งบฯ ที่ต้อง ‘แบก’ สำหรับ ขรก.เกษียณ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

งบฯ ที่ต้อง ‘แบก’

สำหรับ ขรก.เกษียณ

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บังเอิญให้ผมไปนั่งอยู่ในวงสนทนาของเพื่อนฝูงวงหนึ่ง ซึ่งกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องภาระงบประมาณของประเทศไทย ว่าแต่ละปีมีวงเงินเพิ่มสูงขึ้น และไม่มีแนวโน้มจะลดลงได้เลย

ขณะที่เศรษฐกิจบ้านเราเป็นอย่างที่เราก็รู้กันอยู่แล้ว จะหวังให้กระทรวงการคลังสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำนั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นฝันกลางคืนฤดูร้อนแท้ๆ คือไม่มีทางจะเป็นไปได้อยู่แล้ว

ในฐานะคนแก่เต็มขั้นคนหนึ่งของประเทศไทย ตัวเลขที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ ค่าใช้จ่ายในเรื่องบุคลากรซึ่งหมายความรวมทั้งเงินเดือน และสวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆ ของคนที่ทำงานอยู่ในภาครัฐ รวมตลอดทั้งคนที่ “เคยทำงานอยู่ในภาครัฐ” แต่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว กล่าวให้เข้าใจง่ายก็เกษียณอายุแบบผมนี่แหละ

น่าตื่นเต้นและน่าตกใจไปพร้อมๆ กัน ที่ได้รับรู้ว่า จำนวนเงินรวมที่ต้องตั้งงบประมาณสำหรับจ่ายให้กับคนที่เกษียณอายุ เมื่อเปรียบกันกับจำนวนเงินรวมที่ต้องตั้งงบประมาณสำหรับจ่ายให้คนที่ยังอยู่ในราชการ มีตัวเลขใกล้เคียงกันอย่างมหัศจรรย์

ยังดีนะครับที่ตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมของคนที่เกษียณอายุแล้วยังน้อยค่าใช้จ่ายรวมของคนที่ยังทำงานอยู่นิดหนึ่ง

แต่ตัวเลขจะเป็นอย่างนี้ไปได้อีกกี่ปีไม่มีใครสามารถรับประกันได้ เพราะเห็นแนวโน้มอยู่แล้วว่า เงินที่ต้องจ่ายให้คนเกษียณอายุกำลังไล่หลังเงินที่ต้องจ่ายให้คนที่ยังอยู่ในราชการแบบหายใจรดต้นคอกันมาเลยทีเดียว

ถามว่าตัวเลขทำไมถึงเป็นเช่นนี้ขึ้นมาได้ ก็ต้องตอบว่า เพราะอายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ข้าราชการหรือคนที่เคยทำงานภาครัฐแล้วเกษียณอายุไปอยู่บ้านเฉยๆ มีปริมาณมากขึ้นทุกปี และด้วยการดูแลสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ประกอบกับความรู้ทางการแพทย์มีความก้าวหน้า คนจำนวนนี้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้โดยไม่ยากนัก รายจ่ายไม่เพิ่มขึ้นตอนนี้แล้วจะไปเพิ่มขึ้นตอนไหนเล่า

ลองสมมุติกรณีศึกษาดูสักตัวอย่างหนึ่งก็ได้

ข้าราชการคนหนึ่งเพิ่งเกษียณอายุเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้บำนาญเดือนละ 40,000 บาท หมายความว่าปีหนึ่งเราต้องจ่ายเงินให้ข้าราชการบำนาญรายนี้ 480,000 บาท ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ว่า 500,000 บาทก็แล้วกัน

จากการอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ ทำให้ผมรับรู้ว่า มีความเป็นไปได้มากที่ข้าราชการรายนี้จะมีอายุยืนยาวจนถึง 90 ปี ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินให้ข้าราชการท่านนี้ภายหลังเกษียณอายุแล้ว เฉพาะที่เป็นเงินบำนาญ 15 ล้านบาท

สมมุติต่อไปว่า ข้าราชการรายดังกล่าวซึ่งอายุเพิ่งจะ 60 ปีเมื่อกี้นี้เอง มีคุณพ่อและคุณแม่อยู่ในวัยชราอายุเท่ากัน คือ 85 ปี และสมมุติต่อไปว่า ทั้งสองท่านเป็นโรคร้ายแรงคนละอย่างสองอย่าง แต่ด้วยการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน จะทำให้ทั้งสองท่านอายุยืนไปจนถึง 90 ปีจึงถึงแก่กรรม ทำให้ในแต่ละปี ทางราชการต้องจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้คุณพ่อคุณแม่ของข้าราชการเกษียณท่านนี้ อีกปีละ 200,000 บาท

ระยะเวลาห้าปีคูณ 200,000 บาทก็ได้ตัวเลขอีกหนึ่งล้านบาท ที่เราต้องจ่ายเพื่อค่าสวัสดิการส่วนนี้

