
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
‘จุก’ หรือ ‘ผมจุก’ คือชื่อทรงผมยอดนิยมของเด็กไทยสมัยก่อน
จุดเด่นของผมทรงนี้อยู่ที่ขมวดผมเอาไว้ตรงขม่อม (กระหม่อม) หรือส่วนสูงสุดตอนกลางหัว
‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าถึงผมจุกไว้ในหนังสือชุด 100 ปี ขุนวิจิตรมาตรา เรื่อง “เด็กคลองบางหลวง เล่ม 2” ว่า
“บ้านข้าราชการและบ้านสวน เด็กๆ ส่วนมากหรือแทบทั่วไปไว้จุก แต่ข้าพเจ้าไม่เคยไว้จุก ส่วนพี่สาวข้าพเจ้าไว้จุก แต่ถ้าจะพูดส่วนมากแล้วเด็กหญิงไว้จุก ส่วนเด็กชายไว้จุกบ้างก็มี ไม่ไว้จุกบ้างก็มี
เฉพาะการไว้จุกทั้งชายและหญิง เริ่มไว้ตั้งแต่เมื่ออายุอย่างน้อยราวสามสี่ขวบ คือเมื่อผมยาวมากแล้วก็มี แล้วไว้ตลอดมาจนเข้าวัยรุ่น
การไว้ผมจุกก็คือไว้ที่กลางกระหม่อม ทำเป็นวงกลมรอบๆ แบบที่เรียกว่า ‘ไร’ หรือ ‘ไรจุก’
ผมที่ต่อจากไรจุกรอบๆ ลงมาโกนหมด รอบไรจุกนั้นต้องแต่งหรือกันให้เรียบไว้เสมอ
เมื่อไว้จุกแล้วก็ต้องใส่น้ำมัน เกล้ากระหมวดขึ้นไว้ให้แหลมขึ้นไป ให้ผมเป็นกระเปาะพันกันแน่น และมีเครื่องเสียบที่เรียกว่า ‘ปิ่น’ เป็นเหมือนเข็มเล็กๆ ยาวสัก 3 องคุลีเศษ ปลายข้างหนึ่งแหลม อีกข้างหนึ่งทำเป็นรูปเหมือนดอกบัวตูม จำหลักเป็นลวดลาย ทำด้วยทองก็มี เงินก็มี ฯลฯ แล้วแต่ฐานะ ประดับเพชรนิลจินดา เสียบที่จุกให้แน่นเพื่อกันจุกหลุด
บางรายเขาเอาดอกมะลิ ดอกสารภี ร้อยเป็นวงกลมสวมที่จุก”
จะเห็นได้ว่า ‘กาญจนาคพันธุ์’ หรือขุนวิจิตรมาตรา เล่าถึงประสบการณ์จริงของท่านตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากท่านลืมตาดูโลกวันที่ 7 กรกฎาคม 2440 และลาโลกไปวันที่ 2 กรกฎาคม 2523 ช่วงเวลานั้นแม้เด็กไทยยังไว้จุกแต่ก็ไม่ทุกคน
หากย้อนเวลาไปนานกว่านั้นทั้งเด็กชายเด็กหญิงล้วนไว้จุก
ลองสังเกตภาพจากบันทึกของชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มจากนายแพทย์แซมมวล อาร์. เฮาส์ เล่าถึงผมจุกไว้ในหนังสือเรื่อง “สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน” (กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช 2557) ว่า
“ผมกระจุกนี้ยาว 1 ฟุต หรือกว่านั้น และบำรุงด้วยน้ำมันและม้วนเกล้าเป็นจุกอย่างเรียบร้อย มีปิ่นปักผมขนาดใหญ่ยาว 3 นิ้ว ทำด้วยทองหรือปิดทองเสียบไว้ที่จุก และบ่อยครั้งมาลัยที่ร้อยด้วยดอกไม้สีขาวมีกลิ่นหอมถูกนำมาสวมไว้รอบจุก ทำให้เด็กๆ ชาวสยามดูสวยงามทีเดียว”
