ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
‘ไฟใต้ดับ’
: แถลงการณ์หนึ่งเดียวเพื่อสันติภาพ
Solidarity for Peace, Bersatu untuk Damai (1)
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมไปร่วมวงเสวนาเรื่อง “ทางแพร่งของการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี : ถอดบทเรียนสันติภาพสากลหรือสันติภาพแบบไทย (66/23)” ในโอกาสครบรอบ 21 ปีของสถานการณ์ความขัดแย้ง และ 12 ปีของกระบวนการเจราสันติภาพ
ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ 44 องค์กรจึงได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ “หนึ่งเดียวเพื่อสันติภาพ” Solidarity for Peace หรือ Bersatu untuk Damai
“เพื่อแสดงพลังร่วมกันนำเสนอทิศทางการสร้างสันติภาพที่ประชาชนต้องการ และให้ภาครัฐบาลได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ นำพากระบวนการสันติภาพนี้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่ทุกฝ่ายมีทางออกในการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”
การประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มภาคประชาสังคมชายแดนใต้ทั้งหมดในวาระที่เรียกว่า “หนึ่งเดียวเพื่อสันติภาพ” เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพื้นที่ ที่องค์กรภาคประชาสังคมอันหลากหลาย ทั้งกลุ่มมลายูมุสลิม ไทยพุทธ สตรี ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้พิการ รวมถึงเยาวชน ซึ่งครอบคลุมทัศนคติและความเห็นทางสังคมและการเมืองที่เหมือนและต่างกัน เข้ามาด้วยกันในการเสนอทางออกให้แก่รัฐบาลในการผลักดันการเจรจาสันติภาพให้เกิดผลที่ดีที่สุดแก่ทุกภาคส่วนและทุกคนในพื้นที่
โดยไม่คาดฝัน ไฟฟ้าในห้องประชุมก็ดับลงหลังจากประกาศแถลงการณ์เสร็จ รายการเสวนาต้องรอไฟฟ้าที่ดับอีกนานเป็นชั่วโมง จนกลายเป็นวลีที่ดังว่อนไปทั่วห้องว่า “ไฟใต้ดับแล้ว”
ผมพูดเป็นคนแรกเพื่อปูทางให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของปาตานีในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ ว่าการเจรจาระหว่างผู้แทนภาคประชาสังคมกับผู้แทนภาครัฐได้เคยกระทำมาก่อนแล้ว กระบวนการเจรจาปัจจุบันนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก หากแต่เป็นครั้งที่สอง
ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันผมเสนอว่าเราควรเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีตเพื่อนำมาใช้ในปัจจุบันอย่างรู้เท่าทัน
ดังที่ผมเคยเขียนไว้คราวที่แล้วว่า ประวัติศาสตร์นั้นที่สำคัญคือ “การสนทนาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน” เหตุการณ์ของการเจรจาครั้งแรกเป็นมาอย่างไรและยุติลงด้วยผลลัพธ์อย่างไร บทเรียนในอดีตคืออะไร
การเจราจาครั้งแรกระหว่างภาครัฐกับประชาสังคมเกิดขึ้นเนื่องจากมีความรุนแรงและการกระทำจากฝ่ายทางการต่อชาวบ้านมุสลิมหลายครั้ง ในปี 2487
เติงกูยะลานาแซร์ บุตรชายของอดีตรายาแห่งเมืองสายบุรี ซึ่งมีชื่อไทยว่า อดุลย์ ณ สายบุรี เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประท้วงการปฏิบัติอันไม่ชอบของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งสร้างปัญหาและความลำบากทางเศรษฐกิจและความไม่พอใจทางศาสนาแก่คนท้องถิ่น
หลังจากมีการพิจารณาปัญหาคำร้องเรียนหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลให้คำตอบมาว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องในการใช้นโยบายการผสมกลมกลืนทางศาสนาและวัฒนธรรม ดังคำตอบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า “การปฏิบัติงานของข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีนั้นเป็นการสมควร และไม่ได้กระทำการอันที่จะทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่”
จากนั้นเขาตัดสินใจออกจากไทยไปพำนักในกลันตันและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเติงกูมะห์หมุดมะห์ยิดดินในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมของคนมลายูมุสลิมต่อไป
หลังจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งเพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา นายควง อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากพลังการเมืองฝ่ายเสรีไทยที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
การเมืองระยะก่อนยุติสงครามมหาเอเชียและหลังจากนั้นแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง นั่นคือมีการเคลื่อนไหวของแกนนำและกลุ่มประชาสังคมจากภูมิภาคมากมาย ที่ได้รับการหนุนช่วยจากขบวนการเสรีไทยดำเนินการจัดตั้งเพื่อต่อสู้ญี่ปุ่น
