ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
ภาวะขาดแคลนสินค้าในไทย
ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
ข้าราชการมหาดไทยคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อสงครามยืดเยื้อยาวนาน “…อาหารการกินก็ขาดแคลน ต้องมีการปันส่วนตามคูปอง เสื้อผ้าข้าราชการก็เริ่มปุปะ เพราะสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ เครื่องแบบข้าราชการหันไปใช้ผ้าฝ้ายไทยทอด้วยมือเป็นส่วนมาก…” (จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, 2520, 12-13)
พลันที่สงครามมหาเอเชียบูรพาระเบิดขึ้นในปลายปี 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ที่ฮาวาย และการรุกคืบเข้าไปในอาณานิคมของอังกฤษในพม่า อินเดียและมลายู โดยเดินทัพผ่านดินแดนไทยประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่นานจากนั้น อังกฤษตอบโต้กลับด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในไทย
บรรยากาศในช่วงต้นสงครามนั้น จากความทรงจำของชาวพระนครบันทึกว่า หากใครเปิดวิทยุฟังข่าวจากกรมโฆษณาการ ในช่วงหัวค่ำมีรายการสำหรับคอการเมือง นั่นคือรายการ “สนทนานายมั่น รักชาติ และนายคง รักไทย” ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างรุนแรง (ลาวัลณ์, 2536)

สินค้าเริ่มขาดแคลน
นับแต่สงครามยังคงมีขอบเขตจำกัดอยู่ในทวีปยุโรปนั้น การนำเข้าสินค้าต่างประเทศของไทยยังไม่ถูกกระทบมากนัก เนื่องจากขณะนั้นไทยซื้อสินค้าจากเยอรมนี ต่อมาเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มปิดล้อมเส้นทางการเดินเรือทางทะเลของฝ่ายอักษะ ทำให้ไทยไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่ง ประกอบกับโรงงานอุตสาหกรรมในอังกฤษเริ่มปรับไปผลิตยุทโธปกรณ์แทน แต่ยังคงส่งสินค้ามายังดินแดนอาณานิคมในเอเชียนั้น ทำให้ไทยยังสามารถมีสินค้าสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมหมุนเวียนอย่างพอเพียง อีกทั้งไทยยังซื้อสินค้าจากสหรัฐและญี่ปุ่นได้อยู่ แต่การกักตุนสินค้าในไทยกำลังเริ่มต้นขึ้น
แต่พลันเมื่อสงครามในฝั่งเอเชียระเบิดขึ้นในปลายปี 2484 เส้นทางสินค้าจากฝั่งยุโรปและสหรัฐที่ขนส่งทางเรือเดินสมุทรถูกตัดขาดโดยทันที ในขณะที่การค้าไทยกับญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นกว้านซื้อข้าวจากไทยมหาศาลไปป้อนให้กองทัพของตน ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นในรูปเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากยาง รถยนต์ อะไหล่ยนต์ นมผง และนมข้น เป็นต้น (รอง ศยามานนท์, 2520, 194)
ดังนั้น ในช่วงสงคราม การค้าขายกับประเทศอื่นๆ ถูกตัดขาด การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตทางการเกษตร การส่งออกข้าวและการนำเข้าสินค้าบริโภคลดลงถึงร้อยละ 20 ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง (Panarat Anamwathana, 2024, 13)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสงครามนั้น สถานการณ์ขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยยังมีไม่มากนัก ด้วยยังมีสินค้าจําเป็นพอเหลืออยู่บ้าง แต่เมื่อสงครามยืดเยื้อยาวนานไปมากขึ้นๆ สินค้าที่เคยสั่งไว้ในโกดังเริ่มหมดลง ไทยเริ่มประสบกับปัญหาการครองชีพ
การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่กลางปี 2485 จวบจนหลังสงครามยุติลง รัฐบาลในครั้งนั้นพยายามแก้ไขด้วยการตั้งคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค และมีการประกาศรายการสินค้าควบคุม ซึ่งรวมเอาสินค้าที่หาซื้อได้ยากและมีราคาแพงเข้ามา อาทิ ยาและเวชภัณฑ์ ผ้า สบู่ ไม้ขีดไฟ เพื่อมิให้พ่อค้าขึ้นราคาสินค้า

