สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ซีพี Kitchen Of Vietnam (6)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เสร็จภารกิจที่มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอย รถข้ามแม่น้ำแดงไปตามเส้นทางฮานอย ไฮฟอง ท่าเรือน้ำลึกเก่าแก่เลื่องชื่อ มุ่งหน้าสู่อาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ที่ขยายการลงทุนไปต่างประเทศแล้ว 15 แห่ง

จีน รัสเซีย ไต้หวัน ปากีสถาน ตุรกี สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม รวมประเภทธุรกิจ 13 กลุ่ม

รถวิ่งผ่านนิคมอุตสาหกรรมไห่เฮือง สองข้างทางโรงงานนานาชนิดปรากฏขึ้นเป็นระยะ เปอโยต์ ซีตรอง ซัมซุง ฯลฯ หน้าโรงงานแต่ละที่ เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์จอดเป็นแถวหลายร้อยคัน

ถึงที่หมาย CP Vietnam Corporation ที่ตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ ก้าวผ่านประตูเข้าไป ภาพประธานาธิบดีโฮจิมินห์ในท่านั่งบนโต๊ะทำงานโดดเด่นติดอยู่บนฝาผนัง

เลยเข้าไปในตัวอาคาร ภาพเจ้าสัว 4 พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ นำโดยธนินท์ เรียงติดกันพร้อมคำประกาศวิสัยทัศน์เป็นภาษาอังกฤษให้พนักงานและผู้มาเยือนได้ซึมซับร่วมกัน

คณะผู้บริหารทั้งเวียดนามและไทยมารอรับ บอกว่าวิสัยทัศน์ของโรงงาน คือ Kitchen Of Vietnam ตามพันธกิจ พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ตอบสนองสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลสุขลักษณะ

“ภายใต้ปรัชญาของบริษัทที่ท่านประธานธนินท์ให้ไว้เป็นหลักปฏิบัติคือ คิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงประเทศที่ซีพีไปลงทุน ประโยชน์ของประชาชน และประโยชน์ของบริษัทเป็นอันดับสุดท้าย เป็น CP Values Corporate Social Responsibility ที่ทุกบริษัท ทุกคนยึดมั่น”

การลงทุนของเครือซีพีในเวียดนามเป็นทั้ง Farm จนถึง Food มีพนักงานทั้งหมด 16,000 คน เป็นคนไทย 200 คน มีโรงงานอาหารสัตว์ 8 แห่ง กำลังการผลิต 3,460,000 ตันต่อปี โรงงานอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 แห่ง ฟาร์มสัตว์บกและสัตว์น้ำ 4,000 ฟาร์มทั่วประเทศ ซึ่งสร้างให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละที่ ซึ่งแตกต่างกัน โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์บก 2 แห่งที่ฮานอยและด่องไน โรงงานแปรรูปกุ้งแช่แข็งที่เมืองเว้กับจังหวัดด่องไน และโรงงานแปรรูปปลาแพนกาเซียดอร์รี่ที่จังหวัดเบ๊ยแจ

มีธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารซีพี ซุ้มไก่ย่างห้าดาว ร้านซีพีเฟรชมาร์ท และร้านซีพีช็อปในชุมชน ส่งเสริมให้เกษตรกรเวียดนามมีรายได้ คุณภาพมาตรฐานปลอดภัย”

การเข้ามาลงทุนในเวียดนามนับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศเปิดประตูการค้า ใช้นโยบายโด๋ยเม่ย พ.ศ.2529 พ.ศ.2531 รัฐบาลเวียดนามชวนซีพีไทยมาลงทุน พ.ศ.2536 ได้รับหนังสืออนุมัติให้ลงทุน พ.ศ.2539 จึงลงทุนตั้งโรงงาน ขยายกิจการต่อมาเรื่อยๆ ถึงปี 2552 รวบรวมบริษัทในเครือในเวียดนามทั้งหมดมาเป็น CP Vietnam Corporation (CPVC) พ.ศ.2554 นำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดขายประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

“บริษัทไม่ได้มุ่งแต่ทำธุรกิจเพื่อกำไรอย่างเดียว แต่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมควบคู่กันไปด้วยตลอด มีหน่วยงานคือ CP Vietnam Human Resource Development รับผิดชอบ ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรของเวียดนามทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ คัดเลือกมาทำงานในบริษัท มีหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานจนถึงระดับผู้บริหาร และส่งไปอบรมต่างประเทศ เช่น เยอรมนี รวมถึงประเทศไทย”