พอคุณพ่อคุณแม่ตายปุ๊บ คุณลูกก็อายุ 65 ปีพอดี คราวนี้ต้องขยันไปหาหมอเพื่อรักษาโรคของตัวเองบ้างแล้ว และระยะเวลาจากนี้ก็ยังยาวนานอีก 25 ปี กว่าจะตายตอนอายุ 90 ปี สมมุติตามตัวเลขเดิมก็ได้ครับ ว่าเราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นสวัสดิการสำหรับข้าราชการท่านนี้อีกโดยเฉลี่ยปีละ 100,000 บาท อย่าลืมนะครับว่าตามแผนของเรา คุณคนนี้ต้องตายตอนอายุ 90 ปี แปลว่าจะต้องรักษาดูแลกันไปอีก 25 ปี

เป็นเงินค่าสวัสดิการในส่วนนี้อีก 2,500,000 บาท

รวมตัวเลขทั้งหมด 15,000,000 + 1,000,000 + 2,500,000 เท่ากับว่า เฉพาะแต่เงินบำนาญบวกเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการหนึ่งราย พ่วงด้วยคุณพ่อและคุณแม่

ตามสมมุติฐานข้างต้น เราจะต้องจ่ายเงินรวมทั้งสิ้น 18,500,000 บาท กว่าจะจบเรื่องจบราว โดยทยอยจ่ายเรื่อยไปมีกำหนดอีก 30 ปีข้างหน้า

 

ถ้ากรณีสมมุติของเรา เกิดขึ้นจริงกับจำนวนข้าราชการเพียงไม่กี่คน ผมก็ไม่ต้องตกใจหรือคิดอะไรมาก เพราะพอจะมีเงินงบประมาณรับมือกันได้

แต่ในความเป็นจริง เรามีข้าราชการบำนาญแบบนี้อยู่กี่แสนกี่ล้านคน อย่าพูดให้ขวัญผวากันเลย

คนที่นั่งเขียนหนังสืออยู่ตรงนี้และในขณะนี้ก็เป็นคนหนึ่งในกรณีสมมุติที่ว่ามาข้างต้น และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา 10 ปีหลังการเกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ผมขอกระซิบว่าตัวเลขที่สมมุติมาข้างต้น ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากครับ

แน่นอนว่าในมุมหนึ่ง เราอาจมองแบบตื้นเขินว่า ประเทศไทยต้องจ่ายเงินมากเหลือเกิน และอาจจะมากเกินไปเสียด้วยซ้ำสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานแล้วจำนวนนี้ ถ้าสามารถไปปรับลดหรือตัดทอนตรงไหนได้ก็น่าจะได้คิดอ่านกันอย่างจริงจังเสียที ประเทศจะได้ไม่ต้องไปกู้เงินใครมาใช้อย่างทุกวันนี้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีผู้เตือนสติเรากันเองว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาขณะที่ข้าราชการรายนี้อยู่ในราชการ เงินเดือนที่หลวงจ่ายให้ไม่ได้มากมายอะไร โดยเฉพาะยิ่งถ้าเปรียบว่า เขาออกไปทำงานอยู่ในภาคเอกชน เงินเดือนเงินดาวเขาน่าจะได้มากกว่านี้อีกเยอะ

แต่นี่เขาอุตส่าห์อดทนรับเงินเดือนน้อยกว่าที่ควรจะได้มาตลอดชีวิตราชการ ก็ด้วยความหวังว่า เมื่อเกษียณอายุแล้วจะได้บำนาญและมีระบบคอยดูแลค่าใช้จ่ายเมื่อป่วยไข้

ถ้าจะขี้เหนียวเงินที่ต้องจ่ายเป็นบำนาญและค่าเลี้ยงดูรักษาพยาบาลในภายหลังแล้ว เก่งจริงก็ต้องจ่ายเงินเดือนในเวลาที่เขายังทำงานอยู่ให้มากกว่านี้ และพูดกันให้เป็นมั่นเหมาะว่า เขาจะต้องดูแลตัวเองเมื่อจบหน้าที่การงานแล้ว

จะเป็นด้วยการไปซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือการใช้ระบบเงินออมต่างๆ แล้วแต่จะตัดสินใจเลือกทางเลือกเหล่านั้นตลอดเวลาที่ทำงานเข้มแข็งอยู่

เพื่อที่ว่าเมื่อถึงวัยไม่ทำงานแล้ว จะได้สามารถอาศัยระบบประกันหรือระบบเงินออมเหล่านั้นประคับประคองชีวิตให้ยืนยาวต่อไปได้จนถึงวันสุดท้ายที่มีลมหายใจ

 

ที่ผมพร่ำเพ้อตัวเลขและสมมุติฐานต่างๆ มาข้างต้น ไม่ได้แปลว่าผมมีคำตอบว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป จะทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้และรอให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายบุคลากรสำหรับคนเกษียณอายุราชการท่วมตัวเลขค่าใช้จ่ายบุคลากรสำหรับคนที่ยังทำงานอยู่ หรือจะมีวิธีแก้ไข ปรับระบบเป็นอย่างไร

