ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
ความรู้เชิงเทคนิค-วิทยาศาสตร์กับการเมืองการบริหาร
ผมจำได้ว่ากึ่งศตวรรษก่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นสู้เผด็จการทหาร 14 ตุลาคม 2516 และการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนกับรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นั้น ประเทศไทยยังไม่มีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลย กว่าจะมีพระราชบัญญัติก่อตั้งเป็นทางการก็ในปี 2022 (https://th.wikipedia.org/wiki/กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี_(ประเทศไทย)
มองใกล้ตัวเข้ามา เมื่อราวสิบปีก่อนสมัยผมเริ่มเปิดคอลัมน์การเมืองวัฒนธรรมในมติชนสุดสัปดาห์ ปีเดียวกับที่ คสช.ก่อรัฐประหารยึดอำนาจนั้น ก็ยังไม่ปรากฏคอลัมน์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากและหลากหลายในมติชนสุดสัปดาห์เหมือนทุกวันนี้
อย่าง Multiverse ของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ @สวทช.เอย, ทะลุกรอบของ ดร.ป๋วย อุ่นใจ @ม.มหิดลเอย, Biology Beyond Nature ของ ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร @ม.นเรศวรเอย, มิพักต้องเอ่ยถึงคอลัมน์ความรู้เฉพาะทางอย่าง สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย & สิ่งแวดล้อมของคุณทวีศักดิ์ บุตรตัน
หรือการที่ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์สาธารณะ ที่ปรึกษาทางโซเชียลมีเดียของสื่อมวลชนนานาสำนักเวลาเกิดปัญหาข้องใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ทำนองเดียวกัน
เห็นได้ชัดว่านับวันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวพันแนบเนื่องกับการเมืองการบริหารสังคมประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองมหาศาลอย่างนึกคิดไปไม่ถึง ไม่ว่าภาวะโลกเดือด, ภูมิอากาศแปรปรวนสุดโต่ง, ฝุ่นพิษ PM 2.5, โรคระบาดทั่ว โควิด-19 และโรคอื่นก่อนหน้านั้น รวมทั้งที่ยังจะตามมา, พลานุภาพ ผลกระทบและข้อควรระวังเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฯลฯ ล้วนเรียกร้องต้องการให้ผู้บริหารและนักการเมืองมีความรู้ความเข้าใจเฉพาะทางกว้างขวางลึกซึ้งและเชื่อมโยงกันยิ่งขึ้นเพื่อสามารถวางแผนระวังป้องกัน รับมือ กำหนดนโยบายและตัดสินใจใช้มาตรการแก้ไขต่างๆ อย่างรอบคอบรัดกุมและได้ผลจริง
และในระบอบประชาธิปไตย ผู้บริหารและนักการเมืองเหล่านี้ก็มาจากการเลือกตั้งของพลเมืองเรา นั่นย่อมเรียกร้องต้องการให้พลเมืองพึงมีความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นไปด้วย เพื่อสามารถออกความคิดเห็นวิเคราะห์วิจารณ์และมีส่วนร่วมให้คำปรึกษาหารือในการวางแผน กำหนดนโยบายและตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและรัฐราชการอย่างรู้เท่าทัน
แค่คอหยักๆ สักแต่ว่าหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่านั้น ไม่เพียงพอแก่ระบอบประชาธิปไตยเสียแล้วในทุกวันนี้
จะว่าไปแนวโน้มความสัมพันธ์เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงมากขึ้นทุกทีระหว่างความรู้เชิงเทคนิค-วิทยาศาสตร์กับการเมืองการบริหารในโลกร่วมสมัยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีผู้ชี้ให้เห็นมานานพอควรแล้ว คนหนึ่งที่วิเคราะห์ให้เห็นอย่างเป็นระบบได้แก่ เออร์เนสต์ เกลล์เนอร์ (1925-1995) ศาสตราจารย์ปรัชญาทางสังคมวิทยาแห่ง London School of Economics (LSE)
เขามีชื่อเต็มว่า Ernest Andr? Gellner เป็นนักปรัชญาและนักมานุษยวิทยาสังคมชาวบริติชเชื้อสายเช็ก ได้ รับยกย่องจากสื่ออังกฤษว่าเป็น “ปัญญาชนผู้แข็งขันที่สุดของโลกคนหนึ่ง” และ “นักรบศักดิ์สิทธิ์ฉายเดี่ยวเพื่อลัทธิเหตุผลนิยมเชิงวิจารณ์”
หนังสือ Words and Things (1959) ของเขาสร้างกระแสฮือฮากว้างขวางค่าที่มันโจมตีปรัชญาภาษาซึ่งทรงอิทธิพลครอบงำในแวดวงวิชาการปรัชญาของอังกฤษตอนนั้นอย่างไม่ไว้หน้า
เขาสอนปรัชญาอยู่ที่ LSE ถึง 22 ปี ก่อนไปสอนมานุษยวิทยาสังคมอยู่ที่มหาวิทยาลัย Cambridge อีก 8 ปีและย้ายไปเป็นหัวหน้าศูนย์ศึกษาชาตินิยมตั้งใหม่ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็กในบั้นปลายชีวิต
