ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
ปรีดี แปลก อดุล
: คุณธรรมน้ำมิตร (57)
ข้อจำกัดของโรสเวลต์
ความคิดและการดำเนินนโยบายที่แน่วแน่ของประธานาธิบดีโรสเวลต์ในการต่อต้านระบอบอาณานิคมตั้งแต่การประกาศแนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศจนถึงการประชุมที่ยัลต้าระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ ซึ่งใกล้การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เห็นได้ว่าโรสเวลต์ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นในการล้มเลิกลัทธิจักรวรรดินิยม แต่เพื่อชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะและการสร้างสันติภาพแก่โลกหลังสงครามก็ต้องรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือของมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรไว้
โรสเวลต์จึงไม่สามารถทำตามความคิดของตนได้อย่างเด็ดขาด ต้องพยายามสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของฝ่ายสัมพันธมิตรกับนโยบายต่อต้านระบอบอาณานิคมของตน
เดือนมีนาคม ค.ศ.1945 โรสเวลต์ยังคงยืนยันเรื่องการช่วยเหลือประเทศกลุ่มอินโดจีนไม่ให้กลับไปเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอีก แต่ได้เสนอแนวทางที่ประนีประนอมมากขึ้นโดยหากฝรั่งเศสให้การค้ำประกันว่าจะให้เอกราชแก่อินโดจีนอย่างแน่นอน สหรัฐอเมริกาก็จะยอมเพิ่มเติมข้อตกลงเดิมให้ฝรั่งเศสเป็นชาติหนึ่งในคณะกรรมาธิการของภาวะทรัสตีและจะให้ดูแลอินโดจีนต่อไปเพื่อนำไปสู่การให้เอกราชแก่อินโดจีน
เนื่องจากสงครามโลกยังไม่สิ้นสุด การเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่ออินโดจีนเช่นนี้จึงได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อนโยบายด้านการทหารในยุทธภูมิแปซิฟิกไปด้วย
ตามแผนเดิมซึ่งประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1944 สหรัฐอเมริกาจะเปิดปฏิบัติการทางการทหารขนาดใหญ่ต่ออินโดจีนในเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 เพื่อทำลายฐานกำลังใหญ่ของญี่ปุ่น ก่อนการรุกใหญ่สู่เกาะญี่ปุ่นผ่านหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิก แผนการนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากกองกำลังกู้ชาติเวียดมินห์ของโฮจิมินห์
คณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เพราะเห็นว่าการเอาชนะญี่ปุ่นให้รวดเร็วควรรวมกำลังทั้งหมดเข้าปฏิบัติการสู่เป้าหมายเกาะญี่ปุ่นโดยตรง การบุกอินโดจีนก่อนจะทำให้สงครามยืดเยื้อและสูญเสียกำลังพลโดยไม่มีความจำเป็น แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความตั้งใจของโรสเวลต์ได้
การประนีประนอมต่อนโยบายต่ออินโดจีนของโรสเวลต์ครั้งนี้ทำให้คณะเสนาธิการร่วมสามารถปรับแผนยุทธศาสตร์ไปยังการบุกเกาะญี่ปุ่นโดยตรง โดยกำหนดว่า ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ.1945 จะเปิดปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ที่เกาะโอกินาวาที่อยู่ทางใต้สุดของหมู่เกาะญี่ปุ่นเป็นลำดับแรก ซึ่งจากเกาะนี้ จะสามารถใช้เป็นฐานการโจมตีทางอากาศโดยตรงต่อเกาะญี่ปุ่นโดยเฉพาะกรุงโตเกียวเนื่องจากอยู่ในพิสัยการบินของเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก
นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายทางทหารแล้ว ยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของคนญี่ปุ่นที่เชื่อว่าเกาะญี่ปุ่นเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ต่างชาติไม่อาจรุกรานได้ แม้จะยกเลิกการบุกอินโดจีน แต่สหรัฐยังคงให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านท้องถิ่นในอินโดจีนของโฮจิมินห์ รวมทั้งยังสนับสนุนกองทัพจีนคณะชาติในการเคลื่อนทัพสู่เมืองสำคัญทางภาคใต้ของจีนเพื่อตรึงกำลังกองทัพญี่ปุ่นมิให้โยกย้ายไปเสริมกำลังที่เกาะโอกินาวา
