ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน
ศึกชิง “ประมุขบ้านอัมพวัน”
ขอโรเตชั่นข้ามสายออกจากสนามข่าวการเมือง ตามไปดูชมศึกชิง “ประมุขบ้านอัมพวัน” กับการเลือกตั้ง “ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” คนใหม่ ที่จะระเบิดเถิดเทิงขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2568 ซึ่งขณะนี้โค้งสุดท้ายมีข่าวว่ากำลังขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น
ห้องเครื่องที่ทำให้เกิดศึก ปฐมเหตุมาจาก “บิ๊กบราเธอร์-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เมื่อครั้งที่ 3 ป.รุ่งเรืองรวยอำนาจ นอกจากได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ใหญ่มหึมาแล้ว ยังได้รับฉันทานุมัติจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ขณะนั้นให้กำกับดูแลด้านกีฬา ในหลากหลายตำแหน่ง
และในฐานะนายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย จึงไม่มีใครกล้าแหยม สามารถหยิบชิ้นปลามันในตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอนเกาสะดือติดต่อกันมา 3 สมัยซ้อน
แต่คำว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ มันเป็นสิ่งไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์ ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน เป็นเรื่องจริง “บิ๊กป้อม” หลังเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 อำนาจวาสนา ถดถอย มนต์เสื่อมทรุด ตำแหน่งแห่งหนค่อยๆ ทยอยหลุดมือ
ตำแหน่งประธานโอลิมปิคฯ เสมือนสมบัติก้นหีบ จิ๊กซอว์มาจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย ไม่มีใครกล้าหือกล้าอือ นั่งมา 3 สมัยซ้อน แต่ช่วงขาลง ทำเอาวงการกีฬาพากันครางฮือ
เมื่อ “พล.ท.บุญชัย เกษตรตระการ” รองจเรกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศศักดา “แจ๊กฆ่ายักษ์” ลงชิงเก้าอี้นายกกีฬาทางน้ำฯ ท้าชนตึก สู้ “บิ๊กป้อม” ซึ่งปรากฏว่า ตึกล้มระเนระนาด ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก แลนด์สไลด์ซะด้วย 231 เสียง “บิ๊กป้อม” ได้แค่จิ๊บจิ๊บ 22 เสียง
การเสียแชมป์แบบหมดรูป สิ้นลาย ก่อมรรคผลให้ “พล.อ.ประวิตร” ชนปังตอ ไปต่อในตำแหน่งประธานโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ไม่ได้ เพราะตามไฟต์บังคับที่คณะกรรมการโอลิมปิคฯ วางกฎเหล็กไว้ว่า “ผู้สมัครต้องดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาชนิดหนึ่งชนิดใด”
การที่ “บิ๊กป้อม” สามารถนั่งเก้าอี้นวมประธานโอลิมปิคฯ เพราะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาทางน้ำฯ เมื่อแพ้เลือกตั้งก็หมดสิทธิ์ลงโดยอัตโนมัติ วงการกีฬาจึงต้องเลือกตั้ง เพื่อหาบุคคลผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง “ประมุขบ้านอัมพวัน” ใหม่ นัดชี้ชะตากันในวันที่ 25 มีนาคม
โดยกระบวนการเลือกตั้งประธานโอลิมปิคฯ เริ่มจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 37 สมาคม โหวตเลือกตัวแทนเหลือ 23 คนไปทำหน้าที่เลือกร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวไทย ตัวแทนนักกีฬาโอลิมปิกชาวไทย และอีก 10 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งหมดเต็มคณะ 35 คน จะเป็นผู้ชี้ขาด
“โฟกัสไปที่ผู้ชิงตำแหน่ง” ม้าออกจากซองนำร่องไปตั้งแต่ไก่โห่ 2 ราย ประกาศลงชิงตำแหน่งชัวร์ป้าบล่วงหน้าคือ “นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม” นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย กับ “ผศ.พิมล ศรีวิกรม์” นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย 2 แคนดิเดตไม่เพียงแต่ออกเดินสายขอเสียงจากสมาคมกีฬาอื่นๆ อย่างเดียว ยังวางตัวทีมงาน ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และรองประธานกันเป็นที่เรียบร้อย ไผเป็นไผ วงการกีฬารู้แจ้งแทงทะลุกันหมดแล้ว