สินค้าขาดแคลน
และเหล้าขึ้นราคา
ภาวะขาดแคลนสินค้าทำให้รัฐบาลจัดสรรสินค้าที่จำเป็นให้แก่คนไทยทั้งประเทศผ่านกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงนั้น ชาวกรุงเทพฯ ธนบุรีต่างต้องรับแจกคูปองหรือบัตรปันส่วนสินค้า สำหรับน้ำตาลทรายขาว ไม้ขีดไฟ และน้ำมันก๊าด เพื่อนำคูปองนั้นไปซื้อสินค้าในร้านค้าของรัฐบาลที่ประชาชนทุกคนต้องยืนเข้าแถวยาว และบางครั้งสินค้าไม่เพียงพอจำหน่าย เพราะราคาสินค้าในตลาดมืดมีราคาสูงกว่าหลายเท่าตัว ทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการจัดสรรและการควบคุมราคาสินค้าจึงไม่เป็นผลเท่าไรนัก (รอง ศยามานนท์, 2520, 194)
สำหรับราคาเหล้าในช่วงก่อนสงครามนั้น นพ.เสนอ อินทรสุขศรี บันทึกไว้ว่า ราคาเหล้าโรงขนาดก๊งเล็กนั้น ราคา 5 ส.ต. ก๊งใหญ่ 10 ส.ต. เหล้าขาว 28 ดีกรีนั้นขวดละ 28 ส.ต. เหล้าวิสกี้ยี่ห้อยอนเดวา หรือตราขาว ขวดละ 2 บาท ตราดำ ขวดละ 2.50 บาท เบียร์ตราสิงห์ ขวดละ 35 ส.ต.
เขาบันทึกต่ออีกว่า ในระหว่างสงคราม เหล้าขาดแคลนมากถึงขนาดมีการโจรกรรมแอลกอฮอล์เช็ดแผลทั้งขวดหายไปจากชั้นปฐมพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราชบ่อยครั้ง (เสนอ, 107-108)

