สหรัฐอเมริกากับยูเครน เมื่อยุโรปถึงครา ‘ตาสว่าง’

บทความต่างประเทศ

 

สหรัฐอเมริกากับยูเครน

เมื่อยุโรปถึงครา ‘ตาสว่าง’

 

ผลการหารือแบบต่อหน้าต่อตา ระหว่าง โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดี ที่ทำเนียบขาว เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถูกระบุว่าเป็น “หายนะ” ทางการทูตโดยแท้

ผลลัพธ์ที่ลงเอยด้วยความผิดหวัง ฉุนเฉียวของฝ่ายหนึ่ง กับความกราดเกรี้ยว หยาบคายของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่นำไปสู่การประกาศยุติการสนับสนุนทางทหารต่อยูเครนนั้น ไม่เพียงสั่นคลอนความมั่นคงของยูเครนเท่านั้น

หากยังส่งผลสะเทือนแผ่เป็นวงกว้างไปทั่วยุโรป เพราะความเคลือบแคลงกังขาว่าด้วยความน่าเชื่อถือของพันธมิตร ที่เคยตกตะกอนนอนก้นมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกกระพือจนปั่นป่วนคละคลุ้งขึ้นมาอีกคำรบ

ความแตกตื่นตกใจ คืบคลานไปทั่วยุโรป บรรดานักวิเคราะห์และผู้กุมอำนาจในการกำหนดนโยบาย พากันตระหนกกับการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกา บางคนเริ่มพูดถึงวาระสิ้นสุดลงของ “นาโต” หรือไม่ก็การล่มสลายของคำว่า “โลกตะวันตก”

ที่เหลือเริ่มใคร่ครวญอย่างพินิจพิเคราะห์ถึง “เจตนา” ที่แท้จริงของทรัมป์ ใช่หรือไม่ว่านี่คือส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่จะไม่ให้ยูเครนได้อยู่รอดปลอดภัยในฐานะชาติอธิปไตยและมีเสรีในระยะยาว?

หรือเป็นเพียงแค่ “วาระซ่อนเร้น” ทางการทูต ของความพยายามดึง วลาดิมีร์ ปูติน ให้ออกห่างจากการสนิทแนบแน่นกับผู้นำจีนอย่าง สี จิ้นผิง หันมาผูกพันพึ่งพาเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น?

 

ทุกคำถามไม่มีคำตอบ

ข้อเดียวที่กระจ่างชัดและเป็นประจักษ์แก่ตา ก็คือ รอยร้าวฉานขนาดมหึมาที่เกิดขึ้นแทนที่ความไว้วางใจซึ่งกันและกันของสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติก

รอยปริร้าวที่ไม่เพียงเป็นเสมือนหนึ่งหายนะของความสมานฉันท์ซึ่งกันและกันเท่านั้น

อาจยังสามารถกลายเป็นเรื่องในทางลบกับความทะยานอยากไปสู่ความเป็น “เอกะมหาอำนาจ” ของสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย

นี่นับเป็นครั้งแรกในช่วงระยะเวลายาวนาน ที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ ทำให้บรรดาผู้นำทั้งหลายในภาคพื้นยุโรป เกิดความไม่แน่ใจ เคลือบแคลงสงสัยขึ้นมาว่า สหรัฐอเมริกาจะยังคงยึดมั่นกับพันธกรณีที่มีต่อนาโต อยู่หรือไม่ และพร้อมที่จะรับบทบาท “นำ” ต่อไปหรือเปล่า

หรือจะตัดสินใจง่ายๆ เพียงแค่ทิ้งยุโรปไว้ ให้เผชิญหน้ากับรัสเซียเพียงลำพังเท่านั้นเอง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจซึ่งทำให้เรื่องดูซับซ้อนมากยิ่งขึ้นก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ยูเครนสามารถอยู่รอดต้านทานการรุกคืบของรัสเซียมานานจนถึงบัดนี้ได้ ทรัมป์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหารชี้ว่า การบุกรุกเพื่อยึดครองของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 สามารถบรรลุผลได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วันตามแผนที่วางไว้ ถ้าหากไม่ใช่เพราะสหรัฐอเมริกาเริ่มจัดส่งอาวุธหลากชนิด โดยเฉพาะจรวดต่อต้านรถถัง เจฟลิน ให้กับยูเครนภายใต้การตัดสินใจของทรัมป์ เวอร์ชั่น 1.0

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมทรัมป์จะต้องมาทำลาย “ความสำเร็จ” ที่ตนสร้างมากับมือที่ว่านั้นด้วยเล่า?