แต่ช้าก่อน แกนนำกีฬาหลายสมาคม ส่องกล้อง สำรวจตรวจสอบ เอ็กซเรย์แบ๊กกราวด์ทุกบริบท ทุกออปชั่นแล้ว หลายสมาคมพร้อมที่จะเทคะแนนให้การสนับสนุน “คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล” ที่ดีกรีเรี่ยมเร้เรไร (เยี่ยมมาก) ระดับเวิลด์คลาส เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) โดยจะเสนอชื่อเข้าชิงในฐานะนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย
ซึ่งสามารถเข้าชิงได้โดยอัตโนมัติ ตามธรรมนูญของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ไม่เหมือนของไอโอซี ที่จำเป็นต้องยื่นใบสมัคร ตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดจากองค์กรอิสระ จึงประกาศชื่อแคนดิเดตก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่ของโอลิมปิคไทย ใช้วิธีการเสนอชื่อในวันประชุมใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องยื่นใบสมัครหรือประกาศตัวว่าจะลงชิงตำแหน่ง ในวันดังกล่าว มีสมาชิกมองเห็นว่า “คุณหญิงปัทมา” สามารถทำประโยชน์ รังสรรค์ให้กับวงการกีฬาไทยได้ เสนอชื่อในที่ประชุมใหญ่ได้เลย
“ขาเชียร์” มองว่า “คุณหญิงปัทมา” ซึ่งได้รับฉายาจากสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ว่า “นางพญาโอลิมปิก” ทำงานให้กับวงการกีฬาในหลายมิติ นอกจากเป็นกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล-ประธานคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก-รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก-นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย-สมาชิกคณะกรรมการบริหารสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย”
เหนือสิ่งอื่นใด คือ “คุณหญิงปัทมา” ถือว่าเป็นผู้หญิงเก่ง ไม่ธรรมดา ซูเปอร์คอนเน็กชั่นระดับโลก สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน มีวิสัยทัศน์ สร้างและเชื่อมโยงระหว่างกีฬาได้ยอดเยี่ยม
นอกจากนั้นแล้วยังมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม และดนตรี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังช่วยเหลือสมาคมกีฬา ให้เข้าไปนั่งในสหพันธ์นานาชาติ ทั้งยังเป็นผู้ช่วยแก้ปมปัญหาไทยติดโทษแบนเรื่องโด๊ปหรือสารกระตุ้น จากวาดา จนประสบผลสำเร็จ เรียกว่าสร้างผลงานเชิงประจักษ์ให้กับวงการกีฬาไว้มากมาย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโอลิมปิคไทยมาตั้งแต่ปี 2491 ศิโรราบรวม 77 ปี ร้อยละ 99.99 ประธานโอลิมปิคมาล็อกกระดาน เป็น “นายพล-นายทหารกับทายาททางการเมือง”
ย้อนกงล้อประวัติศาสตร์ตัดฉากพลิกไปดูปูมหลัง ระหว่างปี 2512-2520 “พล.อ.ประภาส จารุเสถียร” 2520-2539 “พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์” ปี 2540 “พล.อ.สุรพล บรรณกิจโสภณ” ปี 2544 “พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร” ปี 2548-2559 “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” ปี 2564-2567 “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”
แต่หลังวันที่ 25 มีนาคม ประธานโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ “ผลัดใบ” เปลี่ยนสีแน่นอน ไม่ใช่คนในวงการทหารเข้ามายึดหัวหาด เพราะผู้ที่มีรายชื่อเข้าชิง 3 คนเป็นพลเรือนเต็มขั้น
1. “นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม” 2. “พิมล ศรีวิกรม์” และ 3. “คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022