และในขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำข้อตกลงทวิภาคีในสาขาความร่วมมือต่างๆ”

ตราแผ่นดินของรัสเซีย

ความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ

“มีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนทางการและทางธุรกิจมากมาย เพื่อนร่วมงานชาวรัสเซียและไทยจากหน่วยงานต่างๆ จัดการประชุมทวิภาคี คณะกรรมาธิการร่วมรัสเซีย-ไทยว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีซึ่งประกอบด้วยคณะอนุกรรมการและคณะทำงานร่วมหลายคณะ เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพอีกประการหนึ่ง เราทำงานเพื่อปรับปรุงกรอบกฎหมายทวิภาคีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเรา ซึ่งผมมั่นใจว่าความพยายามเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของเราทั้งสองประเทศ”

ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร และการลงทุนของไทยในรัสเซียอยู่ในระดับต่ำมาก

เอกอัครราชทูตเยฟกินี โทมิคิน ชี้แจงว่า

“สหพันธรัฐรัสเซียเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงจากประเทศไทยด้วยเช่นกัน กฎหมายแห่งชาติของรัสเซียกำหนดเงื่อนไขการลงทุนที่มั่นคง ปลอดภัย และน่าดึงดูดใจอย่างยิ่งในหลากหลายด้าน มีการจัดงานการลงทุนระหว่างประเทศที่สำคัญหลายงานในรัสเซียทุกปี เช่น ฟอรั่มเศรษฐกิจตะวันออก ฟอรั่มเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นต้น ขอเน้นว่า เรายินดีต้อนรับเพื่อนร่วมงานชาวไทยของเราเสมอ”

รัสเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เป็นสินค้าส่งออกหลักที่สร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ขณะที่ในส่วนของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร รัฐบาลรัสเซียไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนามากนักในช่วงที่ผ่านมา

แต่ในปัจจุบันการปฏิวัติภาคเกษตรกรรมของรัสเซียกำลังก้าวเดินไปข้างหน้า จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย(1)

ไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตร BRICS อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2025 ในฐานะที่รัสเซียเป็นประธานกลุ่ม BRICS เมื่อปี 2024 รัสเซียมีความร่วมมือกับประเทศไทยมากขึ้น

“ผมขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยอีกครั้ง ในการเข้าร่วมครอบครัว BRICS ในฐานะรัฐพันธมิตร รัสเซียระบุตั้งแต่แรกเริ่มว่าราชอาณาจักรนี้เป็นผู้สมัครที่แข็งแกร่งสำหรับการเป็นสมาชิก

เราเชื่อมั่นว่ากรุงเทพฯ จะสามารถมีส่วนสนับสนุนการทำงานของกลุ่มประเทศ BRICS ได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงแต่ด้วยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอำนาจในกิจการระดับภูมิภาค โดยเฉพาะภายในกลุ่ม ASEAN ด้วย

ความร่วมมือระหว่างรัสเซียและไทยในกลุ่ม BRICS จัดขึ้นในมิติทางการเมืองเป็นอันดับแรก โดยตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีและกิจกรรมระดับสูงภายในกลุ่ม BRICS

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนเมืองนิจนีนอฟโกรอด (Nizhny Novgorod) เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS และจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เมืองคาซาน (Kazan)ในเดือนตุลาคม

ความร่วมมือกับไทยในกลุ่ม BRICS สามารถมุ่งเน้นไปที่ด้านการค้าและการลงทุนได้ เราหวังว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะครอบคลุมมากกว่านั้น แน่นอนที่สุด การมีส่วนร่วมของประเทศไทยกับกลุ่ม BRICS ตอกย้ำความมุ่งมั่นต่อความร่วมมือพหุภาคีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”

ประชุมสุดยอดบริกส์ที่เมืองคาซาน. 22-24 ตุลาคม 2024

สถานการณ์ในยูเครนและการดำเนินงานทางการทูต

“ตามที่ทุกคนสามารถเห็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตทั้งในและรอบๆ ยูเครนจากสื่อมาโดยตลอด ซึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของยูเครน แต่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา โดยดินแดนยูเครนถูกใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร

สำหรับเรื่องนี้ รัสเซียยินดีกับข้อเท็จจริงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคมว่ารัฐบาลสหรัฐชุดก่อนทำผิดพลาดในกรณีของยูเครน

ในระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียและประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ พูดสนับสนุนให้มีการยุติการสู้รบโดยเร็วและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ

ส่วนวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวถึงความจำเป็นในการแก้ไขสาเหตุหลักของความขัดแย้ง และเห็นด้วยกับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าการยุติความขัดแย้งในระยะยาวสามารถทำได้โดยการเจรจาอย่างสันติ

ประธานาธิบดีรัสเซียได้ส่งคำเชิญถึงทรัมป์ ให้ไปเยือนกรุงมอสโกด้วย และแสดงความพร้อมในการต้อนรับเจ้าหน้าที่สหรัฐในรัสเซีย เกี่ยวกับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน รวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับยูเครน”

รมว.ต่างประเทศสหรัฐ มาร์โค รูบิโอ หารือกับฝ่ายรัสเซียที่นำโดย รมว.ต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้นำรัสเซียจะคัดค้านการหยุดยิง แต่ “เปิดใจที่จะประนีประนอม” เพื่อยุติสงคราม

“เพื่อตอบคำถามนี้ ผมก็อยากจะเตือนให้นึกถึงคำปราศรัยของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขของรัสเซียที่จะทำให้ความขัดแย้งยุติลงได้

เงื่อนไขดังกล่าว ได้แก่ การถอนทหารยูเครนทั้งหมดออกจากดินแดนโดเนตสค์ (Donetsk) ลูฮันสค์ (Lugansk) เคอร์ซอน (Kherson) ซาโปริเซีย (Zaporizhia) อย่างสมบูรณ์เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่นั้น