จุดเด่นของเกลล์เนอร์อยู่ตรงที่เขาผนวกความรู้ความเข้าใจอารยธรรมสามกระแส (ตะวันตก, อิสลาม, รัสเซีย) เข้ากับชีวิตการสอนการเขียนงานวิชาการและกิจกรรมทางการเมืองเพื่อสู้รับระบบความคิดที่เขาเห็นว่าปิดตัวคับแคบ โดยเฉพาะลัทธิคอมมิวนิสต์ จิตวิเคราะห์ ลัทธิสัมพัทธนิยม รวมทั้งเผด็จการตลาดเสรี เขายังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักทฤษฎีชั้นนำเรื่องชาตินิยมด้วย
(ดูผลงานของเขาเรื่อง Nations and Nationalism, 1983)
เมื่อปี 1977 เกลล์เนอร์ได้ร่วมสนทนากับ Bryan Magee นักปรัชญา นักเขียน นักการเมืองและผู้ดำเนินรายการชาวบริติช (1930-2019) ในรายการสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาสมัยใหม่ทางโทรทัศน์ BBC ชุด Men of Ideas ตอน The Social Context of Philosophy (บริบททางสังคมของปรัชญา) ซึ่งทุกวันนี้ยังมีเผยแพร่ให้ชมได้ทาง YouTube (https://www.youtube.com/watch?v=2YA4mBe4Qrg)
ในการสนทนาครั้งนี้ เกลล์เนอร์ได้ชี้ให้เห็นกระแสการคลี่คลายขยายตัวที่ทอดทอยแนบเนื่องเชื่อมโยงเป็นระบบของแนวโน้มทางความรู้ที่เชื่อมโยงกับสังคมและการเมืองการบริหารว่า…
พร้อมกับความรู้ด้านต่างๆ ที่ก้าวหน้าลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปของคนเรา ต้นทุนที่เราต้องจ่ายไปคือการสูญเสีย มิติความเป็นมนุษย์ที่ตัดสินใจได้เองอย่างอัตวินิจฉัยไปตามลำดับ (Dehumanization as the price of the advance of knowledge) กล่าวคือ :
– ยิ่งมีความรู้ลุ่มลึกเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น (specialization of knowledge)
– โลก-ชีวิตยิ่งแตกแยกออกเป็นแผนกส่วนเสี้ยวต่างหากจากกันมากขึ้น (fragmentation or departmentalization of life-worlds)
– ทำให้ปัญหายิ่งกลายเป็นเรื่องเทคนิค (technicalization of problems)
– นับวันคนเราจึงยิ่งถูกกดดันให้โอนอำนาจอธิปไตยในการตัดสินใจไปให้ช่างเทคนิคมากขึ้น (technocracy)
– ในทางกลับกัน คนเราจึงยิ่งไร้อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองและยิ่งสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปทุกที (disempowerment & dehumanization of the human subject)
– สรุปคือคนเรายิ่งรู้มาก ยิ่งไร้อำนาจ ยิ่งไม่เป็นมนุษย์นั่นเอง
เราประสบสัมผัสกระแสแนวโน้มนี้ได้ชัดเจนในชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องใหญ่ทางการเมืองการบริหาร ไม่ว่าในการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ยิ่งเรียนสูงยิ่งรู้ลึกยิ่งแยกย่อยละเอียดเฉพาะเรื่องเฉพาะทาง ยามไฟล์หรือโฟลเดอร์งานหาย/เปิดไม่ได้ คอมพิวเตอร์พัง ป่วยไข้ทางร่างกายและจิตใจ รถเสีย ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการต้องเลือกปรับแก้เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อการเผาไร่อ้อย เผาซังข้าวในนา การรับซื้ออ้อยขอโรงงานหีบอ้อยทำน้ำตาล การรับซื้อข้าวโพดนำเข้า เปิดรับ/ตรวจเข้มนักท่องเที่ยวขณะโรคระบาด เปิด/ปิดที่ทำงานสถานศึกษา ร้านรวงศูนย์การค้าและบันเทิงกีฬา ป้องกันการแพร่เชื้อ ทุ่มทุนซื้อ/ผลิตวัคซีน หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์มหาศาล แนวทางปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมหลักของชาติ เช่น รถยนต์, ปริมาณผลิตไฟฟ้าสำรอง กับการเปิดรับศูนย์ข้อมูล AI ฯลฯ
ท่ามกลางประเด็นปัญหาที่ต้องตัดสินใจเหล่านี้ ปฏิกิริยาตอบรับทางการเมืองการบริหารจึงสำคัญ เช่น
จะยอมรับการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจไปให้ช่างเทคนิคผู้มีความรู้เฉพาะทางอย่างเต็มที่จนกลายเป็นระบอบอำนาจอธิปไตยของช่างเทคนิค (technocracy)?
หรือจะดื้อรั้นถือว่า [หลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง = ทุกเสียงมีค่าเท่ากัน] ไม่มีเสียงใครมีน้ำหนักพึงรับฟังมากกว่าใครหน้าไหนทั้งนั้น และเสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ ประชาชนเอายังไงก็เอายังงั้น-จบ! ไม่ต้องมีกระบวนการสดับตรับฟังปรึกษาหารือประชาพิจารณ์หรือลูกขุนพลเมืองก่อนให้ยุ่งยากวุ่นวายใดๆ ตามแบบประชานิยมทางการเมือง (political populism) เหมือนทรัมป์?
จะจัดวางช่างเทคนิคกับความรู้ทางเทคนิค-วิทยาศาสตร์ และประชาชนพลเมืองผู้ออกเสียงเลือกตั้งกับคุณค่า ความต้องการ ผลประโยชน์และเจตจำนงของพวกเขาไว้ตรงไหน? ให้ทั้งสองฝ่ายสัมพันธ์กันอย่างไร?
คาถาสูตรสำเร็จบ้องตื้นตายตัวไม่เพียงพอที่จะใช้มาท่องตอบแล้วนะครับตอนนี้!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022