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 1945 นายปรีดี พนมยงค์ ได้แจ้งให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่าเสรีไทยพร้อมจะลุกขึ้นขับไล่กองทัพญี่ปุ่นแล้ว ขอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการ แต่ได้รับคำตอบว่า ยังไม่พร้อม ให้ชะลอไว้ก่อน
การขึ้นสู่อานาจ
ของประธานาธิบดีทรูแมน
อสัญกรรมอย่างกะทันหันของประธานาธิบดีโรสเวลต์เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1945 ทำให้รองประธานาธิบดีทรูแมนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสืบแทน และแม้ประธานาธิบดีทรูแมนจะมีแนวคิดต่อต้านระบอบอาณานิคม แต่การที่เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้เพียง 3 เดือน ก่อนประธานาธิบดีโรสเวลต์ถึงแก่อสัญกรรม จึงแทบไม่รับรู้หรือเข้าใจโดยถ่องแท้ในนโยบายการต่างประเทศเรื่องการต่อต้านระบอบอาณานิคมโดยเฉพาะแนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศของโรสเวลต์ซึ่งยังไม่มีการกำหนดแนวทางดำเนินการเรื่องแนวคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศที่มีต่อเวียดนามไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
กระทรวงต่างประเทศจึงเสนอให้ทรูแมนตัดสินใจเลือกอย่างเด็ดขาดระหว่างนโยบายต่อต้านระบอบอาณานิคม หรือจะรักษาความสัมพันธ์กับชาติฝ่ายพันธมิตรและสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพแก่โลกหลังสงคราม โดยเฉพาะนโยบายจัดระเบียบยุโรปซึ่งต้องสนับสนุนฝรั่งเศสให้กลับสู่สถานะชาติมหาอำนาจอีกครั้งเพราะสงครามเย็นกำลังเริ่มตั้งเค้าเข้าครอบคลุมยุโรป
ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ.1945 กองกิจการยุโรปและกองกิจการตะวันออกไกล กระทรวงต่างประเทศ ต่างส่งบันทึกถึงทรูแมนเสนอให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่ออินโดจีนโดยมีสาระสำคัญว่า สหรัฐจะไม่ขัดขวางฝรั่งเศสในการฟื้นฟูระบอบอาณานิคมและจะเคารพอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนืออินโดจีน โดยที่กลุ่มต่อต้านในอินโดจีนจะต้องไม่ขัดขวาง สหรัฐจะสนับสนุนให้ฝรั่งเศสดูแลอินโดจีนตามแนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ และจะสนับสนุนช่วยเหลือฝรั่งเศสเพื่อพื้นฟูระบอบอาณานิคมในอินโดจีนขึ้นใหม่ โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลดีต่อการรักษาสันติภาพทั้งในยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลกหลังสงคราม
ในที่สุด ทรูแมนตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายต่อต้านระบอบอาณานิคมตามความคิดเดิมของโรสเวลต์มาเป็นการเลือกธำรงไว้ซึ่งความร่วมมือและการสร้างสันติภาพหลังสงครามของฝ่ายพันธมิตร ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการสนับสนุนให้อินโดจีนกลับเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หลังการยกเลิกแผนปฏิบัติการทางการทหารต่ออินโดจีน แต่เนื่องจากอินโดจีนยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ สหรัฐจึงปรับแผนเป็นการส่งหน่วยโอเอสเอสลงไปปฏิบัติการในลักษณะสงครามกองโจร การปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยาและโฆษณาชวนเชื่อ รวมไปถึงการรวบรวมข่าวกรองขั้นสูงแทนซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากกองกำลังพื้นเมืองคือเวียดมินห์ของโฮจิมินห์ โดยที่โฮจิมินห์ยังไม่ทราบว่าสหรัฐได้เปลี่ยนใจให้ฝรั่งเศสกลับมาปกครองอินโดจีนอีกเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว
ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างกระทรวงต่างประเทศกับคณะเสนาธิการร่วม แต่ทั้งสองฝ่ายรวมทั้งทรูแมนเลือกที่จะก้าวข้ามปัญหานี้ไปก่อน เพราะสถานการณ์สงครามกำลังงวดเข้าทุกขณะ
ในระดับผู้ปฏิบัติ ร.อ.อาร์คีมีเดส แพทติ แห่งหน่วยโอเอสเอสคือผู้รับผิดชอบโครงการที่ได้รู้จักกับเวียดมินห์และโฮจิมินห์ครั้งแรกระหว่างที่เขาเดินทางมาจีนเพื่อเตรียมการในช่วงกลาง ค.ศ.1944 และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกเวียดมินห์ที่ฝึกอยู่ในคุนหมิง รวมถึงการหารือกับโฮจิมินห์โดยตรงเมื่อปลายเดือนเมษายน ค.ศ.1945 เขาสรุปว่าเวียดมินห์นั้นนิยมสหรัฐมากและพร้อมจะต่อสู้กับญี่ปุ่นเคียงข้าง ขณะที่แนวความคิดทางการเมืองและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของเวียดมินห์คือ “ชาตินิยมและเอกราชของเวียดนาม”
ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.1945 หน่วยโอเอสเอสเตรียมปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ร่วมกับขบวนการเวียดมินห์ เป้าหมายหลักคือทำลายเส้นทางคมนาคมของกองทัพญี่ปุ่นที่เชื่อมต่อระหว่างจีนกับเวียดนามทั้งหมดโดยเฉพาะทางรถไฟ โดยได้ร่วมกันสร้างสถานที่ฝึกซึ่งประกอบไปด้วยอาคารกองบัญชาการและศูนย์วิทยุ โรงพยาบาลสนาม คลังเก็บอาวุธและยุทธปัจจัยอื่นๆ โรงนอนทหาร 4 หลัง โรงครัว สนามซ้อมยิงและลานฝึก
ขณะที่เวียดมินห์เลือกทหารจำนวน 110 คน เข้ารับการฝึกอบรมจากครูฝึกหน่วยโอเอสเอส การฝึกอบรมที่เป็นไปตามมาตรฐานของกองทัพสหรัฐ
โฮจิมินห์เรียกกองกำลังนี้ว่า “กองกำลังแห่งชาวเวียดนาม-อเมริกัน”
ในช่วงแรกๆ นั้น อาวุธที่เวียดมินห์มีอยู่และใช้ปฏิบัติการล้วนล้าสมัย เช่น ปืนคาบศิลา ปืนไรเฟิลระบบลูกเลื่อนที่ผลิตตั้งแต่ ค.ศ.1903 แม้จะมีอาวุธที่ยึดได้จากกองทัพรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสและญี่ปุ่น แต่ก็มีจำนวนน้อยและกระสุนก็มีจำกัด หน่วยโอเอสเอสจึงจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยมาให้ เช่น ปืนกลมือทอมสัน ปืนไรเฟิลเอ็ม 1 ปืนคาร์บิน เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ปืนกลเบา ปืนกลเบรน เครื่องยิงลูกระเบิด ระเบิดแรงสูงและระเบิดมือประเภทต่างๆ ทำให้กองทัพเวียดมินห์สามารถยกระดับขีดความสามารถในการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หน่วยโอเอสเอสนำทหารขบวนการเวียดมินห์ที่ผ่านการฝึกเข้าปฏิบัติการต่อเป้าหมายเส้นทางรถไฟของญี่ปุ่นอย่างได้ผลแล้วปรับแผนมาเป็นมุ่งโจมตีขัดขวางการใช้เส้นทางถนนซึ่งก็เป็นไปอย่างได้ผลเช่นเดียวกัน
จนกระทั้งญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้เมื่อ 15 สิงหาคม 1945 โฮจิมินห์ก็นำเวียดมินห์เข้ายึดสถานที่ราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนทั่วทั้งกรุงฮานอย และควบคุมกรุงฮานอยได้อย่างเบ็ดเสร็จเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม แล้วประกาศอิสรภาพเมื่อ 2 กันยายน
โฮจิมินห์ยังคงเชื่อว่าสหรัฐจะสนับสนุนการได้รับเอกราชของเวียดนาม
(ขอบคุณข้อมูลจาก วิทยานิพนธ์ “ความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเวียดมินห์กับสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1944-1954” โดย ว่าที่ ร.ต.พิชยพรรณ ช่วงประยูร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2560)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022