นักวิจัยชี้ ‘จิบกาแฟทุกเช้า’ ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

นักวิจัยชี้ ‘จิบกาแฟทุกเช้า’

ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

 

มูลนิธิ Heart and Stroke ประเทศ Canada ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัย ที่ชี้ให้เห็นว่า การดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

“หากคุณเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกาแฟ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ นี่คือทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพหัวใจ”

“ข่าวลือที่ว่า กาแฟไม่ดีต่อหัวใจของคุณกำลังจะหมดไป ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงบางประการที่จะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจ เมื่อได้จิบเครื่องดื่มที่คุณโปรดปรานตอนเช้า”

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เพราะกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เรียกว่า Polyphenols

การดื่มกาแฟในปริมาณปานกลาง อาจช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟในปริมาณมากก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน

กาแฟเท่าไหร่ถึงจะมากเกินไป?

 

หากคุณดื่มกาแฟ 2 หรือ 3 แก้วต่อวัน ถือว่าอยู่ในภาวะที่เหมาะสม แน่นอนว่า กาแฟไม่ใช่ปัญหา แต่กาเฟอีนในกาแฟต่างหากที่ต้องระวัง

เพราะกาเฟอีนไม่ได้มีอยู่ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังมีในชา เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม

กาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นที่เร่งการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งหมายความว่า กาเฟอีนอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ซึ่งทำให้บางคนเชื่อว่า กาเฟอีนไม่ดีต่อสุขภาพหัวใจ

แต่ความเป็นจริงก็คือ คนส่วนใหญ่สามารถทนต่อกาเฟอีนได้ดี และแม้แต่ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจ ก็สามารถดื่มกาแฟได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม หากแพทย์แนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงกาเฟอีน หรือถ้าคุณแพ้กาเฟอีน คุณต้องหลีกเลี่ยงกาเฟอีนทันที

 

3 ตำนานกาเฟอีนที่ถูกหักล้าง

ความเชื่อผิดๆ : ฉันจะนอนไม่หลับหากดื่มกาแฟ

ความจริง : กาแฟมีประโยชน์ในการต่อต้านความอ่อนล้าก็จริง แต่อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอน หรือทำให้นอนไม่หลับได้

สิ่งสำคัญก็คือ การดื่มกาแฟจะช่วยให้ร่างกายคุณตื่นตัว แต่ควรหยุดดื่มประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

แน่นอนว่า แต่ละคนมีความไวต่อกาเฟอีนต่างกัน และอาจต้องการเวลาระหว่างการบริโภคกาเฟอีน กับการนอนหลับมากขึ้น หรือน้อยลงต่างกัน

ความเชื่อผิดๆ : กาแฟทำให้ร่างกายขาดน้ำ

ความจริง : แน่นอนว่ากาแฟ 1 แก้ว มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 99% คุณอาจเคยได้ยินมาว่า “กาเฟอีนจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากเป็นยาขับปัสสาวะอ่อนๆ แปลไทยเป็นไทยก็คือ กาเฟอีนทำให้ร่างกายขับปัสสาวะมากขึ้น”

ตรงกันข้ามเลยก็คือ กาแฟจะช่วยปรับสมดุลร่างกาย โดยคุณจะไม่สูญเสียน้ำมากกว่าที่ร่างกายดื่มเข้าไป ร่างกายจะไม่ขาดน้ำ หากคุณดื่มกาแฟ 2-3 แก้วต่อวัน แต่โปรดทราบว่า แพทย์ไม่แนะนำให้ดื่มกาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน

ความเชื่อผิดๆ : การเติมน้ำตาลในกาแฟ ไม่ดีต่อสุขภาพ

ความจริง : เป็นเรื่องของความพอประมาณ การเติมน้ำตาล 1 ช้อนชาไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราแนะนำให้เติมน้ำตาลไม่เกิน 12 ช้อนชาต่อวันในอาหาร และเครื่องดื่มทั้งหมด

ดังนั้น การเติมน้ำตาลเพียงเล็กน้อยในกาแฟจึงไม่เป็นไร การศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเติมน้ำตาลในกาแฟไม่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ควรใช้ความระมัดระวังเมื่อดื่มกาแฟเย็นที่หวาน หรือกาแฟที่ปรุงรสด้วย Syrup หรือ Caramel เพราะอาจมีน้ำตาลมากถึง 20 ช้อนชา

 

งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Heart Journal ระบุว่า การดื่มกาแฟตอนเช้า อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

การศึกษาดังกล่าวพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟในตอนเช้า มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจต่ำกว่าคนที่ดื่มกาแฟในช่วงเวลาอื่น

ดร. Lu Qi หัวหน้าทีมวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่ง Tulane University สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การดื่มกาแฟหลังผ่านช่วงเช้าของวันไปแล้ว อาจรบกวนระบบนาฬิกาชีวภาพของเรา

“การดื่มกาแฟหลังจากช่วงสายแล้ว หรือในช่วงบ่ายถึงเย็น อาจไปรบกวนนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย รวมถึงระดับฮอร์โมนต่างๆ เช่น Melatonin” ดร. Lu Qi กล่าว

ดร. Lu Qi และทีมวิจัยจาก Tulane University เมือง New Orleans ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 40,725 คน

ที่สมัครเข้าร่วมโครงการทดสอบด้านสุขภาพ และโภชนาการแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1999 ถึงปี ค.ศ.2018

ในช่วงของการเก็บข้อมูล ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับอาหารที่พวกเขากินในชีวิตประจำวัน รวมถึงพฤติกรรมการดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคกาแฟ ทั้งในแง่ปริมาณการดื่ม และช่วงเวลาที่ดื่ม

“จากผลกระทบของกาเฟอีนที่มีต่อร่างกายของมนุษย์ เราจึงต้องการดูว่า ช่วงเวลาที่ดื่มกาแฟ มีผลกระทบต่อสุขภาพของหัวใจหรือไม่” ดร. Lu Qi กล่าว และว่า

แม้จะมีงานวิจัยในอดีตจำนวนมากที่ชี้ว่า การดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

แต่การทดลองครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาครั้งแรกที่วิจัยเกี่ยวกับเวลาการดื่ม และผลกระทบต่อสุขภาพ

 

ผลการวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ที่ดื่มกาแฟตอนเช้า 36% และอีก 14% เป็นผู้ที่ดื่มกาแฟในช่วงเวลาอื่นของวัน

จะเห็นได้ว่า ดร. Lu Qi และทีมวิจัย ได้มีการติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเวลาเกือบ 10 ปี เพื่อเก็บข้อมูลการดื่มกาแฟ และสาเหตุการเสียชีวิต

อย่างไรก็ดี มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นรวม 4,295 คน ในจำนวนนี้ มีสาเหตุที่เกียวข้องกับโรคหัวใจ หรือ 10% นิดๆ

อย่างไรก็ตาม ดร. Lu Qi พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟตอนเช้า มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟถึง 16% และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจน้อยกว่าถึง 31%

สำหรับกลุ่มที่ดื่มกาแฟในช่วงเวลาอื่น ไม่พบว่ามีความเสี่ยงลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ

การดื่มกาแฟในตอนเช้าอาจสัมพันธ์อย่างมากกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าการดื่มกาแฟในช่วงเวลาหลังจากตอนเช้าของวัน ดร. Lu Qi ระบุ

“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ดื่มกาแฟตอนเช้า กับผู้ที่ดื่มกาแฟในช่วงเวลาอื่นของวัน ปริมาณการดื่มกาแฟที่สูงขึ้นในผู้ที่ดื่มกาแฟตอนเช้ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ต่ำกว่า” ดร. Lu Qi สรุป

 

ศาสตราจารย์ ดร. Professor Thomas L?scher แห่งโรงพยาบาล Royal Brompton and Harefield ในกรุง London สหราชอาณาจักร ตั้งคำถามว่า เหตุใด ช่วงเวลาของวันจึงมีความสำคัญ?

“เพราะช่วงเช้าของวัน กิจกรรมของระบบประสาท Sympathetic ที่ทำให้ร่างกายตื่นตัวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทันทีที่เราตื่นนอน และลุกจากเตียง จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงในระหว่างวัน และอยู่ในระดับต่ำสุดในช่วงที่เรานอนหลับ”

ศาสตราจารย์ ดร. Professor Thomas L?scher เห็นด้วยกับ ดร. Lu Qi ที่ว่า มีความเป็นได้ที่การดื่มกาแฟในช่วงเวลาอื่นของวัน อาจรบกวนนาฬิกาของร่างกายในเวลาที่ร่างกายควรได้พักผ่อน

“จริงๆ แล้ว คนที่ดื่มกาแฟในเวลาอื่นของวัน หลายคนมักประสบปัญหาการนอน” ศาสตราจารย์ ดร. Professor Thomas L?scher กล่าว และว่า

เพราะกาแฟจะไปกดฮอร์โมน Melatonin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญในสมองที่ช่วยกระตุ้นการนอนหลับ

ศาสตราจารย์ ดร. Professor Thomas L?scher สรุปว่า คนที่ดื่มกาแฟในตอนเช้ามักมีแนวโน้มที่จะดื่มชา หรือน้ำอัดลมที่มีกาเฟอีน

แต่จะดื่มกาแฟในปริมาณที่น้อยลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มกาแฟในช่วงเวลาอื่นของวัน