มุกดา สุวรรณชาติ : เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็กลายเป็นหน้าที่

มุกดา สุวรรณชาติ

บ้านเรามีคนอ้างคำพูดของ Thomas jefferson ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 3 หลายครั้ง

เมื่อต้นปี 2557 ในการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่หลังรัฐประหารแล้วก็เงียบหายไป

ตอนนี้มีคำกล่าวว่าเราเป็นพลเมืองจะต้องทำตามกฎหมาย

แต่ปัญหามีอยู่ว่ากฎหมายนั้นมีเนื้อหาว่าอย่างไร? ใครเป็นคนร่าง? และร่างมาเพื่อใคร?

ความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมายก็คือ การที่นำสิ่งผิดๆ นำเอาการกดขี่มาร่างเป็นกฎเกณฑ์ เพื่อใช้บังคับกับคนส่วนใหญ่ของสังคม

ถ้าเรายึดหลักว่าคนเกิดมาเท่าเทียมกันสิ่งที่เป็นกฎหมายหลายมาตราวันนี้ก็จะใช้ไม่ได้

ถ้าเรายึดหลักเสรีภาพ คงไม่ออกกฎหมายมาควบคุมประชาชนไม่ให้พูด หรือแสดงความคิดเห็นที่ต่างกับรัฐ และคงไม่ไล่จับประชาชนที่มาเรียกร้องให้เลือกตั้ง

ในปีที่สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลไทยจับตัวนักเคลื่อนไหวแรงงานชาวกัมพูชาที่ขอลี้ภัยส่งกลับ เธอมีความผิดเพราะต่อต้านรัฐบาล โดยเอารองเท้าแตะขว้างใส่รูปนายกฯ ฮุน เซน ที่อยู่ข้างถนน ขณะที่ยูเอ็นเอชซีอาร์อยู่ระหว่างหาทางให้เธอไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม นักสิทธิมนุษยชนอึ้งกันทั้งโลก ยกเว้น กสม. คนกล้าต่อต้านรัฐบาลของกัมพูชา ถ้าไม่หนีก็ถูกจับ

ที่เมืองไทย ผู้กล้าตอนนี้ เป็นเด็กๆ แต่ใจถึงจริงๆ ถ้าเกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ จะมีคนถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมือง ว่าใครคือพวกฉวยโอกาส ใครคือวีรบุรุษ วีรสตรี ใครคือผู้ร้าย

 

อำนาจรัฐสามารถทำให้ผิดเป็นถูกได้หรือ?

เมื่อเกิดการยึดอำนาจโดยกำลังอาวุธ ถ้าสำเร็จ ผู้คุมอำนาจใหม่ก็จะประกาศว่าการยึดอำนาจของตนเองนั้นจำเป็น แม้ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ก็จะได้รับการนิรโทษกรรม

แต่นิรโทษกรรมตนเองดูไม่ดีก็จะตั้งสภาขึ้นมา จะเรียกอะไรก็ตาม แต่ทั่วไปมักเรียกว่าสภานิติบัญญัติเพื่อให้มีหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายและให้สภานั้นเสนอการนิรโทษกรรมให้กับผู้ยึดอำนาจสำเร็จ ดังนั้น สิ่งที่ทำผิดกฎหมายในตอนต้นก็จะได้รับการยกเว้นไม่เอาผิด ไม่ต้องโทษจำคุก ไม่ต้องโทษประหารชีวิต

และต่อมาผู้มีอำนาจก็จะออกคำสั่งเพื่อใช้บังคับกับประชาชน แม้คำสั่งนั้นจะไม่มีในกฎหมายดั้งเดิมก็ตาม แต่สามารถทำได้และคำสั่งนั้นก็จะกลายเป็นกฎหมาย โดยสภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้น

เช่น ห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คน ห้ามมีการเรียกร้องเคลื่อนไหวทางการเมือง ยุบพรรคการเมือง สั่งปิดสื่อสารมวลชน น.ส.พ สถานีโทรทัศน์ ฯลฯ สามารถสั่งจับคนไปขังไว้ เพื่ออบรม ทำอย่างไรก็ได้

สิ่งเหล่านี้เมื่อกลายเป็นกฎหมาย คนต้องปฏิบัติตาม

ถ้าประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่สมควร เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมก็จะมีการต่อต้าน อาจจะเริ่มจากเล็กน้อยและค่อยขยายใหญ่ขึ้น

บางเรื่องที่กระทบอย่างรุนแรง ปฏิกิริยาก็รุนแรงตาม เช่น ห้ามนั่งท้ายรถกระบะ คนที่เดือดร้อนจำนวนมากก็จะลุกขึ้นมาต่อต้านแบบทันทีทันใด

แต่จะสังเกตว่าเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นหลักของสิทธิเสรีภาพ การต่อต้านยังมีน้อยอยู่เพราะคนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าห่างไกลตัวเอง ถ้าความเดือดร้อนยังไม่มาถึงตัวในวันนี้

 