กล่าวได้ว่าเป็นระยะแรกที่พลังประชาสังคมสามารถก้าวขึ้นมาเคลื่อนไหวได้ ฐานะของนายปรีดีขณะนั้นคือตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามและนายควง
ในช่วงนี้เองที่นโยบายฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์อันดีเสียใหม่กับคนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกประกาศออกมา แทนที่นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ที่สำคัญคือการประกาศพระรากฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488 ในวันที่ 8 พฤษภาคม พร้อมกับการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีอีกวาระหนึ่ง หลังจากตำแหน่งนี้ว่างมาหลายปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้คือนายแช่ม พรหมยงค์ เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่คนแรก เขาเป็นข้าราชการสังกัดกรมโฆษณาการ (ต่อมาคือกรมประชาสัมพันธ์) และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกรุ่นก่อการของคณะราษฎรด้วย
หลังจากลัทธิชาตินิยมไทยแบบทางการลดระดับลงไป และรัฐบาลหันมาส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายศาสนาอิสลามดังแต่ก่อน มีการยอมให้คนมุสลิมหยุดวันศุกร์ดังเดิม ตลอดไปถึงการปฏิบัติทางศาสนาและภาษา
ใน พ.ร.ก.ศาสนูปถัมภ์อิสลามนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วย บรรดากลุ่มมุสลิมก็ก่อตั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเฉพาะสี่จังหวัดภาคใต้ขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ฮัจญีสุหลงและผู้นำมุสลิมได้ก่อตั้งองค์กรมุสลิมขึ้นในปัตตานี หลังจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศนโยบายรัฐนิยม
องค์กรที่ว่านี้คือองค์กรผู้อุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม หรือ อัล ฮัยอะห์ อัล-ตันฟีซียะห์ ลี อัล-อะห์กาม อัล-ชาร์อียะห์ โดยมีจุดหมาย “เพื่อรวมพลังบรรดาผู้นำศาสนาที่ปัตตานีในการพยายามสกัดกั้นการคุกคามของรัฐบาลไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคนมลายูให้เป็นคนสยาม พร้อมพิทักษ์ปกป้องความบริสุทธิ์ของศาสนาจากการแทรกแซงโดยความฝันไทยนิยม”
องค์กรดังกล่าวนี้ตั้งขึ้นราวปี 2482 ประเด็นขัดแย้งในเรื่องดะโต๊ะยุติธรรมและศาลศาสนาเป็นความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่งระหว่างผู้นำมุสลิมกับรัฐบาลไทย และก็สร้างความขัดแย้งกันเองระหว่างผู้นำมุสลิมในภาคใต้ด้วย
ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อของฮัจญีสุหลงกลายเป็นผู้นำมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลมากเป็นพิเศษ
ความไม่ไว้ใจและสงสัยในทรรศนะทางการเมืองแบบมุสลิมทำให้รัฐไทยต้องใช้วิธีการสอดส่องและสายลับเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมหัวการเมืองใหม่ดังกล่าว
นี่คือที่มาหนึ่งของการสร้างอคติทางการเมืองให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่อคนมลายูมุสลิมว่ามีการกระทำอันไม่เป็นผลดีต่อรัฐ
การเคลื่อนไหวของอังกฤษกับเติงกูมะห์ยิดดินและเติงกูยะลานาแซร์ มาถึงฮัจญีสุหลง ถูกรายงานให้รัฐบาลสมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ
“แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดการอะไร นอกจากสั่งการให้จังหวัดต่างๆ ในสี่จังหวัดภาคใต้จัดสายลับติดตามพฤติการณ์ของผู้นำศาสนาอิสลามต่อไป”
รัฐบาลภายใต้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มการเจรจาและนำผู้นำการเมืองมลายูมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของนโยบายสมานฉันท์ทางศาสนาและหวังว่าในที่สุดจะนำไปสู่การร่วมมือกันในปัญหาการเมือง
ในวันที่ 20 มีนาคม 2490 รัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้ตั้ง “กรรมการสอดส่องภาวการณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้” เป็นชุดแรกที่ลงไปรับฟังคำร้องเรียนและปัญหาของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2490
เมื่อบรรดาผู้นำมุสลิมทราบข่าวจึงได้มีการประชุมปรึกษากันอย่างเร่งด่วนในวันที่ 1 เมษายน ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อร่างข้อเสนอในปัญหาต่างๆ อันรวมถึงการปกครองทางการเมือง สิทธิและศาสนกิจของชาวมุสลิมแก่ผู้แทนรัฐบาลต่อไป ในการประชุมเจรจากันระหว่างคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯ กับผู้นำอิสลาม
นำไปสู่การเกิดสิ่งที่รู้จักกันต่อมาว่า “คำร้องขอ 7 ประการ” ดังต่อไปนี้