ความทรงจำของชาวพระนคร
ชาวพระนครครั้งนั้น บันทึกภาวะเงินเฟ้อและยุคข้าวยากหมากแพงช่วงต้นสงครามว่า ในราวปลายปี 2485 เมื่อสังคมไทยผ่านพ้นน้ำท่วมพระนครมาแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ สินค้าเริ่มขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นตามลำดับ เช่น ราคากาแฟร้อนใส่นมตามร้านเจ๊กทั่วไป ช่วงก่อนน้ำท่วมมีราคาเพียงแก้วละ 5 ส.ต. หลังน้ำท่วมแล้วขึ้นเป็น 8 ส.ต,นั้นขยับเป็น 15 ส.ต. นมข้นหวานขาดตลาด มีแต่หางนม นมสดกระป๋องขาดตลาดเช่นกัน มีแต่นมแพะและนมวัวของแขกที่รีดสดๆ ขาย เสื้อผ้าเริ่มเก่า เปื่อยขาด (ลาวัลณ์, 2536)
ส่วนกาญจนี คำบุญรัตน์ บันทึกความทรงจำไว้ว่า เมื่อไทยอยู่ในภาวะสงคราม สังคมไทยไม่ขาดแคลนอาหารเพราะไทยผลิตได้เองจำนวนมาก เว้นแต่วัตถุดิบในการประกอบอาหารที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น แป้งสาลี น้ำตาลทราย ทำให้อาหารบางอย่างที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศขาดแคลน เช่น ไม่มีบะหมี่กินในภาวะสงคราม มีแต่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าเท่านั้น ร้านค้าที่เคยขายบะหมี่ได้ทดลองเอาหน่อไม้มาทำเป็นเส้นบะหมี่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากรสชาติบะหมี่ไม่เหมือนเดิม
สำหรับน้ำตาลทรายไม่มีบริโภคตลอดเวลาภาวะสงคราม ทำให้พวกคอน้ำชากาแฟลำบากมาก แต่ในระดับชาวบ้านจะปรุงอาหารโดยใช้น้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊บ แทนน้ำตาลทราย
ส่วนยารักษาโรคจากต่างประเทศขาดแคลน คนไทยช่วงนั้นใช้ยาสมุนไพรไปตามมีตามเกิด บรรดาแพทย์แผนปัจจุบันต้องปิดร้านไป เพราะไม่มียารักษา เมื่อผ้าจากต่างประเทศเข้ามาไม่ได้และมีราคาแพง คนไทยจึงหันมาใช้ผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งคนไทยทอกันเองได้ เป็นสินค้าไทยทำ ทำให้คนทั่วไปมีเสื้อผ้าน้อยชิ้น เมื่อผ้าเป็นของที่มีราคาแพง หากใครตากผ้าไว้นอกบ้านยามกลางคืนต้องระวังการขโมยสอยผ้าไปขาย
ส่วนเชื้อเพลิงในกิจกรรมต่างๆ นั้น ถ่านไม้เชื้อหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงยังมีจำหน่ายตามปกติ แต่เชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซินและน้ำมันอื่นๆ นั้นขาดแคลน ด้วยน้ำมันเป็นสินค้านำเข้า
ช่วงนั้นรถยนต์ไม่มีเบนซินให้เติมทำให้มีการดัดแปลงเครื่องยนต์รถมาใช้พลังงานถ่านหุงข้าวแทน โดยติดตั้งเผาถ่านสร้างความร้อนที่หลังรถจนทำให้เกิดรถสามารถขับเคลื่อนวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้โดยไม่ใช้น้ำมัน (silpa-mag.com/article11854)

ไม่แต่เพียงสินค้าบริโภคจากต่างประเทศจะขาดแคลนเท่านั้น เหล็ก วัสดุก่อสร้างและเครื่องมือช่างก็มีความขาดแคลนเช่นกัน ด้วยเหล็กนำเข้ามาจากยุโรป แต่เส้นทางการเดินเรือถูกปิดกั้น ทำให้เหล็กขาดแคลนถึงขนาดชาวบ้านตามเก็บปลอกลูกระเบิดมาขายเป็นเศษเหล็กกันทีเดียว
ดังมีผู้บันทึกไว้ว่า ในช่วงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเพลิงในพระนครหนักมือนั้น เมื่อระเบิดเพลิงบางลูกตกพื้นแล้ว ชาวบ้านพบว่าระเบิดด้าน พวกเขาคงจะกลัวอดอยากมากกว่ากลัวความตาย ชาวบ้านจะเก็บระเบิดเพลิงเหล่านั้นมาถอดชิ้นส่วนระเบิดเพลิงเป็นชิ้นๆ เพื่อนำชิ้นส่วนโลหะไปขายให้กับเจ๊กซื้อขวด นำโลหะไปทำเป็นพลั่วขายให้กับกองทัพญี่ปุ่นต่อไป (เสถียร ตามรภาค, 2518, 136)
กล่าวได้ว่า ภาวะขาดแคลนสินค้าในไทยช่วงสงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อสงครามทอดเวลายาวนานออกไปยิ่งส่งผลให้วิถีชีวิตของคนไทยยากลำบาก แม้นรัฐบาลพยายามควบคุม ปราบปรามการเก็งกำไรและการกักตุนสินค้าอย่างหนัก พร้อมมีการส่งเสริมให้คนไทยผลิตสินค้าขึ้นมาทดแทนและสนับสนุนให้คนไทยใช้สินค้าไทยให้มากขึ้นแล้วก็ตาม


สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022