ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (115) ถึงเวลาเก็บขวดพลาสติก

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม

คดี “เปรมชัย กรรณสูต” ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกบุกเข้าไปตั้งแคมป์ล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมอาวุธปืนเพียบ ทำเอาคนไทยช็อกทั้งประเทศ

ภาพซากสัตว์ป่าสงวนฯ ทั้งเสือดำ เก้งและไก่ฟ้าหลังเทา กองอยู่ในแคมป์คณะ “เปรมชัย” เสมือนประจานให้โลกรู้ว่า มหาเศรษฐีติดอันดับท็อปของประเทศไร้ซึ่งจิตสำนึกสาธารณะ

คดีนี้คนทั้งประเทศเฝ้าจับตาดู “หลุด” หรือ “คุก”

และนี่จะเป็นอีกคดีที่ชี้วัดว่า การบังคับใช้กฎหมายของบ้านเราล้มเหลวอีกหรือไม่?

ถ้าล้มเหลวซ้ำรอยอดีต ก็อย่าได้หวังว่าประเทศไทยจะเดินหน้ากับการใช้ข้อกฎหมายควบคุมทิศทางสู่ความเป็นอารยชน

ผลที่ตามมานอกจากสังคมเกิดความอลหม่าน ไร้ที่พึ่งแล้ว การดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะหมดสิ้นสภาพไปด้วย

 

วกกลับมาพูดถึงเรื่องการรีไซเคิลกับโลกร้อนกันดีกว่า

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวใหญ่ในวงการสิ่งแวดล้อมด้านการรีไซเคิลขยะของอังกฤษ

เนื้อข่าวมีอยู่ว่า รัฐบาลเมืองผู้ดีเตรียมนำแผนปฏิบัติการ “รีไซเคิล” ของนอร์เวย์มาใช้บนเกาะอังกฤษ และได้ส่งทีมงานไปดูวิธีการบริหารจัดการกับขวดพลาสติกที่กรุงออสโลแล้วด้วย

สาเหตุที่อังกฤษต้องการก๊อบปี้การเก็บขวดพลาสติกมารีไซเคิลเหมือนอย่างนอร์เวย์ เป็นเพราะว่า อังกฤษถึงทางตันในการจัดการกับขยะพลาสติกที่กำลังล้นประเทศ

 

ก่อนหน้านี้ จีนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางขยะพลาสติก

ประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ส่งขยะและขวดพลาสติกใช้แล้วไปให้จีนรีไซเคิล เฉลี่ยตกปีละ 7.3 ล้านตัน เฉพาะอังกฤษ 2.7 ล้านตัน

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกต่างด้าวอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ จีนเร่งเพิ่มระดับความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ปริมาณขยะพลาสติกในจีนเพิ่มพรวดพราดมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วเนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมจีนเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม

เมื่อปี 2558 คนจีนซื้อน้ำขวดดื่ม 68,400 ล้านขวด

ปี 2559 พุ่งเป็น 73,800 ล้านขวด

เพียงปีเดียวปริมาณเพิ่มขึ้น 5,400 ล้านขวด

นี่คิดเฉพาะน้ำดื่มบรรจุในขวดพลาสติกเท่านั้น

ในปี 2549 ทั่วโลกผลิตขวดพลาสติกออกมาใส่เครื่องดื่มชนิดต่างๆ มีจำนวน 300,000 ล้านขวด

10 ปีถัดมาคือปี 2559 ปริมาณการใช้ขวดพลาสติกพุ่งขึ้นถึง 480,000 ล้านขวด

คิดเฉลี่ยคนทั้งโลกกินเครื่องดื่มที่บรรจุอยู่ในขวดพลาสติกวินาทีละ 2 หมื่นขวด

 

ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วและแปรสภาพกลายเป็นขยะนั้น ทุกประเทศทั่วโลกเก็บกลับมารีไซเคิลทำเป็นพลาสติกใหม่เพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือทิ้งในกองขยะ ในทะเล หรือไม่ก็เอาไปเผาทำลาย

อย่างที่บ้านเรา ขยะพลาสติกทิ้งลงทะเลมีปริมาณสูงมากถึงขั้นติดอันดับ 6 จาก 192 ประเทศ

นักสิ่งแวดล้อมประเมินว่า แต่ละปีจะมีขยะเหล่านี้ลอยอยู่ในทะเลทุกซอกมุม ไม่เว้นแม้กระทั่งเกาะแก่งต่างๆ หรือขั้วโลกราว 13 ล้านตัน

อย่างที่รู้กันว่าขยะพลาสติกคือหนึ่งในสาเหตุหลักทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

ขยะพลาสติกไม่ว่าจะเอาฝังดิน ทิ้งลงทะเลหรือเผาไฟก็ล้วนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

ถ้าฝังดินต้องใช้เวลานับร้อยปีจึงย่อยสลาย เอาไปทิ้งทะเลก็ทำลายระบบนิเวศน์ทางทะเล

สัตว์ใต้ท้องทะเลกินขยะพลาสติกเข้าไปเพราะนึกว่าเป็นอาหาร มีสถิติการเสียชีวิตเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีและมีผลกระทบกับห่วงโซ่อาหาร

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในแต่ละปีผู้บริโภคกินเนื้อปลาหรืออาหารซีฟู้ดที่มีพลาสติกชิ้นเล็กๆ ราว 11,000 ชิ้น

เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยพลีมัธ แห่งอังกฤษตรวจพบชิ้นพลาสติกขนาดเล็ก (microplastic) อยู่ในเนื้อปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล และหอย

และหากเอาขยะพลาสติกไปเผา จะเกิดควันพิษทำลายชั้นบรรยากาศและมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ มีผลเสียค่อสุขภาพร่างกาย

 

ถ้าภายในทศวรรษนี้ ทั่วโลกไม่มีระบบการบริหารจัดเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ขยะพลาสติกจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพราะทุกๆ วินาทีจะมีคนซื้อเครื่องดื่มบรรจุอยู่ในขวดพลาสติก และปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นถึง 583,300 ล้านขวด หรือเพิ่มขึ้น 20% ในปี 2574

ขวดพลาสติกที่นำมาบรรจุน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่ทำจากเม็ดพลาสติกชนิดพอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลต หรือเพ็ต (polyethylene terephthalate : Pet) คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษตั้งแต่ปี 2484

เพ็ตสามารถนำมาแปรรูปใช้ใหม่ได้อีกอย่างน้อย 10 ครั้ง

แต่น่าเสียดายที่ทั่วโลกไม่ได้เอาจริงเอาจังกับกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก

 

ย้อนกลับไปที่อังกฤษ ทุกๆ วันชาวเมืองผู้ดีใช้ขวดพลาสติก 38.5 ล้านขวด แต่ดึงออกมาจากกองขยะเอาไปรีไซเคิลได้แค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น

ที่เหลือ 16 ล้านขวดอยู่ในกองขยะ หรือในทะเล

เมื่อจีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ระบบการจัดเก็บขยะของอังกฤษได้รับผลกระทบในทันที

ทางออกของอังกฤษเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้คือ ไปก๊อบปี้วิธีรีไซเคิลของนอร์เวย์มาใช้เพื่อลดปัญหา ขยะพลาสติกล้นเมือง

สัปดาห์หน้ามาว่ากัน ทำไมต้อง “นอร์เวย์”?