โลกเดือด+ธารน้ำแข็ง ‘หด’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
This image provided by the Ministry of Defence shows the iceberg, known as A23a, on Nov. 25, 2024, off the coast of Antarctica.(Cpl Tom Cann RAF/Crown Copyright 2024 via AP)

ธารน้ำแข็ง หรือ Glacier ในภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติบนโลกใบนี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับสภาวะภูมิอากาศโลกและเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญสุดที่ช่วยให้ชาวโลกหลายพันล้านคนได้ดื่มได้ใช้ประโยชน์

แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านทางเหนืออีสานของบ้านเราก็มีต้นกำเนิดจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย

ถ้าธารน้ำแข็งละลายรวดเร็วอย่างที่นักวิทยาศาสตร์วิตกกังวลในขณะนี้ แน่นอนว่ามีผลสะเทือนถึงไทยด้วย

ปี 2568 นี้สหประชาชาติจึงยกให้เป็นปีแห่งการอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง

 

ธารน้ำแข็งเกิดขึ้นจากการสะสมของหิมะเป็นเวลาหลายศตวรรษ หิมะก่อตัวหนากลายเป็นน้ำแข็งขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศ ถ้าอุณหภูมิต่ำติดลบมีหิมะตกต่อเนื่อง หิมะในพื้นที่นั้นๆ จะก่อตัวเป็นชั้นๆ อัดแน่นเป็นมวลน้ำแข็ง

ทว่า ในเวลานี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็น “ภาวะโลกเดือด” อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น การละลายของธารน้ำแข็งมีมากขึ้นเร็วขึ้น

ช่วงปี 2555-2566 กลาเซียร์ละลายมากกว่าช่วงปี 2543-2554 ราว 36 เปอร์เซ็นต์ ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำแข็งที่ละลายตกราว 273,000 ล้านตันต่อปี หรือเทียบได้กับปริมาณน้ำดื่มน้ำใช้ที่ชาวโลกบริโภคเป็นเวลา 30 ปี

สถิติในรอบ 100 ปี ธารน้ำแข็งซึ่งมีอยู่ทั่วโลก 275,000 แห่ง ละลายกลายเป็นน้ำรวมแล้ว 5% พื้นที่ธารน้ำแข็งละลายมากที่สุดแถบเทือกเขาแอลป์ในยุโรปหายไป 40% ขั้วโลกใต้ละลาย 2%

 

พูดถึงเทือกเขาแอลป์ รัฐบาลสวิสกับอิตาลี ต้องเปิดเจรจาว่าด้วยเขตแดนกันใหม่ เนื่องจากยอดเขาแอลป์ที่ทอดยาวคร่อมเขตเซอร์แมตต์ของสวิสกับหุบเขาออสตาของอิตาลีเปลี่ยนไป สาเหตุมาจากธารน้ำแข็งบนยอดเขาแอลป์ละลาย การเจรจาเขตแดนใหม่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ข้อยุติ

พื้นที่ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ในเขตสวิสละลายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี 2565 ละลายมากถึง 6% ผู้เชี่ยวชาญถึงกับถอดใจเลิกวัดปริมาณกลาเซียร์ของสวิสบางแห่งเพราะไม่มีน้ำแข็งให้วัดอีกต่อไป

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ธารน้ำแข็งบนยอดเขามัตเธอร์ฮอร์น หนึ่งในภูเขาที่สูงที่สุดในยุโรปละลายมากจนซากนักปีนเขาชาวเยอรมันที่หายไประหว่างข้ามธารน้ำแข็งใกล้มัตเธอร์ฮอร์นเมื่อ 40 ปีก่อนโผล่ขึ้นมา

ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาเอลป์ที่อยู่ในพรมแดนสวิสมีอยู่ประมาณ 1,500 แห่ง ผลของการละลายของธารน้ำแข็งกระทบต่อระบบชลประทานและการขนส่งทางน้ำ

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์อาจเลือนหายไป เหลือแต่ภาพในความทรงจำเท่านั้น

 

ยอดเขามาร์โมลาดา (Marmolada) ราชินีแห่งเทือกเขาเดโลไมต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี เป็นยอดเขาสูงที่สุด ซึ่งนักปีนเขาและนักสกีชื่นชอบสถานที่แห่งนี้มากเพราะมีกลาเซียร์ใหญ่สุด หิมะตกหนาสุด ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2431 ถึงปัจจุบัน น้ำแข็งที่ปกคลุมมาร์โมลาดาหายไปเฉลี่ยวันละ 7-10 เซนติเมตร

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ภายในไม่เกินปี 2583 ยอดเขามาร์โมบาดาจะไม่มีกลาเซียร์เหลือให้นักสกีได้เล่นอย่างสนุกและชื่นชมอีกต่อไป

ที่บริเวณขั้วโลกเหนือที่เรียกว่า “สวาลบาร์ด” (Svalbard) เป็นเขตแดนของนอร์เวย์ พื้นที่แห่งนี้ปกคลุมด้วยหิมะและธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ราว 36,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาว ติดลบ 14 องศาเซลเซียส หน้าหนาวจะมืดสนิท หน้าร้อนก็กินเวลาสั้นมาก

ก่อนเกิดปรากฏการณ์โลกเดือด ธรรมชาติสร้างสมดุลให้กับ “สวาลบาร์ด” ด้วยอุณหภูมิที่หนาวเย็นจากเกาะสปิตส์บาร์เกิน (Spitbergen) และการระเหยของน้ำทะเลในทะเลเบรนท์ ทำให้เกิดหิมะ เป็นความสมดุลระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาวนำไปสู่การขยายหรือหดตัวของธารน้ำแข็ง

เมื่อ 2 ปีก่อนกลุ่มกรีนพีซนำภาพถ่ายของ “คริสเตียน อัสลันด์” (Christian Aslund) ซึ่งถ่ายภาพสวาลบาร์ดจุดเดียวกันที่เคยถ่ายไว้เมื่อ 20 ปีก่อนมาเปรียบเทียบ ภาพทั้งสองบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของสวาลบาร์ดอย่างชัดเจน

ภาพที่ “อัสลันด์” ถ่ายเป็นช่วงฤดูร้อนของสวาลบาร์ด ในเวลานั้นหิมะและน้ำแข็งปกคลุมหนาแน่น แต่ภาพถ่ายเมื่อปี 2565 ธารน้ำแข็งหดหายจนเห็นพื้นทะเลกว้างและหิมะปกคลุมบนภูเขามีบางตา (ดูในภาพประกอบ)

“อัสลันด์” บอกกับสื่อว่า เห็นภาพทั้งสองแล้วช็อก อยากให้ชาวโลกเร่งรีบแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนจะสายเกินแก้

“สวาลบาร์ด” ในฤดูร้อน อุณหภูมิเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจนทำสถิติอากาศร้อนที่สุดติดต่อกันมา 3 ปี ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11 องศาเซลเซียส

ภาพถ่ายของ “คริสเตียน อัสลันด์” ยืนส่องกล้องบริเวณสวาลบาร์ดของนอร์เวย์ จุดเดียวกันที่เคยถ่ายไว้เมื่อ 20 ปีก่อนมาเปรียบเทียบกับภาพเมื่อปี 2565 แสดงให้เห็นว่าการปกคลุมของหิมะและธารน้ำแข็งในเขตสวาลบาร์ดหดหายไปมาก (ที่มาภาพ : คริสเตียน อัสลันด์/กรีนพีซ)

ธารน้ำแข็งบนขั้วโลกเหนือละลายจนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Arctic Amplification หรือการขยายตัวของอาร์กติก เมื่อน้ำแข็งละลายเผยให้เห็นผืนน้ำทะเลอันมืดมิด

ปกติแล้วหิมะและธารน้ำแข็งปกคลุมผิวมหาสมุทรจะสะท้อนแสงและความร้อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่เมื่อน้ำแข็งละลาย มหาสมุทรจะดูดซับความร้อน ทําให้พื้นผิวมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศอุ่นขึ้น นําไปสู่การละลายมากขึ้น

การสูญเสียน้ำแข็งในขั้วโลกย่อมส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของกระแสลมที่เรียกว่า “เจ็ตสตรีม” เกิดแรงกดให้เจ็ตสตรีมพัดลงมาทางทิศใต้ ลมอันหนาวเย็นจากขั้วโลกจะกดทับชั้นบรรยากาศเหนือทวีปยุโรป ขณะเดียวกันเมื่อการสะท้อนแสงน้อยลงความร้อนจะถูกดูดซับมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงแผ่ไปทั่วโลก

ดร.ลอร่า เมลเลอร์ หัวหน้าโครงการวิจัยของกลุ่มกรีนพีซ นอร์ดิค บอกว่า ปรากฏการณ์ของสวาลบาร์ด เตือนชาวโลกให้รู้ว่ามหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศนั้นมีปฎิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและกัน

 