การเคลื่อนไหวทางการเมือง
เป็นสิทธิ เสรีภาพ พื้นฐาน

ในขณะที่โทมัส เจฟเฟอร์สัน บอกว่าการเมืองเป็นหัวใจของประชาธิปไตย

แต่ในประเทศเรากลับมีความพยายามสอนว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ไม่ควรไปยุ่ง

การเป็นนักการเมืองไม่ใช่เรื่องดี นักการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนเลว มีการตีความให้คนที่เข้ามาปกครองและบริหารว่าไม่ใช่นักการเมือง

ที่จริงแล้วการเมืองเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับทุกคน จะยุ่งเกี่ยวมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่และความสนใจของแต่ละคนเพราะการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนและกลุ่มคนที่ต้องปรับให้สู่สมดุลเพื่อให้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้าได้ ให้เสียงส่วนใหญ่ของคนในสังคมตัดสินปัญหาได้ การยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่เพียงเป็นเรื่องแค่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่การเรียกร้องสิทธิต่างๆ ไม่ว่าเรื่องการรักษาพยาบาล ราคาพืชผล เรื่องสภาพสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นการเมืองทั้งสิ้น

ซึ่งทุกปัญหาขัดแย้ง จะถูกเปลี่ยนแปลงหรือถูกบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพสังคม ก็ขึ้นอยู่กับแรงผลักดันของประชาชน ให้ผ่านระบอบประชาธิปไตย ผ่านตัวแทนประชาชนเข้าไปถกเถียงกันในรัฐสภาและออกมาเป็นกฎหมายข้อบังคับ

แต่ถ้าเป็นการเมืองแบบทางลัดก็อาจจะมุ่งตรงไปเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลให้ผู้บริหารสั่งการหรือแก้ไข ถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็อาจจะให้นายกฯ เสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 บังคับแก้ไข

ทั้งคนที่เสนอและคนที่แก้ไขล้วนแต่เล่นการเมืองทั้งสิ้นที่ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นไปตามปกติของระบอบประชาธิปไตย

แต่ถ้าเป็นระบบเผด็จการ ก็จะบังคับ ปิดปากประชาชน ไม่ให้แสดงความคิดเห็น

 

ถ้าประชาชนไม่กลัวรัฐบาล
อะไรจะเกิดขึ้น

โทมัส เจฟเฟอร์สัน บอกว่า ถ้าที่ใดประชาชนกลัวรัฐบาล ที่นั่นอยู่ในระบบของทรราช และถ้าที่ใดรัฐบาลกลัวประชาชน แสดงว่าที่นั่นเป็นระบบเสรีประชาธิปไตย

บ้านเมืองเราวันนี้มาถึงจุดที่จะต้องมีการปฏิรูป เพราะถ้าไม่ปฏิรูปก็จะเกิดการปฏิวัติ

ความขัดแย้งได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึงขณะนี้ก็เกิน 10 ปีแล้ว

การเรียกร้องการปฏิรูปเป็นการเรียกร้องแต่ปาก ในความเป็นจริงยังไม่มีด้านใดที่ปฏิรูปขึ้นมาเลย

ความเจริญก้าวหน้าในยุคนี้ มิได้เกิดจากนโยบายรัฐ

แต่เป็นการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ เป็นการผลักดันของระบบทุน การแสวงหากำไรทางการค้าและการพัฒนาทางเทคโนโลยีของต่างชาติ

เราจึงมีโทรศัพท์มือถือใช้ ระบบราชการที่สะดวกสบายขึ้นก็ได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารที่พัฒนา

สิ่งที่รัฐบาลและชนชั้นนำของเราทำตามก็คือไล่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ความสามารถของเราคือ ซื้อของใหม่มาใช้ให้ทัน ใช้ให้เป็น

แต่สิ่งที่ควรพัฒนาได้ แต่ไม่ทำก็คือ ระบบยุติธรรมทั้งกระบวนการ ระบบการปกครองที่ควรจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง การปฏิรูปการศึกษาที่จะต้องให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของไทยอาเซียนและโลก ซึ่งต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบสมัยใหม่

10 ปีแล้วที่มองไม่เห็นการพัฒนา ทำได้เพียงด่าคนอื่น แต่ทำโครงการเลียนแบบ แล้วเปลี่ยนชื่อ อยู่กินเงินเดือนจากภาษีอากรกันไปวันๆ ประชาชนจึงไม่มีความหวัง เครียด และอยากเปลี่ยนแปลง และจะเริ่มเคลื่อนไหว ซึ่งสุดท้ายก็ห้ามไม่ได้

 

จะมีการเลือกตั้งหรือไม่
แล้วแต่แรงกดดัน

การวิเคราะห์การเมืองระยะสั้นขณะนี้ มีสองทิศทาง พวกหนึ่งบอกว่า กลุ่มที่คุมอำนาจยอมแล้วแต่ยังไม่พร้อม จึงพยายามเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก 5-6 เดือน

อีกพวกหนึ่งมองว่า การขึ้นสู่นายกฯ คนนอกไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะประชาชนยังเลือกพรรคเดิมอยู่ ถ้าแพ้การเลือกตั้งแบบย่อยยับ แสดงว่าคนไม่ยอมรับ ปชป. อาจได้ประโยชน์มากกว่า