1) ให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดของปาตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล โดยเฉพาะให้มีอำนาจในการปลด ยับยั้งหรือแทนที่ข้าราชการรัฐบาลทั้งหมดได้ บุคคลผู้นี้ควรเป็นผู้ที่เกิดในท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของสี่จังหวัดและได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง
2) ให้ร้อยละ 80 ของข้าราชการในสี่จังหวัดเป็นผู้นับถือศาสนามุสลิม
3) ให้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
4) ให้ภาษามลายูเป็นภาษาสำหรับใช้ในการเรียนและสอนในโรงเรียนประถม
5) ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลมุสลิมที่แยกต่างหากจากศาลแพ่ง ซึ่งกอฎีนั่งร่วมในฐานะผู้ประเมินด้วย
6) รายได้และภาษีทั้งหมดที่ได้จากสี่จังหวัดให้นำไปใช้ในสี่จังหวัดทั้งหมด
7) ให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสลามที่มีอำนาจเต็มในการกำหนดกิจการมุสลิมทั้งปวง ภายใต้อำนาจสูงสุดของผู้ปกครองรัฐตามระบุในข้อ 1
ในการประชุม คณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯ ปรึกษากับฮัจญีสุหลงในคำร้องขอดังกล่าว ว่าข้อไหนจะรับได้และข้อไหนคงรับไม่ได้
ข้อที่ฝ่ายรัฐบาลคิดว่าคงให้ได้มากที่สุดคือว่าด้วยเสรีภาพในทางศาสนา และยอมรับว่าชาวมุสลิมในประเทศไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาติไทยได้ในฐานะที่เป็น “ไทยมุสลิม”
แต่รัฐบาลไม่อาจรับข้อเรียกร้องในการที่ชนชาติหนึ่งชาติใดสามารถจะเรียกร้องให้มีการปกครองที่เป็นสิทธิอิสระหรือเป็นการปกครองของตนเองบนพื้นฐานของการมีอัตลักษณ์อันเป็นเฉพาะของตนเองได้
การยอมรับหลักการดังกล่าวจะนำไปสู่การบ่อนทำลายความเชื่ออันเป็นหัวใจว่าชาติไทยไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยวางอยู่บนหลักของชาติ ศาสนา (พุทธ) และพระมหากษัตริย์
นายกรัฐมนตรีหลวงธำรงฯ นำเรื่องคำร้องขอ 7 ประการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2490 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติว่า กล่าวโดยรวมแล้วคำร้องขอ 7 ประการไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากว่า “รูปการปกครองเวลานี้ดีแล้ว ถ้าจะจัดเป็นรูปมณฑลไม่สมควรเพราะจะเป็นการแบ่งแยก…”
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาหาทางออกให้แก่ปัญหาของมุสลิมภาคใต้ เช่น การปกครองให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณารูปแบบนโยบายการปกครองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้สิทธิแก่นักเรียนมลายูมุสลิมเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในเหล่าทหารและตำรวจได้ โดยให้อยู่ในการพิจารณาของรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทย
การปิดสถานที่ราชการในวันศุกร์นั้นไม่ขัดข้อง
ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยังขาดเงินในการพัฒนาและซ่อมแซมถนนหนทาง
ส่วนด้านศาสนาและวัฒนธรรมยินดีให้ตามประเพณีมุสลิม แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งมีโครงการจะสร้าง “สุเหร่าหลวง” ประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งจะต้องรอมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณดังกล่าวในปี 2491
ด้านการศาลกำลังแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมจังหวัดละ 2 คน แต่ไม่มีความเห็นให้แยกศาลศาสนาตามที่ผู้นำอิสลามในสี่จังหวัดได้ร้องขอ
ด้านการศึกษาจะให้มีการสอนภาษามลายูตามที่ผู้นำมุสลิมร้องขอ
ส่วนข้อที่ขอให้มีข้าราชการมุสลิมถึงร้อยละ 80 นั้นเป็นไปไม่ได้ในเวลานั้น เพราะชาวมลายูมุสลิมส่วนมากขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จะหาทางเพิ่มทางอื่นต่อไป
สุดท้ายด้านการสื่อสารมวลชนรัฐบาลมอบหมายให้กรมโฆษณาการรับไปพิจารณาจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายูเพื่อแถลงข่าวการเมืองที่ควรรู้ตลอดจนรายการดนตรี นอกจากนั้น จะจัดพิมพ์หนังสือภาษามลายูส่งไปเผยแพร่เป็นครั้งคราว
นโยบายและข้อเสนอแนะมากมายของรัฐบาลหลวงธำรงฯข้างต้นนั้น ไม่มีโอกาสนำไปปฏิบัติด้วยข้อจำกัดของระบบราชการเอง ที่ต้องปรับทัศนคติและอคติใหม่
แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดคือการแทรกแซงระบบการเมืองโดยกองทัพที่ทำให้นโยบายสมานฉันท์ไม่อาจดำเนินไปได้
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ภายใต้การนำของกองทัพบกเป็นครั้งแรกและสถาปนาเป็นอำนาจนำมาอีกหลายทศวรรษเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นสันติภาพที่ทรงพลังที่สุด
บทเรียนแรกคือสิ่งที่เรียกว่า “การทหารนำการเมือง” ซึ่งก่อรูปขึ้นมาทีละนิด (ยังมีต่อ)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022