ทำนองเดียวกับที่สังฆราชปาลเลกัวซ์ บันทึกไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) ว่า
“ส่วนเด็กที่ยังมีอายุน้อย เขามักจะโกนหัวเสียมาก ระหว่างอายุ 3 ถึง 4 ขวบ มักไว้จุกกลมเล็กๆ บนกระหม่อมคล้อยมาข้างหน้าเล็กน้อย เด็กชายและเด็กหญิงคงรักษาจุกนี้ไว้จนกระทั่งมีอายุได้ 12-13 ขวบ โดยหวีเรียบ ใส่น้ำมันแลขมวดมุ่นอย่างมีศิลป ปักด้วยปิ่นทองคำหรือปิ่นเงิน ซึ่งคนจนๆ ใช้ขนเม่นปักแทน”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ผมจุกจากมุมมองสองมิชชันนารีสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ต่างกับทรงผมของตัวละครเด็กในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” วรรณคดีสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งยังเยาว์วัย พลายชุมพลลูกชายคนหนึ่งของขุนแผนได้ถอดเครื่องแต่งตัวที่ย่าทองประศรีให้ ทิ้งไว้ก่อนหนีไปเมืองกาญจนบุรี
“ให้โศกแสนเสียใจจะไปจาก น้ำตาพรากพร่างพรายทั้งซ้ายขวา
ถอดปะหล่ำกำไลสร้อยเสมา ที่คุณย่าจัดแจงให้แต่งตัว
กำไลเท้าสองข้างง้างเสียสิ้น แล้วถอดปิ่นปักจุกออกจากหัว
พิศดูสิ่งของยิ่งหมองมัว แม้นติดตัวไปเดี๋ยวนี้จะมีภัย”
วรรณคดีเรื่องเดียวกันนี้เล่าถึงเลือดเนื้อเชื้อไขของขุนแผน ทั้งพลายงาม (พี่ชาย) และพลายชุมพล (น้องชาย) ตอนเด็กๆ ก็ไว้จุกเหมือนกัน เผชิญชะตากรรมใกล้เคียงกัน ต้องพลัดพรากจากคนที่รักตั้งแต่เล็ก ต้องหนีภัยไปพักพิงกับญาติผู้ใหญ่ต่างเมือง ไปถึงที่หมายแทนที่จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น กลับถูกย่าและตาแท้ๆ เข้าใจผิด ถูกลงโทษเจ็บตัวฟรีทั้งคู่
อย่างตอนที่แม่วันทองไปส่งพลายงามให้เดินทางตามลำพัง นอกจากเตรียม ‘ไถ้ใส่ขนมผ้าห่มหุ้ม’ และ ‘ให้ขนมส้มสูกแก่ลูกรัก’ ก็สั่งเสียลูกชายตัวน้อยเป็นครั้งสุดท้ายว่า
“หนทางบ้านกาญจน์บุรีตรงนี้แล จำให้แน่นะอย่าหลงเที่ยววงเวียน
อุตส่าห์ไปให้ถึงเหมือนหนึ่งว่า ให้คุณย่าเป็นอาจารย์สอนอ่านเขียน
จงหมายมุ่งทุ่งกว้างตามทางเกวียน ที่โล่งเลี่ยนลัดไปในไพรวัน
แล้วเกล้าจุกผูกไถ้ที่ใส่ของ ให้แหวนทองทุกสิ่งทำมิ่งขวัญ
แล้วกอดลูกผูกใจจะไกลกัน สะอื้นอั้นออกปากฝากเทวา”
นอกจากจะมีคนช่วยเกล้าจุกให้ ตัวเด็กก็สามารถทำเองได้เช่นกัน ดังที่กวีเล่าถึงพลายชุมพลตื่นแต่เช้า แต่งตัวเตรียมเดินทางโดยมิให้ย่าทองประศรีล่วงรู้
“จนแซ่เสียงไก่ขันกลั้นสะอื้น กลัวจะรู้สึกตื่นไม่หนีได้
