ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุทธการ แดงเดือด
เมษา พฤษภา 2553
ยิง เอ็ม 79 วางระเบิด ซีโฟร์
คำสั่งยึด ‘ทักษิณ’ 7.6 หมื่นล้าน
ด้านหนึ่ง “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” จัดชุมนุมย่อย จัดชุมนุมใหญ่ ในลักษณะสะสมกำลังและรอโอกาสในห้วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ 2553
ด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ใช้เวที “รัฐสภา” ในการต่อสู้
ขณะเดียวกัน หากพลิกแต่ละหน้าของ “มติชน” บันทึกประเทศไทย ปี 2553 ก็จะจับอีกการเคลื่อนไหวหนึ่ง
ที่ท้าทายและร้อนแรงมากยิ่งขึ้น
ช่วงดึกของวันที่ 13 ถึงช่วงเช้าของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุป่วนเมืองติดต่อกันถึง 2 ครั้ง
ช่วงเวลา 22.30 น.ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีผู้ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชย์พระนคร ฝั่งถนนพระราม 5 ริมคลองผดุงกรุงเกษม แขวงดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ห่างกันประมาณ 50 เมตร โดยมีคลองผดุงกรุงเกษมกั้นอยู่ แรงระเบิดส่งผลให้รถยนต์ที่จอดอยู่ในมหาวิทยาลัยเสียหาย 3 คัน
เท่านั้นไม่พอ สถานการณ์ “ป่วน” ยังต่อเนื่องไปอีก 1 วัน
เวลา 09.30 น.ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พบระเบิดซีโฟร์หนัก 3 ปอนด์ วางไว้ภายในรั้วศาลฎีกา ฝั่งข้างคลองหลอด แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
หากเกิดระเบิดจะมีรัศมีทำลายประมาณ 50 เมตร
พิจารณาจากภาพซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดที่พบระเบิดซีโฟร์หนัก 3 ปอนด์ โดยคนร้ายใส่กล่องน้ำผลไม้วางไว้ริมรั้วข้างศาลฎีกา โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลมาพบแล้วแจ้งตำรวจจึงสามารถเก็บกู้ได้ทัน
ไม่ว่าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชย์พระนคร ไม่ว่าที่ข้างรั้วศาลฎีกา แห่งแรกเป็นการยิงระเบิด แห่งหลังเป็นการวางระเบิด
แห่งแรกเป็นเอ็ม 79 แห่งหลังเป็นซีโฟร์
เป็นการก่อขึ้นในห้วงระหว่างคืนวันที่ 13 ต่อเนื่องมายังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อันถือว่าเป็น “วันแห่งความรัก วาเลนไทน์” ตามความนิยมของคนสมัยใหม่ที่ได้อิทธิพลจากตะวันตก
เพียงแต่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชย์พระนคร อยู่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลเพียง 50 เมตร เพียงแต่เป็นระเบิดซีโฟร์หนัก 3 ปอนด์ข้างรั้วของศาลฎีกา
1 เป็นทำเนียบรัฐบาล 1 เป็นศาลฎีกา ดำเนินไปในลักษณะอันเป็น “สัญลักษณ์” ในทางการเมืองและในทางความรุนแรง
เหมือนกับจะสะท้อน “การรุก” เหมือนกับจะสะท้อน “การรับ”
แต่แล้วในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเสียงข้างมากพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 46,373,867,454.74 บาท
ในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542
วันเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งอายัดทรัพย์สินของ นายพานทองแท้ ชินวัตรและ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพิ่มเติมในทุกบัญชีที่เป็นของบุคคลทั้งสอง
ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้สั่งอายัดในวงเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท
จากเดิมที่ได้สั่งอายัดไว้แล้ว 3.6 หมื่นล้านบาทในบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อป้องกันการหลุดรอดที่จะได้รับการชำระเงินภาษีที่บุคคลทั้งสองค้างไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท
กรณีที่ศาลมีคำพิพากษายึดทรัพย์บางส่วนแต่ยังไม่ชัดเจนว่าศาลจะสั่งอายัดในบัญชีใดบ้าง หากเป็นบัญชีที่อายัดซ้อนกับ คตส. เงินที่ถูกอายัดไว้จะสมทบเป็นเงินคงคลังทั้งหมด
นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้อายัดหุ้นในบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของบุคคลทั้งสองมูลค่า 1,000 ล้านบาทเพิ่มเติมด้วย เพื่อรองรับกรณีที่ศาลสั่งยึดทรัพย์ทั้ง 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องสมทบเป็นเงินคงคลังทั้งหมดแต่บุคคลทั้งสองยังมีภาระภาษีค้างอยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท รวมเบี้ยปรับอีก 1.5% ต่อเดือน และกรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างหาทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสองเพื่ออายัดเพิ่มเติมด้วย
ขณะเดียวกัน ทางด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า เรื่องนี้ขบขันไปทั้งโลกและจะขอต่อสู้ขอความเป็นธรรมต่อไป
สะท้อนการรุก สะท้อนการรับ ในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง
น่าสังเกตว่า คืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ วันเดียวกันกับมีการอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของศาลฎีการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ ฉายา “เคทอง” แกนนำ “นักรบพระเจ้าตาก”
เป็นคนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ได้ประกาศผ่านรายการ Voice of Change ของตนว่า
“จะมีระเบิดเกิดขึ้น”
ปรากฏว่า ในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ได้เกิดเหตุวางระเบิดธนาคารกรุงเทพ 4 แห่งซ้อนในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ
บางแห่งระเบิดทำงาน บางแห่งระเบิดไม่ทำงาน เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้
วันที่ 1 มีนาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจขอศาลอนุมัติออกหมายจับมือปาระเบิดหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม
วันที่ 4 มีนาคม พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำกำลังเข้าตรวจค้นบริษัทกัญยาลักษณ์ ที่ชั้น 13 อาคารการสื่อสารแห่งประเทศไทย ถนนสุริวงศ์ แขวงสีลม เขตบางรัก ซึ่ง นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ เช่าเพื่อเปิดห้องแชตในแคมฟร็อก โปรแกรมพูดคุยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
โดยยึดเครื่องเซิร์ฟเวอร์ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องไปตรวจสอบ
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าค้นบ้านพักของ นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ ที่เขตลาดกระบัง พบเครื่องกระสุนปืนหลายรายการ
จากนั้นตำรวจจึงขอศาลออกหมายจับ นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ 2 คดี
วันที่ 6 มีนาคม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เดินทางไปกองปราบปรามสอบถามขั้นตอนการดำเนินคดีและการประกันตัวให้กับ นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ ตำรวจขอค้นรถตู้ที่ขับมา
ก็พบ นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ นั่งอยู่ และยังพบอาวุธปืนอีกหลายกระบอก จึงจับกุม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ และผู้ติดตามอีก 6 คน
วันที่ 7 มีนาคม ตำรวจจับกุมชายอีก 2 คนระบุว่าเป็นผู้ก่อเหตุขว้างระเบิดธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม ได้ ยอมรับสารภาพว่ามีคนเสื้อแดงที่เคยร่วมชุมนุมด้วยกันมาขอให้ขับขี่รถจักรยานยนต์พาไปขว้างระเบิด
จุดที่ตำรวจเน้นโดยปริยายก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการวางและขว้างระเบิดไปยังคนเสื้อแดง
เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม 2553 ความเคลื่อนไหวทางการเมืองยิ่งมีความคึกคักและเข้มข้น
ไม่ว่าวันที่ 12 ไม่ว่าวันที่ 13 มีนาคม
เป็นการขับเคลื่อนโดย “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” ที่นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
เป้าหมายคือรัฐบาล คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022