โลกจะเป็นเช่นไร ถ้าทรัมป์ทิ้งนาโต? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

โลกจะเป็นเช่นไร

ถ้าทรัมป์ทิ้งนาโต?

 

ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นได้ในยุคของทรัมป์

ผมจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับระเบียบโลกหากเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้ :

1. สหรัฐทิ้งนาโต ทรัมป์หันไปจูบปากรัสเซีย

2. ยุโรปจัดตั้งพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศของตนเอง จากที่เรียกว่า NATO (North Atlantic Treaty Organization) มาเป็น ETO (Europea Treaty Organization)

แรกเริ่มคนส่วนใหญ่จะบอกว่าโลกจะกลับตาลปัตรได้ขนาดนี้เลยหรือ?

ผมแย้งว่ามาถึงวันนี้ต้องใช้หลักคิดใหม่ นั่นคือ “คาดในสิ่งที่คาดไม่ถึง” และ “คิดในสิ่งที่ไม่เคยกล้าจะคิด”

หรือ Expect the Unexpected

กับ Think the Unthinkable

สิ่งที่เห็นได้ทันทีหากสหรัฐฉีกตัวออกจากนาโตและหันไปยืนเคียงข้าง (หรืออย่างน้อยไม่ต่อต้าน) รัสเซียคือการล่มสลายของกรอบความมั่นคงของชาติตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นาโตที่ไร้กำลังทหารของสหรัฐ (ประมาณ 70% ของการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ) จะสลายตัวหรือไม่ก็หดตัวอย่างแรง

กลายเป็นกลไกไร้น้ำยาที่มอสโกไม่จำเป็นต้องเกรงขามอีกต่อไป

และภาพที่น่าตื่นตะลึงอีกด้านคือแนวร่วมสหรัฐกับรัสเซียที่อาจจะพุ่งเป้าไปที่การถ่วงดุลอิทธิพลที่สยายปีกอย่างต่อเนื่องของจีน

เป็นไปได้ไหมว่าทั้งทรัมป์และรัสเซียอาจจะมีความระแวดระวังการเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนถึงขั้นจับมือกับขวางทางปักกิ่ง

อย่างที่เคยเกิดมาแล้วเมื่ออดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐบินไปเยือนประธานเหมา เจ๋อตุง ของจีนเมื่อปี 1972 เพื่อแยกจีนออกจากสหภาพโซเวียต

เพียงแต่ครั้งนี้ทรัมป์กล่อมให้ปูตินถอยห่างจากสี จิ้นผิง

(นักวิเคราะห์บางคนอาจบอกว่าฝันกลางวันซึ่งก็ควรจะรับฟังเช่นกัน)

คิดให้ไกลไปอีกก็อาจจะมองเห็นการผ่อนปรนความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันและมอสโกอาจทำให้ตลาดพลังงานมีเสถียรภาพ (ความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซ) และลดความขัดแย้งในยูเครนหรือซีเรีย

ข่าวบางกระแสบอกว่าทรัมป์ได้ขอให้ปูตินช่วยกล่อมให้ผู้นำสูงสุดของอิหร่านยอมเจรจาลดการวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แล้ว

แต่สำหรับเอเชียแล้วความปั่นป่วนจะเกิดขึ้นทันที

เพราะผู้คนจะเลิกเชื่อมั่นในสหรัฐ และความไว้วางใจในคำมั่นสัญญาของสหรัฐอาจร่วงหล่นในระดับโลก

พันธมิตรเช่น AUKUS (ออสเตรเลีย, อังกฤษ และสหรัฐ) หรือความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) อาจสั่นคลอนได้เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของอเมริกา

อาเซียนเองก็จะเริ่มหวั่นไหวอย่างรุนแรง

ถ้าไม่อาจเชื่ออเมริกาแล้ว อาเซียนจะต้องขยับไปใกล้จีนมากขึ้นไหมหรือ?

ตัดภาพไปที่ยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะโปแลนด์และประเทศกลุ่มบอลติกจะตื่นตระหนกเมื่อเผชิญกับรัสเซียที่ฟื้นคืนชีพ

ด้านหนึ่งต้องสูญเสียการคุ้มครองของ “ร่มนิวเคลียร์” ของสหรัฐ และอีกด้านหนึ่งต้องพร้อมทำสงครามกับรัสเซีย

และนั่นอาจจะนำไปสู่การเร่งสร้างสมแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหญ่อีกครั้ง

(ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ทำท่าว่าอาจจะต้องเตรียมการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองหากสหรัฐถอนตัวออกจากเอเชีย และตนต้องเผชิญกับจีนและรัสเซียที่ไม่แน่ว่าจะวางตัวเป็นมิตรหรือศัตรูกันแน่)

ลองจินตนาการภาพโปแลนด์หรือเยอรมนีที่เล็งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองเหมือนกัน

คิดแค่นี้ก็หนาวกันทั่วแล้ว

ในระดับโลก “ระเบียบโลกที่ยึดกติกา” (Rule-based World Order) ซึ่งเดิมก็สั่นคลอนอยู่แล้วจะได้รับแรงกระแทกรุนแรงแค่ไหน

เพราะหากเกิดสุญญากาศทางอำนาจในโลก ประเทศที่อยู่ในขบวนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาตลอด เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ หรือแม้แต่ตุรกีจะต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเพียงใด

ขณะเดียวกัน ยุโรปก็จะต้องจัดตั้งพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศของตนเอง

 

หากยุโรปก้าวขึ้นมาแทนที่นาโตด้วยข้อตกลงของตนเอง ซึ่งเรียกว่าสหภาพการป้องกันประเทศยุโรป (ถ้าไม่เรียก ETO ก็เรียกใช้ชื่อ European Defense Union : EDU)