ลงจากเตียงเมียงมองมาห้องใน ประจงใส่เสื้อสีกางเกงแดง
กระหมวดจุกผูกผ้าประเจียดรัด คาดเข็มขัดผูกเครื่องดูเข้มแข็ง
ถือกริชน้อยค่อยย่องไม่เหยียบแรง แอบแฝงย่องออกมานอกชาน”
พลายชุมพลตอนเดินทางตามลำพังก็เป็นห่วงนางศรีมาลา พี่สะใภ้ใจดีมีเมตตาคอยดูแลตนมาโดยตลอด
“โอ้เอ็นดูแต่พี่ศรีมาลา น้องจากมาแล้วจะได้ใครเป็นเพื่อน
ชาวบ้านปานฉะนี้จะเยี่ยมเยือน พี่เคยเตือนเกล้าจุกทุกเวลา”
พี่สะใภ้ก็เป็นห่วงน้องผัวไม่แพ้กัน
“น่าสงสารปานฉะนี้เจ้าพลายน้อย จะเศร้าสร้อยมัวหมองแล้วน้องเอ๋ย
ไปเดินทางกลางป่าเจ้าไม่เคย น้ำค้างเปรยตกต้องจะหมองมอม
ทั้งจุกไรใครเล่าจะเกล้าสาง ที่สำอางกลิ่นอายจะหายหอม
จะเปลี่ยวอกไปตระกรกตระกรำตรอม ถึงบ้านพ่อก็จะผอมลงผิดตา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
เมื่อพลายงามเดินทางไปถึงเมืองกาญจน์ พบพวกเด็กเลี้ยงควายก็ถามหาย่าทองประศรี ได้คำตอบว่าแกไปไร่ ยายคนนี้ดุมาก แต่มะยมบ้านแกยั่วน้ำลายอย่าบอกใคร พลายงามคิดตามประสาเด็กว่าถ้าปีนขึ้นไปขย่มบนต้นมะยม จะได้เป็นที่สังเกต ย่ามองเห็นก็จะมารับตัวไป แต่การณ์ไม่เป็นไปตามที่คิด กลับทำให้ย่าทองประศรีเข้าใจผิดว่าพลายงามมาขโมยมะยมที่แกปลูกไว้
“แต่หูไวได้ยินมะยมหล่น เป็นทำวนแอบมองตามช่องฝา
เห็นเด็กเด็กเล็ดลอดดอดเข้ามา แกฉวยคว้าไม้ตะบองค่อยมองเมียง
ลงบันไดอ้ายเด็กเล็กเล็กวิ่ง แกไล่ทิ้งด่าทอมันล้อเถียง
ชกโคตรเค้าเหล่ากอเอาพอเพียง พอแว่วเสียงอยู่บนต้นมะยม
มองเขม้นเห็นลูกหัวจุกน้อย เหม่อ้ายจ้อยโจรป่าด่าขรม
อย่าแอบอิงนิ่งนั่งตั้งเทพพนม ลงมาก้มหลังลองตะบองกู”
สภาพพลายชุมพลตอนเดินทางถึงเมืองสุโขทัยก็ไม่ต่างกัน ทันทีที่ ‘คลานเข้าไปไหว้คุณยายกับคุณตา’ ถึงบนเรือน พระยาสุโขทัย ตาแท้ๆ ก็มีอาการดังนี้
“๏ ครานั้นท่านผู้รั้งสุโขทัย คิดว่าลูกความใครลอบมาหา
จะดูให้แน่ใจใส่แว่นตา มองเขม้นเห็นหน้าพลายชุมพล
ไม่เห็นของกำนัลทำหันหุน ฉวยไม้หมุนเข้าไปหวดเอาสองหน
ทุดอ้ายลูกหัวจุกนี้ซุกซน ขึ้นมาจนบนเรือนกูทำไม
ท่านผู้หญิงวิ่งไปยึดไม้ห้าม ตาถามดูให้แน่มาแต่ไหน
ผิดกับเด็กเมืองเราชาวสุโขทัย มันชื่อเรียงเสียงไรไล่เลียงดู
ท่านตาเฒ่าคุกคามถามเสียงอึง พ่อแม่มึงชื่อไรเฮ้ยอ้ายหนู
บ้านช่องอยู่ไหนจะใคร่รู้ ไม่บอกกูกูจะให้เขาใส่คา”
ฉบับนี้ ‘ผมจุก’ ฉบับหน้าถึงเวลา ‘โกนจุก’ •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022