Harald Link

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

บุคคลสำคัญกับบทบาทเชื่อมโยงกับโอกาสและปรับตัว ธุรกิจเก่าแก่มีอายุเกือบ 150 ปีในสังคมไทย

ด้วยแรงบันดาลใจมาจากแง่มุมที่เล็กมากๆ ซ่อนอยู่ ในกระแสหนึ่งซึ่งเป็นความสนใจ ว่าด้วยสถานการณ์ระดับโลกอันผันแปรมาจากการเมืองโดยเฉพาะโลกตะวันตก จากทวีปอเมริกาเหนือ กำลังมาสู่ยุโรป ขณะนี้ผู้คนสนใจการเมืองเยอรมนีเป็นพิเศษ ในฐานะระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เพิ่งผ่านการเลือกตั้ง กำลังจัดตั้งรัฐบาล

แง่มุมเล็กมากๆ ที่ว่า มาจากข้อมูลที่เปิดเผยของทางการเยอรมนี ว่าผู้นำธุรกิจในไทยคนหนึ่ง เป็นผู้บริจาคสนับสนุนทางการเงินพรรคการเมืองหนึ่งในเยอรมนี แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคฝ่ายขวากลางนั้นไม่ได้ที่นั่งแม้แต่ที่นั่งเดียว ทว่า กระตุ้นความสนใจใครคนนั้นที่จะขอกล่าวจากนี้

อันที่จริงเคยพาดพิงเกี่ยวข้องในบางด้านไว้ พอจะให้เห็นภาพความสัมพันธ์บางมิติเกี่ยวกับสังคมไทยในช่วงเวลามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง

 

เปิดฉากขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ยุค อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 ไม่เพียงเป็นที่มา และจุดตั้งต้น บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่าง กลุ่ม ปตท. หากรวมการปฏิรูปกิจการผลิตไฟฟ้าครั้งใหญ่ ในสถานการณ์ซึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญ-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่อาจแบกรับภารกิจได้ตามลำพัง

ปีเดียวกัน (2535) กฟผ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Small Power Producer (SPP) จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ จากนั้นปี 2537 เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาแข่งขันลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า

…บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เข้าร่วมวงในจังหวะแรกๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในฐานะเป็นเครือข่ายกิจการที่มีรากฐานในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รัชสมัย ร.5 “ในปี พ.ศ.2421 หรือ ค.ศ.1878 ชาวยุโรปสองท่าน…เภสัชกรชาวเยอรมันชื่อ แบร์นฮาร์ด กริม…กับหุ้นส่วนชาวออสเตรียชื่อ แอร์วิน มุลเลอร์ ได้เดินทางมายังประเทศไทยและก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล ห้างนี้ชื่อว่าสยามดิสเปนซารี่ ถือเป็นร้านยาในรูปแบบแพทย์สมัยใหม่แห่งแรกในประเทศไทย” (https://bgrimmgroup.com/th)

มาถึงจุดเปลี่ยนหนึ่ง “เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2536 โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนของประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนเราใช้ชื่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด…” (https://www.bgrimmpower.com/th) กิจการกำลังเป็นไปคึกคักพอสมควร หลังจากเข้าตลาดหุ้น (ปี 2560) มีโครงการหนึ่งซึ่งสื่อเยอรมนีให้ความสนใจเป็นพิเศษ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ซึ่งถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย”

(ข้อมูลจากสารประธานกรรมการ-ดร.ฮาราลด์ ลิงค์)

B.Grimm President Harald Link Receives Korea Equestrian Federation’s Award /khaosodenglish

ข้อความข้างต้น ตัดตอนมาจากเรื่องที่เคยนำเสนอไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว “กัลฟ์ (1) จุดเริ่มต้น และรอยต่อ” – มติชนสุดสัปดาห์ 1 พฤษภาคม 2564 คราวนี้ ตั้งใจขยายภาพให้กว้างขึ้น ขณะเจาะจงกล่าวถึงบุคคลคนหนึ่ง

เขาคือ ฮาราลด์ ลิงค์ (Harald Link) ผู้เพิ่งเข้าสู่วัย 70 ปี สมาชิกตระกูลเชื้อสายเยอรมันหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายกิจการทางธุรกิจเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสังคมไทย

“ในปี พ.ศ.2446 ห้างสยามดิสเปนซารี่ ได้รับ อดอล์ฟ ลิงค์ เภสัชกรชาวเยอรมัน ผู้มีความมุ่งมั่นแข็งขันเข้ามาร่วมงาน ซึ่งช่วยให้กิจการของบี.กริม” อ้างจากข้อมูลทางการของบี.กริม หรือ B.Grimm (www.bgrimmgroup.com) เป็นตอนต่อที่อ้างไว้แต่ต้น เทียบเคียงบริบทสังคมไทยในเวลานั้น เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป

อดอล์ฟ ลิงค์ (Adolf Link) ถือเป็นบุคคลสำคัญของ B.Grimm ตั้งแต่นั้นมา มีสายสัมพันธ์กับแนบแน่นในสังคมไทย สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์ยากลำบากโดยเฉพาะช่วงสงครามโลก

Adolf Link คือปู่ของ Harald Link ว่าไปแล้ว จากนั้นจนถึงวันนี้ถือว่า ครอบครัว Link เกี่ยวข้อง ดูแลและบริหาร B.Grimm มายาวนานกว่าศตวรรษ ถือเป็นกิจการก่อกำเนิดในสังคมไทยอย่างแท้จริง อยู่มานาน มีอายุมากกว่ากิจการเก่าแก่สำคัญๆ ของไทย ทั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือสยามกัมมาจลในยุคแรก (ก่อตั้งปี 2449) และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (ก่อตั้งปี 2456)

ว่าเฉพาะสายสัมพันธ์สังคมไทย พิจารณาได้จากข้อมูลที่อ้างแล้ว (จาก www.bgrimmgroup.com) ควรบันทึกไว้ตามไทม์ไลน์ไว้ด้วย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Adolf Link เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองฮัมบูร์ก ต่อเนื่องมาในช่วงหลังสงครามเมื่อบุตรชายคนรองของเขา–เกฮาร์ด ลิงค์ (Gerhard Link) บิดาของ Harald Link มีฐานะเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองฮัมบูร์ก

ตามมาด้วยอีกกรณีหนึ่งในอีก 4 ทศวรรษต่อมา “ปี พ.ศ.2518 คุณหญิงอัลม่า ลิงค์ ภรรยาของเฮอร์เบิร์ต ลิงค์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง…ถือเป็นสตรีต่างชาติคนแรกที่ได้รับเกียรติ…” (อ้างแล้ว)

เฮอร์เบิร์ต ลิงค์ (Herbert Link) คือลุงของ Harald Link เข้ารับช่วงและฟื้นฟูกิจการในเมืองไทยอย่างที่ระบุไว้ “…กลับมาเปิดบริษัทขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2492 โดยมีเฮอร์เบิร์ต ลิงค์ เข้ามาดูแลกิจการ”

ตระกูล Link บริหาร B.Grimm ข้ามเข้าสู่รุ่นที่ 3 เมื่อราว 4 ทศวรรษที่แล้ว เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในยุคใหม่ “ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ฮาราลด์ ลิงค์ เริ่มเข้ามาช่วยคุณลุงเฮอร์เบิร์ต ดูแลกิจการในประเทศไทยที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะเติบโตที่ประเทศเยอรมนี แต่นายฮาราลด์ก็มีความตั้งใจที่จะสืบทอดกิจการบี.กริม และอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย”

ผ่านมาระยะหนึ่ง ในจังหวะเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูช่วงหนึ่ง “ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา บริษัท บี.กริม ภายใต้การบริหารของฮาราลด์ ลิงค์ บุตรชายของ ดร.เกฮาร์ด ลิงค์ เดินหน้าขยายกิจการไปสู่ธุรกิจพลังงานอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ พร้อมยังมุ่งเน้นการร่วมทุนกับบริษัทชื่อดังของโลกอีกหลายแห่ง”

เป็นการปรับตัวอย่างกระชั้น ทันกาล อย่างมีนัยยะสำคัญ เข้าสู่ธุรกิจใหม่ ถือเป็นภาคต่อที่มีอนาคต อย่างที่พาดพิงไว้ในตอนต้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกประวัติของ B.Grimm เอง

“ในปี พ.ศ.2538 หลังจากนั้น บริษัท บี.กริม ก็ได้ขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงาน”

 

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ตั้งใจใช้อักษรย่อในตลาดหุ้นว่า BGRIM ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมเกือบ 2 แสนล้านบาท และมีรายได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สื่อยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น (Nikkei Asian Review) เคยระบุว่า มีสัดส่วนรายได้มากถึง 80%-ของ B.Grimm Group ทั้งหมด เมื่อพิจารณาข้อมูลที่นำเสนอ จะพบว่ารายได้หลักมาจากประเทศไทย มาจากคู่ค้ารายใหญ่-กฟผ.

อันที่จริง B.Grimm Group กิจการรากฐานเดิมในสังคมไทย ดำเนินธุรกิจหลากหลาย มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในเยอรมนีด้วย และมีเครือข่ายในต่างประเทศ “…เป็นองค์กรด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการสาธารณสุขที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ คมนาคม และอสังหาริมทรัพย์” อย่างที่ข้อมูลทางการว่าไว้ (www.bgrimmgroup.com)

อาจเป็นภาพที่ต่อเนื่องกันก็เป็นได้ Harald Link เข้ามาอยู่ในทำเนียบ Forbes Thailand’s 50 Richest มาตั้งแต่ปี 2560 ปีเดียวกันที่บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ด้วยมีความมั่งคั่ง ระหว่าง 1-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นลงตามภาวะตลาดหุ้น

อ้างอิงข้อมูลข้างต้น Harald Link เป็นชาวต่างชาติผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com