การปกครองระหว่างดำเนินการเลือกตั้ง กับหลังเลือกตั้ง ต้องคลายแรงกดดันทางเสรีภาพ อาจถูกรุกเข้าใส่จุดอ่อนจนล้มได้ ดังนั้น ต้องยืดไปให้นานที่สุด จอมพลถนอมทำได้ถึง 6 ปี ถึงเกิด 14 ตุลาคม 2516

แต่นักวิเคราะห์ทั้งสองพวกเห็นตรงกันว่า ยิ่งลากยาวออกไปวิกฤตการเมืองยิ่งแรง

วันนี้ทุกกลุ่มมองว่าการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก มีลักษณะออกมาเพื่อสืบทอดอำนาจอย่างเด่นชัด

มีการใช้เทคนิคความขัดแย้งเพื่อเลื่อนเวลาเลือกตั้งออกไป

โรดแม็ปในโลกนี้เขากำหนดเป้าหมายวันเวลาแน่นอน ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อยๆ

ความไม่พอใจทางการเมืองก็จะเกิดขึ้น อุณหภูมิการเมืองจะสูงตามเวลาที่ทอดนานออกไป

ถ้าแน่จริงเลื่อนไปปี 2563 เลยก็ได้ แต่เชื่อว่าแรงกดดันที่ตามมาจะเป็นตัวชี้ขาด

 

ปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตการเมือง

1.ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นตัวจุดชนวนระเบิดเพราะอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ที่ยืนยงอยู่ได้มาจากสองเรื่องคือ เพื่อระงับความขัดแย้งและปราบการทุจริต ดังนั้น ถ้ามีคนทำทุจริตเสียเอง ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนจะหมดไปทันที

และประชาชนก็จับตาทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องนาฬิกา ว่าจะจบอย่างไร

เรื่องเงินยืม 300 ล้าน บอกว่าคืนแล้วของอดีต ผบ.ตร. มาเปรียบเทียบกับข้อกล่าวหาว่าฟอกเงินของลูกชายนายกฯ ทักษิณ เพราะรับเช็ค 10 ล้านมาลงทุน และคืนแล้วเหมือนกัน

ต้องดูว่าจะหาทางออกแบบไหน ยังมีอีกหลายเรื่อง

2. แรงกดดันด้านสิทธิเสรีภาพ ถ้าจับทุกคนที่แสดงความคิดเห็นต่างกับรัฐบาล เท่ากับเร่งความขัดแย้ง นี่อาจเป็นจุดปะทะที่ทำให้เกิดการปะทุ

3. ปัญหาทางเศรษฐกิจ เมื่อการทำมาหากินของชาวบ้านยากลำบาก สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง สินค้าเกษตรราคาตก ชาวบ้านจะไม่มีเงินซึ่งขณะนี้กำลังเกิดและจะขยายต่อไปเรื่อยๆ ประชาชนก็จะเริ่มเรียกร้องตามความต้องการของแต่ละกลุ่ม

การสั่งห้ามไม่ให้ออกมาเรียกร้องจะทำได้เพียงแค่ระยะเดียว

จากนั้นก็จะต้านไม่ได้ แต่การแก้ไขเป็นเรื่องที่ยากมาก คาดว่าด้วยความสามารถของรัฐบาลชุดนี้ ไม่สามารถต้านรับภาวะเศรษฐกิจของโลกจะเป็นแรงกดดัน ไม่มีทางจะแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ เมื่อคนยากลำบากก็จะโทษไปที่รัฐบาลว่าบริหารจัดการไม่ดีและสะสมความไม่พอใจมากขึ้น

4. แรงบีบจากต่างประเทศ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจจะยังคงกดดันต่อไป สิ่งที่เราคิดว่าดีแบบของเรา อาจกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ หรือน่าขบขันในทางสากล

สุดท้ายถ้ามีกรณีเหตุการณ์ที่เป็นตัวจุดชนวนจากปัจจัยต่างๆ ก็จะมีการปลุกคนชั้นกลางมาต่อต้าน ย้อนดูม็อบทุกสี ตั้งแต่ปี 2551…2553…2556-2557 จะเห็นตัวชี้วัดกำลังพายุของคนที่ตื่นตัวทางการเมือง ขนาดรัฐบาลที่มีฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชนยังโดนกระหน่ำได้ รัฐบาลที่มาจากฐานการรัฐประหารโอกาสที่จะยืนต้านกระแสพายุการเมืองที่ผันผวนทั้งลมล่าง ลมบน นับว่ายากมากๆ ยังมีหลายกลุ่มที่รอคอยการช่วงชิงอำนาจอยู่

เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การเลือกตั้งก็จะยังเป็นโรดแม็ปไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นแผนทำถนนจริงคงต้องยืดยาว ผ่านจังหวัดเชียงราย ผ่านพม่า ลาว เข้าจีน มุ่งไปยังเทือกเขาอัลไต และถ้าการต่อต้านกลายเป็นหน้าที่… ภาพพฤษภาทมิฬจะปรากฏอีกครั้ง ถ้าปรับตัวไม่ทัน