นอกจากภาพถ่ายของ “อัสลันด์” แล้ว ยังมีคลิปสารคดีเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-เสียงแห่งกลาเซียร์” (Climate Change-Voice of Glacier) ถ่ายทำโดย Sindre Kolbjørnsgard ชาวนอร์เวย์ ซึ่งเดินทางร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกลาเซียร์ และนักเทคโนโลยีชีววิทยาไปยังเขตสวาลบาร์ด เพื่อบันทึกภาพของการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ดังกล่าวโดยการเปรียบเทียบกับภาพในอดีตเมื่อ 100 ปี

สารคดีเรื่องนี้ ถ่ายทำได้ยอดเยี่ยม ให้ความรู้สึกทั้งบรรยากาศสวยงามของขั้วโลกเหนือและความหดหู่เมื่อนำภาพอดีตมาเทียบภาพปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญใช้ความพยายามในการค้นหาภาพจากแฟ้ม 100 ปีก่อนที่ขาวนอร์เวย์บันทึกไว้หลายร้อยภาพซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุพิกัดละเอียดเหมือนในปัจจุบัน การเดินทางเพื่อค้นหาจุดเดิมในอดีตมาเทียบกับปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

คลิปชิ้นนี้ ความยาว 19:48 นาที แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงชัดเจน นั่นคือ กลาเซียร์หายไปจากสวาลบาร์ดอย่างน่าสลดใจ

ผู้ถ่ายคลิป กล่าวรำพึงว่า มนุษย์ไม่เคยใส่ใจให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมหรอก รู้แค่เพียงว่าเศรษฐกิจนั้นมีความสำคัญกว่า จะมาตระหนักรู้ว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างไรก็สายเกินไปแล้ว

 

กลับมาแถบเอเชียบ้านเรา ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย-ฮินดูกูชได้รับสมญานามว่า “ขั้วโลกที่ 3” นั้นเพราะมีธารน้ำแข็งใหญ่โตมโหฬารประมาณ 45,000 แห่งครอบคลุม 6 ประเทศ พื้นที่ราว 1 แสนตารางกิโลเมตร

ผืนน้ำแข็งแผ่นมหึมาส่วนใหญ่อยู่ในจีนฝั่งตะวันตก เช่น มณฑลซินเจียง ฉิงไห่ เสฉวน เป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ต้นกำเนิดแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลือง แม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำสินธุ หล่อเลี้ยงผู้คนราว 3,000 ล้านคน

ช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งบนเทือกหิมาลัย-ฮินดูกูชละลายเร็วอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะธารน้ำแข็งในทิเบตละลายไปแล้วราว 34.2% กล่าวได้ว่าสถานการณ์ธารน้ำแข็งหิมาลัยเลวร้ายเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

จากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ธารน้ำแข็งมาหิมาลัยละลายเร็วขึ้นกว่าปี ถึง 2543 เท่าตัวแล้ว และมีน้ำแข็งหายไปถึงปีละ 8,000 ล้านตัน ความสูงของธารน้ำแข็งหดตัวลงไป 5 เมตรต่อปี

สำหรับต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงนั้น น่าจะอยู่ที่ธารน้ำแข็งด้านทิศเหนือของภูเขากัวซางมูฉา ในทิเบต ความสูง 5,224 เมตร น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งไหลลงไปเป็นธารน้ำที่ชื่อลาซากงมา รวมตัวเป็นแม่น้ำจายาชู กลายเป็นแม่น้ำหลานชางเจียง หรือแม่น้ำล้านช้างในภาษาจีนหรือแม่น้ำโขง

ธารน้ำแข็งจุดกำเนิดแม่น้ำโขงก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในยามนี้คือ น้ำแข็งละลายไหลลงสู่ทะเลจะมีมากเกินไป ทำให้พื้นที่ชายฝั่งต้องจมน้ำเร็วขึ้น ดังนั้น ประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบคือพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม

ธารน้ำแข็งของแม่น้ำโขงที่ละลายเร็วผิดปกติไม่ได้ทำให้เกิดภัยแล้งในระยะสั้น แต่จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะยาว เหยื่อของหายนะแม่น้ำโขงคือลาว ไทย พม่า และจีน

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องมีผลต่อกลาเซียร์ ภายในสิ้นศตวรรษนี้ กลาเซียร์หลายแห่งจะละลายจนหมดสิ้น และน้ำแข็งที่ละลายไหลลงสู่ทะเลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มีผลกระทบกับเมืองชายฝั่งทั่วโลก น้ำทะเลเอ่อท่วม

ผู้คนพากันอพยพหนีตาย นำไปสู่ความปั่นป่วนอลหม่าน •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]