ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
การส่งตัวอุยกูร์กลับประเทศจีน
กับผลกระทบทางการเมือง
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ทุกท่าน
จากกรณีรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คนกลับประเทศจีน
แม้รัฐบาลจะแถลงว่าด้วยความสมัครใจ แต่การที่รัฐบาลส่งตัวกลับโดยไม่เปิดเผย ไม่เปิดโอกาสให้สังคมตรวจสอบ และไม่เปิดโอกาสให้ชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน แถลงความต้องการต่อสาธารณะ
ไม่เพียงแต่ทำให้พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่โดนกระหน่ำ แต่สำหรับชายแดนใต้แล้ว “พรรคประชาชาติ” การส่งตัวอุยกูร์กับประเทศจีนได้ส่งผลคะแนนนิยม ต่อ “พรรคประชาชาติ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เหมือนหลังคดีตากใบหมดอายุความก่อนหน้านี้ก็เคยโดนมาแล้ว
ด้วยเหตุผลที่พรรคประชาชาติมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติที่ได้เสียงจากพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้ นั่งแถลงข่าว แก้ต่างให้กับรัฐบาลร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดังนั้น การส่งตัวอุยกูร์กลับประเทศจีนส่งผลคะแนนนิยม ต่อ “พรรคประชาชาติ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าเราติดตามในโลกโซเซียล จะเห็นได้ว่า ทัวร์ส่วนใหญ่กลับไปลงที่พรรคประชาชาติ แม้จากคนที่ลงคะแนนเสียง เคยเชียร์พรรคนี้อย่างออกหน้าออกตามาก่อนก็ตาม
ดร.ขดดะรี บินเซ็น นายกสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ซึ่งใกล้ชิดพรรคประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เรื่องการส่งชาวอุยกูร์ 48 คนกลับประเทศจีน เพื่อความโปร่งใส และธรรมาภิบาล
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อาจละเมิดอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยมีพันธกรณีที่จะต้องเคารพหลักการไม่ส่งกลับ อันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามประเทศต่างๆ ไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหาร การทรมาน หรือการปฏิบัติที่เลวร้ายอย่างร้ายแรงอื่นๆ การคุกคามเอาชีวิต หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงแบบเดียวกัน
หลักการไม่ส่งกลับเป็นข้อห้ามตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ รวมทั้งเป็นหลักการตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
และเป็นข้อห้ามที่เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 ของประเทศไทย
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์อิสมาแอน หมัดอะด้ำ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำนักจุฬาราชมนตรีต่อเรื่องนี้ โดยท่านกล่าวว่า การที่รัฐบาลแถลงว่า พวกอุยกูร์กลับเป็นความสมัครใจ แต่ก่อนหน้านี้เราเห็นพฤติกรรมของชาวอุยกูร์ที่ประท้วงอดอาหาร เป็นสัญญาณชัดเจนในเชิงพฤตินัยว่าเขาไม่ต้องการจะกลับไปจีน แล้วคนเหล่านี้จะเปลี่ยนการตัดสินใจของเขา เป็นไปไม่ได้ เราให้เขาทำเอกสาร จนทำให้เขาไม่สบายใจ
อาจารย์อิสมาแอนกล่าวอีกว่า ตนเองได้รับการทาบทามไปไกล่เกลี่ยให้อุยกูร์กลับมารับประทานอาหาร แต่เห็นว่าถ้าไปไกล่เกลี่ยให้รับประทานอาหาร และส่งกลับไปจีน จะเป็นตราบาป ที่ทำอย่างนั้น เขาเรียกร้องมาตลอด 11 ปี ว่าต้องการไปประเทศที่ 3 คนที่ไปเจรจาเหมือนหักหลังเขา ตนเองจึงตัดสินใจถูกที่ไม่ไปไกล่เกลี่ยในเรื่องรับประทานอาหาร และขอให้จับตาว่าชีวิตของ 40 คนหลังจากนี้ที่กลับจีนไปแล้วจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม อาจารย์อิสมาแอนฝากถึงพี่น้องมุสลิมให้มีสติ ไม่ใช้อารมณ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ ด้อยค่าคนอื่นๆ ในเรื่องนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022