“ให้ความสำคัญกับสังคม จัดกิจกรรมรณรงค์การบริจาคเลือด ใส่เสื้อสีชมพูเดินจากทางตอนใต้มาถึงตอนเหนือ ช่วยเหลือชาวบ้านประสบภัยธรรมชาติ ร่วมกับสมาคมแพทย์ เยาวชน จัดรถพยาบาลลอกต้อ ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ สร้างบ้านให้คนจน ให้ทุกนักเรียน นักศึกษา”

“ในสายตาของรัฐบาลเวียดนามมองเราเป็นบริษัทของเวียดนาม ของประเทศเขา เพราะเราไม่ได้มุ่งแต่ธุรกิจ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษา สถาบันฝึกอบรม ดูงาน รับนักเรียนจากโรงเรียนฝึกสัตวบาลมาฝึกงานในฟาร์ม ร่วมกับนักเรียนของเราเอง เราขาด เราต้องการพัฒนาอะไรขอให้มหาวิทยาลัยมาสอน เช่น สาขาสัตวบาล เรื่องห่วงโซ่อาหาร ผลิตอาหารสัตว์ ให้สัตว์บริโภค แต่สุดท้ายคนก็บริโภคสัตว์ ฉะนั้น ต้องดูแลสุขภาพคน แรงงานของเราให้มาก”

“หลังเปิดประชาคมอาเซียนแล้วแนวโน้มการแข่งขันเป็นอย่างไรบ้างครับ” หัวหน้าคณะผู้มาเยือนยิงคำถามแรก

“เราใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน ขณะที่แรงงานในเวียดนามยังถูกกว่า ประชากรมีมากกว่า แต่ราคาไก่เนื้อสูงกว่าบ้านเรา ยังไปได้ดี ในอนาคตซีพีเอฟอาจเข้าตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม”

ฟังคำตอบกับสิ่งที่ได้รับรู้ เห็นของจริงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรอุตสาหกรรม ที่ก้าวเข้ามาลงทุนก่อนกลุ่มธุรกิจอื่นๆ จากเมืองไทยแล้ว เชื่อว่าซีพีจะสามารถปรับตัวเองได้ แม้จะได้รับผลกระทบ เกิดอุปสรรคจากการเปิดเสรีทางการค้าและมุ่งลดภาษีนำเข้า จากการที่เวียดนามลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ก็ตาม แต่เป็นผลดีในแง่การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนการผลิตอาจลดลง

“แล้วคู่แข่งล่ะเป็นใครบ้าง”

“คาร์กิลล์จากสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ซีพีเป็นอันดับหนึ่งทางเทคโนโลยี โรงงานทันสมัยที่สุดในโลก ในฮานอยทันสมัยกว่าในเมืองไทย”

“ซีพีออลล์ เซเว่นอีเลฟเว่น ธุรกิจค้าปลีกจะตามเข้ามาไหม” คำถามใหม่ดังขึ้น

“ค้าปลีกจริงๆ แล้วรัฐบาลเวียดนามไม่ปิดกั้น อยู่ที่เราลงทุนแล้วไม่เอาเปรียบเขาก็โอเค”

คำถามต่อกำลังจะตามมา แต่ผู้ประสานงานส่งสัญญาณหมดเวลา เพราะต้องไปต่อ เวลาเย็นมากแล้ว เกรงถึงที่หมายดึก

เป็นเช่นนั้นจริงๆ หลังจาก คุณวิรัช บัวแย้ม ผู้จัดการโรงงาน คนพิษณุโลกมาประจำที่เวียดนามกว่า 7 ปีแล้ว พาชมของจริงตั้งแต่ห้องควบคุมจนถึงโกดังเก็บอาหารสัตว์ สำเร็จรูปใส่กระสอบสูงท่วมหัว กองกระจายเต็ม รอระบายออกขนส่งไปตามแหล่งต่างๆ

ออกจากโรงงานซีพีต่อไปฮาลอง จังหวัดกว่างนิงห์ เขตติดต่อชายแดนจีน มืดพอดี เวลาเหลือเล็กน้อยไปย่ำตลาดเปิดใหม่ได้ไม่นานได้ยินเสียงคนไทยหลายกลุ่มต่อรองราคากันสนุกสนาน

แม่ค้าขายกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อคลิปลิงก์ (Kipling) น้องลิงน้อยเมดอินเวียดนามละม้ายของแท้จากเบลเยียมและจีนผลิตส่งไปขายที่อเมริกา นักช็อปไทยไปเวียดนามชอบซื้อมาถือโชว์ เลยได้เงินจากคณะนี้ไม่จุใจด้วยความเสียดาย

แต่บางรายก็หอบจนกระเป๋าตุง