นั่นคือการปรับเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

แต่ก็ใช่จะราบรื่นนัก

สหภาพยุโรปมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจระดับหนึ่ง (GDP ประมาณ 18 ล้านล้านดอลลาร์) แต่ขาดเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นด้านการทหาร

ฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนี ทำท่าจะเป็นแกนนำ โดยคลังอาวุธนิวเคลียร์และประสบการณ์ของฝรั่งเศสทำให้ประธานาธิบดี เอ็มมานูแอล มาครง ได้ประกาศว่าจะเสนอให้ใช้ “ร่มนิวเคลียร์” ของฝรั่งเศสคุ้มกันยุโรป

ในระดับโลก EDU อาจผูกมิตรกับอินเดียหรือญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านกลุ่มสหรัฐ-รัสเซียและสกัดความทะเยอทะยานของจีน

ในฉากทัศน์ดังว่านี้ภาพที่เห็นคือสหรัฐอเมริกาจะหมดสภาพในฐานะมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลก

และอาจจะเกิดความยุ่งเหยิงของโลกสามขั้ว : แกนสหรัฐอเมริกา-รัสเซีย (เน้นทรัพยากร เน้นอำนาจนิยม) กลุ่มประเทศยุโรป (มีศักยภาพทางเศรษฐกิจแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้านการทหาร) และจีน (ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรม เข้าถึงทั่วโลก)

ตะวันออกกลางกลายเป็นภูมิภาคที่ทุกคนสามารถแข่งขันได้-อิสราเอลอาจเอนเอียงไปทางยุโรป

ซาอุดีอาระเบียอาจเอนเอียงไปทางจีน แอฟริกา และละตินอเมริกาจะเป็นที่ปรารถนาของทั้งสามขั้วอำนาจ และสงครามตัวแทนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะกลายเป็นมรดกล้าสมัย

สิทธิ์ยับยั้งจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน (หากยังขัดแย้งกันอยู่) ทำให้คณะมนตรีฯ สหประชาชาติเป็นอัมพาต

กฎหมายระหว่างประเทศเสื่อมถอยลงเมื่อ “อำนาจดิบ” จะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขกติกาโลก

 

ที่จะกลายเป็นคำถามใหญ่ต่อไปคือโลกจะทำอย่างไรกับปัญหาโลกร้อนหรือ Climate Change?

ตอบได้ว่าจะพังพินาศ

เพราะหากระเบียบโลกตีลังกาเช่นนี้สิ่งที่เรียกว่า “ความร่วมมือระดับโลก” ก็จะกลายเป็นเรื่องของ “ตัวใครตัวมัน”

วิธีของทรัมป์ถูกเรียกขานว่า transactionalism หรือทุกอย่างกลายเป็นเรื่อง “ธุรกรรม”

นั่นหมายถึงการที่ทุกประเทศยึดนโยบาย “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

กลายเป็นสังคมโลกที่การทำทุกอย่างเพื่อเอาประโยชน์ใส่ตัว

คำว่า อุดมคติ จริยธรรม นิติรัฐ ธรรมาภิบาลจะกลายเป็นเพียงวาทะสวยหรูที่เป็นแค่เครื่องประดับวาทกรรมเท่านั้น

ความเห็นแก่ได้เช่นว่านี้จะปรากฏโฉมในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี (ปัญญาประดิษฐ์และอวกาศ) ที่ร้อนแรงขึ้น

แต่จะถูกปิดกั้นโดยกลุ่มประเทศที่ตักตวงประโยชน์เข้าหาตนเท่านั้น

แนวคิดที่จะ “ทำเพื่อมนุษยชาติ” จะกลายเป็นความเพ้อฝันลมๆ แล้ง

แต่มองอีกแง่หนึ่ง แนวโน้มเช่นนี้อาจกดดันบังคับให้ประเทศเล็กๆ รวมตัวกันเหนียวแน่นขึ้นเพื่อความอยู่รอดร่วมกันในอนุภูมิภาค

เช่น อาเซียนที่ใกล้ตัวเราที่สุด

หรือสหภาพแอฟริกาที่อาจจะต้องแสวงหาสูตรความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดมากขึ้นแทนที่จะหวังพึ่งพามหาอำนาจมาโอบอุ้มแบบเดิม

ประเทศใหญ่ ในภูมิภาค เช่น บราซิลหรืออินโดนีเซีย อาจก้าวขึ้นมาสร้างอำนาจบารมีให้กับตนเองและใช้ประโยชน์จากความโกลาหลวุ่นวายของโลก

 

ถึงจุดนั้น เราไม่อาจจะเรียกขานมันว่าเป็น “ระเบียบโลก” อีกต่อไป

หากแต่เป็น “โลกไร้ระเบียบ” ที่กลุ่มอำนาจสลับกันต่อรองไปมาแล้วแต่ผลประโยชน์ที่ตนพึงจะได้

โดยไร้กรรมการกลาง และกลับสู่ระเบียบโลกยุคหินที่ “อำนาจคือความถูกต้อง” (Might is Right)

แต่ก่อนที่จะตกอกตกใจไปกว่านี้ ขอบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดเดาส่วนตัวของผมที่เกิดอาการนอนไม่หลับเพราะภาวะโลกที่สับสนอลหม่านกินกว่าจะเข้าใจได้ทุกวันนี้

ถือเสียว่าผมบ่นของผมไปด้วยความว้าเหว่วังเวง อันเกิดจากความไร้ทิศทางของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

ประกอบกับความผันผวนแปรปรวนระดับโลกที่ทำให้กังวลกับอนาคตของประเทศไทยเองอย่างยิ่ง!