ผมไม่สามารถชี้ขาดได้หรอกครับ

เมื่อคุยเรื่องนี้กับเพื่อนฝูงบางคน หลายคนมีข้อเสนอว่า สำหรับคนที่เกษียณอายุแล้ว รวมถึงคนที่ยังอยู่ในราชการปัจจุบันซึ่งจะทยอยเกษียณอายุต่อไปในวันข้างหน้า เราคงไม่สามารถไปยกเลิกหรือปรับลดระบบการจ่ายบำนาญและสวัสดิการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาไว้แล้วตั้งแต่เขาเริ่มรับราชการว่าเราจะดูแลเขาเช่นนี้

แต่ถ้าเรากล้าตัดสินใจ เราอาจจะประกาศกติกาการดูแลสวัสดิการและเงินทองสำหรับข้าราชการที่เข้าทำงานใหม่ โดยเปลี่ยนระบบคิดไปเป็นอย่างอื่น

เช่น คนที่เริ่มรับราชการตั้งแต่ ปี 2570 เป็นต้นไป จะได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการแบบเดิม แต่เข้าใจตรงกันนะ ว่าตอนจบชีวิตการทำงานคือเกษียณอายุแล้ว จะไม่มีบำนาญอีกต่อไป

อาจจะมีบำเหน็จเงินก้อนจ่ายให้งวดเดียวแล้วจบ หรือจะมีเงื่อนไขข้อแม้อะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องเป็นกติกาที่ประกาศให้ชัดเจน และผู้เข้าเป็นข้าราชการใหม่ก็เข้าใจดีแล้วว่าสิทธิประโยชน์ของตนเป็นเช่นไร

แต่พร้อมกันนั้นในวงสนทนาวงเดียวกัน ก็มีเพื่อนอีกบางคนบอกว่าถ้าทำอย่างนี้แล้ว มีความเป็นไปได้มากที่คนจะหนีจากราชการไปอยู่ภาคเอกชนหมด เพราะถึงอย่างไรเสียภาครัฐก็ไม่สามารถจ่ายอัตราที่จูงใจคนเข้าทำงานในระดับที่สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้อยู่ดี

 

พูดถึงตรงนี้ก็มีอีกคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นว่า ถ้าจะจ่ายเงินเดือนให้มากขึ้น เราก็ต้องรู้จักปรับลดจำนวนคนทำงานในระบบราชการลงไปพร้อมกันด้วย ไม่ใช่จ้างมานั่งตบยุงหรือไปเล่นกอล์ฟวันพุธอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ยังไม่ทันได้ข้อสรุปว่าอะไร เพื่อนอีกคนหนึ่งก็เสนอความเห็นว่า ให้คงระบบบำนาญและระบบสวัสดิการไว้อย่างนี้แหละ แต่ไปดูแลในรายละเอียดให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หยูกยาที่ให้นำกลับไปกินที่บ้านก็จ่ายแต่เพียงปริมาณที่สมควร อย่าให้เอาไปทิ้งขว้าง หรือที่ร้ายอาจยิ่งกว่านั้น คือเอาไปขายต่อ เป็นการค้าแบบไม่ต้องลงทุนก็เห็นว่ามีอยู่เหมือนกัน

ทันใดนั้นเพื่อนอีกคน แต่เป็นคนที่เท่าไหร่แล้วก็จะจำไม่ได้ ออกความเห็นเสียงดังว่า ไม่ต้องไปทำอะไรมากนักหรอก ขอให้รัฐบาลหรือภาครัฐขยันทำมาหากิน ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ การค้าขายเจริญรุ่งเรือง เราก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น และมีเงินเพียงพอที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายสารพัดอย่างที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ในเวลานี้

ไม่น่าเชื่อว่าเพื่อนสี่ห้าคนนี้สามารถร่วมวงสนทนากันได้โดยไม่ฆ่ากันตายไปเสียก่อน

 

นี่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างเรื่องเดียวนะครับ ว่าปัญหาของบ้านเมืองหนึ่งเรื่องนั้น ความซับซ้อนและทุกเรื่องไม่ใช่ปัญหาเชิงเดียว หากแต่มีประเด็นที่ต้องคิดให้รอบคอบอีกมาก

โชคดีเหลือเกินที่ผมและเพื่อนไม่ต้องตัดสินใจไปในทางหนึ่งทางใด ออกความเห็นเสร็จเรียบร้อย ก็เรียกเจ้าของร้านมาคิดสตางค์ค่าอาหาร แล้วช่วยกันออกเงินแบบอเมริกันแชร์ โดยใช้เงินบำนาญที่ได้รับมาเมื่อวานนี้จ่ายไปตามหน้าที่

จ่ายเสร็จก็รีบกลับบ้านนอน เพราะพรุ่งนี้เช้าต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลตามนัด

เป็นข้าราชการเกษียณที่ดี ต้องขยันใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล จริงไหมครับ

เอ๊ะ! หรือไม่จริง