ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“พระเทพสาครมุนี” หรือ “หลวงพ่อแก้ว สุวัณณโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธิวาตวราราม ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร
สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเอาไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยม นำไปคล้องคอติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล
แต่ที่โด่งดังเป็นอย่างสูง คือ “แหนบรูปวงกลม” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2509 ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลม แล้วเชื่อมติดกับแหนบ สร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อนาก และเนื้ออัลปาก้าชุปนิกเกิล จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองครึ่งองค์ เหนือรูปมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระราชสาครมุนี” ใต้รูป มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ในงานผูกพัทธสีมาวัดช่องลม ๐๙”
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อุณาโลม ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ
นอกจากนี้ ยังมี “แหนบพัดยศ” ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2512 ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศ พระราชาคณะ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศหรือหยดน้ำ แล้วมาเชื่อมติดกับแหนบ สร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้าชุปนิกเกิล จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้เช่นเดียวกัน
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระเทพสาครมุนี”
ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “วัดสุทธิวาตวราราม ๒๕ ธ.ค.๑๒”
ปัจจุบันค่อนข้างหาได้ยาก

อัตโนประวัติ มีนามเดิม แก้ว ธนสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2446 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 2 ปีเถาะ เวลา 21.00 น. ที่ ต.กระสัง อ.กระสัง จ.พระตะบอง ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นอาณาจักรของประเทศไทย บิดา-มารดา ชื่อนายกัน และนางวงษ์ ธนสุวรรณ
อายุ 12 ปี บรรพชาที่วัดจำบกมาศ อ.กระสัง จ.พระตะบอง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2458 เพื่อศึกษาเล่าเรียนชั้นสามัญ จนมีความรู้อ่าน-เขียนภาษาไทย และภาษาขอมเป็นอย่างดี
อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2466 ที่พัทธสีมาวัดจำบกมาศ อ.กระสัง จ.พระตะบอง มีพระปัญญาสุธรรม เจ้าอาวาสวัดจำบกมาศ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เผือก พรหมสโร วัดกระสัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เกตุ วัดชำนิหัตถการ กรุงเทพฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า สุวัณณโชโต
อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดจำบกมาศ ช่วงหนึ่งจึงเดินทางไปจำพรรษาที่วัดมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ
พ.ศ.2480 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ
พ.ศ.2481 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2482 เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พ.ศ.2488 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดคลองตันราษฎร์บำรุง
พ.ศ.2489 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2495 เจ้าอาวาสวัดช่องลม หรือ วัดสุทธิวาตวราราม จ.สมุทรสาคร ว่างลง คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส และในปีเดียวกัน ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครด้วยอีกตำแหน่ง

พัฒนาวัดช่องลม สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ซุ้มประตูหน้าวัด ศาลาท่าน้ำ และพระอุโบสถหลังใหม่
สร้างวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ เพื่อมอบให้ชาวสมุทรสาครที่ร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากทางราชการ
ให้ความสำคัญกับการศึกษาของกุลบุตรและกุลธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ จึงส่งเสริมและเป็นผู้อุปการะโรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) ด้วยการจัดตั้งทุนการศึกษาประจำสำนักเรียน จัดส่งนักเรียนไปศึกษาต่อเพิ่มเติม จัดพิมพ์หลักสูตรทั้งบาลีและนักธรรมใช้ในสำนักเรียน ซึ่งหลักสูตรที่แพร่หลาย คือ หลักสูตรย่อนักธรรมตรี
นอกจากนี้ ยังบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ สร้างสะพานสาครบุรี สร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างตำบลท่าจีน-ตำบลบางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
สร้างสถานีตำรวจภูธรชั่วคราว และโครงการสร้างสถานีอนามัย ต.ท่าฉลอม เป็นผู้อุปถัมภ์ในการปรับปรุงวัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นผู้วางแผนผังการก่อสร้างวัดบางหญ้าแพรกอ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ความสามารถในการพัฒนาวัด ตลอดจนเสนาสนะอย่างต่อเนื่อง จนมีเจ้าอาวาสวัดต่างๆ เดินทางมาดูตัวอย่างการก่อสร้างที่วัดอยู่เสมอๆ
ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระกฐินต้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2508
โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ พระราชทานฉัตรขาว 9 ชั้น ตั้งสองข้างพระประธาน และพระราชทานนามวัดช่องลมให้ใหม่ว่า “วัดสุทธิวาตวราราม”
เคยเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินวัดช่องลมเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง มีพระราชปฏิสันถารจนพลบค่ำ จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ หลังจากนั้นวัดช่องลมเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวไทยทั้งประเทศ กรมการศาสนายกวัดช่องลม เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่นของประเทศไทย
ปกครองวัดเรื่อยมา กรำงานหนักมาตลอดชีวิต เริ่มเจ็บป่วยอาพาธ กระทั่งมรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อตอนเช้าตรู่วันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2526 เวลา 04.45 น.
สิริอายุ 79 ปี พรรษา 59 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022