ทันทีที่เคียฟประกาศว่าพวกเขาพร้อมสำหรับการตัดสินใจดังกล่าว และเริ่มถอนทหารออกจากพื้นที่เหล่านี้อย่างแท้จริง และประกาศอย่างเป็นทางการว่าพวกเขาละทิ้งแผนการเข้าร่วมนาโต ในส่วนของเรา จะมีการหยุดยิงและเริ่มการเจรจาทันที

รัสเซียยังเรียกร้องให้ยูเครนมีสถานะเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ เป็นเขตปลอดทหาร และขจัดระบอบนาซี เนื่องจากทุกคนโดยทั่วไปเห็นด้วยกับพารามิเตอร์เหล่านี้ในระหว่างการเจรจาที่อิสตันบูลเมื่อปี 2022

แน่นอนว่าสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของพลเมืองที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนจะต้องได้รับการรับรองอย่างเต็มที่ ความเป็นจริงของดินแดนใหม่จะต้องได้รับการยอมรับ ในอนาคต ข้อกำหนดพื้นฐานและหลักการทั้งหมดนี้จะต้องได้รับการบันทึกในรูปแบบของข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ

และแน่นอนว่า หมายถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทั้งหมดจากชาติตะวันตกด้วย”

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2025 งานเลี้ยงเนื่องในโอกาสวันพิทักษ์มาตุภูมิของรัสเซีย

ส่วนการประเมินผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อเศรษฐกิจและสังคมของรัสเซียนั้น

“ปัจจุบัน รัสเซียเป็นประเทศที่มีการจำกัดการใช้อำนาจโดยฝ่ายเดียว ที่ผิดกฎหมายมากที่สุด มีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดที่ 15 ทั้งหมด รวมแล้วกว่า 16,000 รายการ

ถึงอย่างไร เศรษฐกิจรัสเซียยังคงแสดงผลลัพธ์ในเชิงบวก

อัตราการเติบโตของ GDP ณ สิ้นปี 2024 อยู่ที่ +4.1%

ตลาดแรงงานมีเสถียรภาพสูง มีการเติบโตของค่าจ้างสูงท่ามกลางภาวะการว่างงานที่ต่ำ

อัตราการว่างงาน ณ สิ้นปี 2024 อยู่ที่เฉลี่ย 2.5% ของกำลังแรงงาน

ในขณะที่นโยบายการคว่ำบาตรและมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อต่อต้านรัสเซียได้ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดย IMF คาดว่าอัตราการเติบโตของ GDP โลกจะคงอยู่ที่ 3.2% ในปี 2024 (คาดการณ์ว่าในปี 2025 จะอยู่ที่ 3.2% เช่นกัน)

ส่วนประมาณการของธนาคารโลก (WB) ยังคงมองในแง่ร้ายยิ่งขึ้น โดยอยู่ที่ 2.6% ในปี 2024 และ 2.7% ในปี 2025-2027″

การคุยโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีปูติน เรื่องยูเครน

สําหรับข้อกังวลหลักของรัสเซียเกี่ยวกับการขยายตัวของ NATO และผลประโยชน์ด้านความปลอดภัยในยุโรปตะวันออก

“แน่นอนว่าเรากำลังเห็นการล่มสลายของระบบรักษาความปลอดภัยยูโร-แอตแลนติก (Euro-Atlantic) วันนี้มันไม่มีอยู่จริง ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรและประเทศที่สนใจทั้งหมด ซึ่งมีอยู่มากมาย เพื่อหาทางเลือกของตนเองในการรับรองความปลอดภัยในยูเรเซีย (Eurasia) จากนั้นจึงเสนอทางเลือกเหล่านี้เพื่อหารือกันอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ

ในบริบทนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 วลาดิมีร์ ปูติน ได้เสนอความคิดริเริ่มในการกำหนดโครงร่างของความมั่นคงที่เท่าเทียมและแยกจากกันไม่ได้

เป็นความร่วมมือและการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ร่วมกันและเท่าเทียมกันในทวีปยูเรเซีย”

สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

เอกอัครราชทูตเยฟกินี โทมิคิน ชี้แจงถึงแนวทางปฏิบัติตามหลักการความมั่นคงที่เท่าเทียมว่า

ประการแรก จำเป็นต้องสร้างการเจรจากับผู้มีส่วนร่วมที่มีศักยภาพทั้งหมดในระบบความมั่นคงในอนาคตดังกล่าว และเริ่มต้นด้วยการขอให้แก้ไขปัญหาที่จำเป็นกับรัฐที่เปิดกว้างสำหรับการโต้ตอบเชิงสร้างสรรค์กับรัสเซีย

ประการที่สอง สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการต่อจากข้อเท็จจริงที่ว่าสถาปัตยกรรมความปลอดภัยในอนาคตนั้นเปิดกว้างสำหรับประเทศในยูเรเซียทุกประเทศที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้าง ‘สำหรับทุกคน’ (For all) ซึ่งหมายถึงประเทศในยุโรปและนาโตด้วยเช่นกัน

เราอาศัยอยู่ในทวีปเดียวกัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ภูมิศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราจะต้องอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ประเทศเล็กที่รอดจากการบงการของมหาอำนาจได้ คือประเทศที่ใช้การทูตได้รอบจัด และรู้จักใช้ดุลอำนาจ การเมืองโลกมักจะจบลงที่ “ผลประโยชน์” เพราะถึงที่สุดแล้ว ผู้ชนะคือฝ่ายธรรมะ และผู้แพ้คือฝ่ายอธรรม สิ่งที่เรากำลังเห็นในตอนนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า คือการทูตเชิงบังคับแบบมัดมือชก

*หมายเหตุ : สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2025 ณ สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin