ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
บทบาท ของ ‘สื่อ’
ชนชั้น ‘นำ’ ชนชั้น ‘กลาง’
ฐานะ สะพานเชื่อม
หากใครได้อ่านหนังสือ “ชีวประวัติย่อ นายปรีดี พนมยงค์” อันตีพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 110 ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ โดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553
ในตอนว่าด้วย “พลังตกค้าง” แห่ง “ระบบเก่า” ก็เห็นได้ชัดเจน
ว่า “บุคคลในวรรณะเก่าบางคนเป็นผู้ก้าวหน้าที่มองเห็นกฎแห่งอนิจจัง ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของวรรณะ โดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีศีลสัตย์ซึ่งสมควรได้รับความสรรเสริญ นักปราชญ์ซึ่งเป็นต้นฉบับแห่งวิทยาศาสตร์ทางสังคมใหม่กล่าวไว้ตามรูปธรรมที่เห็นจริงว่า
“ในที่สุด ขณะที่การต่อสู้ของวรรณะจวนจะถึงคราวเด็ดขาด ความเสื่อมสลายกำลังดำเนินไปภายในวรรณะปกครอง
ที่จริงนั้นเก่าทั้งกระบวนดังว่านั้นรุนแรงและเกรี้ยวกราด
จึงมีชนในวรรณะปกครองส่วนน้อยแผนกหนึ่งละทิ้งวรรณะของตนและเข้าร่วมในวรรณะอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นวรรณะที่กุมอนาคตไว้ในมือ ดั่งเช่นเดียวกับในสมัยก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งของวรรณะขุนนางได้ไปเข้ากับวรรณะเจ้าสมบัติ (นายทุนสมัยใหม่)
ดังนั้น ในสมัยนี้ส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติก็ไปเข้าข้างวรรณะผู้ไร้สมบัติ โดยเฉพาะส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติผู้มีปัญญาที่ได้พยุงตนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจทฤษฎีแห่งขบวนวิวรรตการทั้งปวง”
นายปรีดี พนมยงค์ จึงระบุว่า ภายใน “พลังเก่า” แห่งสยามเคยมีบุคคลส่วนหนึ่งที่ก้าวหน้ากว่าผู้ที่เกาะแน่นอยู่ใน “ความคิดเก่า”
มีผู้ใดบ้างและมีการเคลื่อนไหวอย่างไรจำเป็นต้องอ่าน
ความคิด ประชาธิปไตย
ก่อรูป ภายใน “ชนชั้นสูง”
คือ ปรากฏว่าเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้วได้มีพระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ คือ กรมหมื่นนเรศร์ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (ต่อมาเป็น กรมขุนพิทยลาภ) พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ต่อมาเป็น สมเด็จกรมพระสวัสดิ์)
และข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน
อาทิ หลวงอาจสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร์ ต่อมาเป็น พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา ผู้รักษากรุงเก่า) สับเลฟท์เทอแนนท์ สะอาด (สกุล “สิงหเสนี” ต่อมาเป็น นายพลตรี พระยาประสิทธิศัลยการ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน แล้วได้เป็นพระยาสิงหเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา) ฯลฯ
ได้เคยทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
ท่านเหล่านี้มีลักษณะก้าวหน้า แต่ท่านมีทรรศนะไม่ไกลถึงขนาดขอให้สยามมีระบบรัฐสภาที่ราษฎรมีส่วนในการเลือกผู้แทน และถึงขนาดที่เสนาบดีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร
แต่ก็นับว่าท่านเหล่านี้มีความกล้ามากในการกราบบังคมทูล
ปัญญาชนรุ่นปัจจุบันที่เป็นพลังใหม่แท้จริงไม่ควรสะดุดอยู่แต่เพียงเห็นว่าเคยมีพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวแล้วได้มีความคิดก้าวหน้าเท่านั้น ขอให้ติดตามค้นคว้าต่อไปให้สิ้นกระแสความว่าพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตอบคำกราบบังคมทูลนั้นว่ากระไร
และได้มีพระราชดำรัสในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาว่ากระไรในเรื่องการปกครองในระบบรัฐสภา
และมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชธิดาองค์หนึ่งในหนังสือ “ไกลบ้าน” ตอนที่เสด็จนอร์เวย์ว่ากระไร
ชนชั้นนำ รุ่นใหม่
กระจาย ความคิดใหม่
เมื่ออ่าน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย” ของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ในบทว่าด้วย “ความขัดแย้งในระบบราชการ” ก็จะเข้าใจไม่เพียงแต่การเกิดขึ้นของกลุ่ม “สยามหนุ่ม”
หากยิ่งจะเข้าใจต่อ “บรรยากาศ” ทางความคิดและทางการเมืองในห้วงเวลาเดียวกันนั้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
นั่นก็คือ
สมาชิกกลุ่มชนชั้นนำใหม่มาจากคนกลุ่มเดียวกันที่ได้เข้าร่วมสันนิบาตลับ บ้างเป็นสมาชิกกลุ่ม “สยามหนุ่ม” ด้วย
สมาชิกคนสำคัญ ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เจ้านายผู้อุทิศตนถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่งและเป็นผู้วิจารณ์พระองค์น้อยที่สุด
สมาชิกคนอื่นๆ ประกอบด้วย จมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง-ชูโต) รองผู้บังคับการ กรมทหารหน้า ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้วางพระทัยมากที่สุด
จมื่นศรีสรรักษ์ (หม่อมราชวงศ์เล็ก ศิริวงศ์) ผู้ช่วยของจมื่นไวยวรนารถ
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เจ้านายหนุ่มหัวก้าวหน้าซึ่งต่อมาเสด็จไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
ส่วนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ บัณฑิตจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งถือเป็นสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากตะวันตก ได้กล่าวอ้างในภายหลังว่าทรงเป็นสมาชิกของสันนิบาตด้วย
พระองค์มีความสัมพันธ์อันดีกับ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เจ้านายฝ่ายตุลาการผู้มีความสามารถและฉลาดหลักแหลม
สมาชิกในกลุ่มยังรวมถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมาชิกยุคแรกเริ่มของ “สยามหนุ่ม”
และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
ก.ศ.ร.กุหลาบ เทียนวรรณ
เสียงจาก ประชาสามัญชน
เมื่ออ่านงานของ เบนจามิน เอ. บัทสัน อัน พรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงษ์ ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา ร่วมกันแปล โดยมี กาญจนี ละอองศรี ยุพา ชุมจันทร์ ร่วมเป็นบรรณาธิการคณะแปล
ตีพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2543
ก็จะเห็นการปรากฏขึ้นของ “พลังใหม่” อันเป็นตัวแทนแห่ง “ชนชั้นกลาง”
นั่นคือ ทั้ง ก.ศ.ร.กุหลาบ และเทียนวรรณ เป็นนักเขียนใหญ่ที่ไม่มีใครทราบภูมิหลังแน่ชัด
เป็นส่วนหนึ่งของ “ชนชั้นกลาง” ที่กำลังเติบโตในสยามในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างได้รับการศึกษาดีและมีฐานะ แต่ไม่เป็นเชื้อพระวงศ์หรือสืบทอดสายเลือดขุนนางชั้นนำ
มีชีวิตและทัศนะผูกพันกับเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นเสมียนและเจ้าหน้าที่ระดับล่างๆ ในหน่วยราชการทหารและพลเรือนหรือในธุรกิจการค้า
ชนชั้นกลางที่เผยโฉมขึ้นมานี้รวมทั้งคนที่มีภูมิหลังเป็นชาวจีนและคนต่างเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งยังมีจำนวนน้อย ขณะที่คนเหล่านี้มีอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่พอประมาณ ส่วนใหญ่พวกเขาไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ตอนปลายรัชกาลที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 การก่อกวนเริ่มจากกลุ่มสนใจการเมืองซึ่งมีฐานอย่างกว้างขวางในสยาม
ความก้าวหน้าของสยามภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกมองและตีค่าโดยเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าของประเทศอื่นๆ ภายใต้การปกครองระบบอื่น ตัวอย่างที่นำมากระตุ้นเร่งเร้าก็คือญี่ปุ่น
นักการทูตชาวอเมริกันในยุคนั้นตั้งข้อสังเกตว่า
“สิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้สยามอึดอัด เมื่อนึกเปรียบเทียบความก้าวหน้าของประเทศตนกับเอกราชที่ญี่ปุ่นเพิ่งได้รับ”
การเกิดชนชั้นกลางใหม่ๆ พร้อมกับการพิมพ์ซึ่งเริ่มเข้ามาและพัฒนาในสยามทำให้มีทางเป็นไปได้ที่ทำให้สยามมีทางเลือกใหม่สำหรับระเบียบทางสังคมและการเมือง
บทบาท สะพานเชื่อม
ชนชั้นนำ ชนชั้น “กลาง”
ระหว่าง “ชนชั้นนำ” กับ “ชนชั้นกลาง” ล้วนมี “หนังสือพิมพ์” ดำรงอยู่อย่างเป็นสื่อเป็น “สะพานเชื่อม”
เชื่อม “ความคิด” เชื่อม “การเคลื่อนไหว”
บทบาทนั้นเมื่ออ่าน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย” ของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ก็จะประจักษ์
ประจักษ์ถึง “บทบาท” ในสถานะแห่งการเป็น “สะพานเชื่อม”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022