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐอเมริกาตระหนักดีว่า การปล่อยให้ยุโรปรับมือกับรัสเซียเพียงลำพังนั้น อันตรายแค่ไหน

อุทาหรณ์ที่ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ เหตุการณ์การผนวกดินแดนคาบสมุทรไครเมียและภาคตะวันออกของยูเครนโดยรัสเซียเมื่อปี 2014 ที่เกิดขึ้นได้ เพราะฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นอย่าง บารัก โอบามา ตัดสินใจที่จะปล่อยให้ยุโรปดำเนินการเรื่องนี้เพียงลำพัง ที่ลงเอยด้วยความล้มเหลว

ไม่เพียงไม่สามารถป้องกันการผนวกดินแดนได้เท่านั้น ยังกระตุ้นให้รัสเซียเหิมเกริมหนักจนตัดสินใจบุกยึดครองยูเครนในปี 2022 อีกด้วย

 

เมื่อมองลึกลงไปในเบื้องหลังความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับยูเครน

ข้อกังขาประการหนึ่งปรากฏเด่นชัดขึ้นมา นั่นคือคำถามที่ว่า ยุโรปมองตัวเองว่าอยู่ตรงไหนกันแน่ในสมการความมั่นคงครั้งนี้

สหรัฐอเมริกามีกำลังทหารประจำการอยู่ไม่น้อยในยุโรป กระนั้นก็ไม่มีทางที่จะเทียบเคียงได้กับกองกำลังหลายแสนคนของรัสเซียในยูเครน และอีกมหาศาลที่ปักหลักมั่นอยู่ตามแนวชายแดนด้านตะวันตกของประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐอเมริกาประกาศหลักการสำคัญประการหนึ่งเรื่อยมา นั่นคือ จะไม่มีวันอนุญาตให้ทหารอเมริกันก้าวลงสู่สมรภูมิในยูเครนแน่นอน

คำถามที่ตามมาก็คือว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ในกรณีที่มีความตกลงสันติภาพใดๆ เกิดขึ้น กองกำลังที่ไหนจะเป็นผู้รับประกันสันติภาพดังกล่าวนั้นในยูเครน?

ใช่หรือไม่ว่า ยุโรปจำเป็นต้องตระหนักถึงนัยสำคัญของการนี้ และประกาศออกมาอย่างเต็มตัวว่าพร้อมจะเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ยุโรปเองต่างล้วนซึมซาบด้วยตัวเองเป็นอย่างดีว่า ความตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลเฉพาะกับยูเครนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการจัดการและการเตรียมการในด้านความมั่นคงของทั่วทั้งภาคพื้นยุโรปด้วยอีกต่างหาก

นัยสำคัญของการเตรียมการและการจัดการด้านความมั่นคงที่ว่านี้ จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากคำนึงถึงว่าคู่กรณีอย่างรัสเซีย แม้จะยินยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา ก็ต้องยื่นเงื่อนไขที่ตนเองได้ประโยชน์สูงสุดออกมา

เงื่อนไขที่แน่ใจว่าฝ่ายตรงกันข้ามไม่มีวันยอมรับ นั่นหมายถึงว่า สหรัฐอเมริกาอาจต้องคงกองกำลังในยุโรปไว้ต่อไปอีกนาน แต่กลับเป็นกองกำลังที่ไม่อาจใช้ หรือไว้วางใจได้

กระบวนการสันติภาพกลายเป็นกระบวนการที่ยืดเยื้อและเจ็บปวดสำหรับยุโรปและสหรัฐอเมริกา

 

ในยามนี้ยุโรปไม่เพียงต้องการกองกำลังของตนเองที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในยุโรปได้เท่านั้น

ยังต้องการ “ภาวะผู้นำใหม่” ที่สามารถแสดงให้โลกเห็นได้ว่า มีความสามารถเพียงพอในการแบกรับภาระหนักหนาสาหัสได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอานุภาพของพันธมิตรไปด้วยในตัว

และแสดงให้คนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เห็นว่า วิธีการที่ดีที่สุด เพื่อการยุติสงครามในยูเครนอย่างแท้จริง ต้องมีทั้งยุโรปและยูเครนร่วมอยู่ในกระบวนการสันติภาพที่นำโดยสหรัฐอเมริกานี้ด้วยอย่างจริงจัง